27 พ.ค. 2023 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน

บ้านพื้นถิ่นไทยที่เพิ่มมุมมองอบอุ่นนุ่มนวลด้วยงานไม้เก่า

เรื่องราวของบ้านหลังนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ คุณหนึ่ง-ดิษฐวัฒน์ และคุณจิ-ศุภาวีร์ เตียพิบูลย์ แต่งงานกัน พื้นที่ในทาวน์เฮ้าส์หลังเดิมจึงเริ่มไม่สามารถรองรับการอยู่แบบครอบครัวขยายในอนาคตได้
“เราอยากได้บ้านที่อยู่กับแม่และน้องสาวอีก 2 คนได้ด้วย ลองไปดูบ้านจัดสรรหลายที่ก็ไม่มีสเปซที่เพียงพอ จนมาเจอที่ดินเปล่าตรงนี้ขนาดราว 237 ตารางวา อยู่ในหมู่บ้านซึ่งออกแบบให้มีร่องน้ำไหลผ่าน พอเห็นแล้วก็ชอบเลย ตอนแรกเราไม่ได้คิดถึงรูปแบบบ้านเลยว่าจะเป็นอย่างไร ก็ลองเริ่มคุยกับสถาปนิกหลายคนจนมาเจอกับ คุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ จาก Studio Miti และก็รวบรวมข้อมูลของตัวเองไปให้ว่ามีอะไรบ้างที่ชอบและอะไรบ้างที่ไม่ชอบ อย่างตอนนั้นบอกเลยว่าไม่เอาบ้านอิฐนะ เพราะไม่ชอบแนวลอฟต์เท่าไร”
คุณเติ้ล พูดถึงการออกแบบบ้านหลังนี้ว่า “ราวกับคนสองคนกำลังค้นหาอะไรบางอย่างเหมือนๆ กัน คุณหนึ่งกำลังหาบ้านในน้ำหนักของตัวเอง ผมก็กำลังค้นหาแนวทางทำงานของตัวเอง และผมเข้าใจความรู้สึกของพี่คนโตที่ต้องการดูแลครอบครัวอย่างมากเพราะผมเองก็เป็นพี่คนโต
"พอมาเห็นที่ดินแล้วผมจึงเริ่มวางผังบ้านจากวิวที่อยากได้คือพื้นที่ริมน้ำ โดยให้บ้านส่วนของคุณหนึ่งและคุณจิเป็นบ้าน 2 ชั้นที่อยู่ริมน้ำด้านล่าง ส่วนบ้านคุณแม่เป็นบ้านชั้นเดียวยกใต้ถุนตั้งอยู่บนเนินมองเห็นวิวสวนกลางบ้าน มีฟังก์ชันของครัว ห้องพระ และพื้นที่พักผ่อนของตัวเอง แล้วเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและฟังก์ชันของห้องรับประทานอาหารส่วนกลาง
“บ้านจึงออกมาเหมือนตัวยู (U) ภายใต้พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 550 ตารางเมตร ล้อมคอร์ตต้นไม้กลางบ้านซึ่งเปิดรับแสงจากทิศเหนือ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัวทั้งความเย็นจากน้ำที่อยู่ใกล้บ้าน ช่องเปิดรับลมในรูปแบบของระแนงไม้ ฉากไม้โปร่ง รวมถึงการยกใต้ถุนบ้านชั้นบนของคุณแม่ให้สูงจากพื้นเพื่อไม่ปิดกั้นลมที่จะหมุนเวียนมาถึงบ้านด้านล่าง
"พร้อมกับเรียงฟังก์ชันของห้องต่างๆ ให้เหลื่อมมุมมองเพื่อไม่มาบดบังกันเอง มีระยะห่างที่พอดีสำหรับความเป็นส่วนตัวของครอบครัวคุณแม่กับครอบครัวคุณหนึ่ง มีช่องเปิด-ปิดที่ทำให้เห็นกันในเวลาที่เหมาะสม ช่วยให้ความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้น ด้วยระยะการใช้ชีวิตที่พอดีนี้ทำให้บ้านดูละเมียดละไมขึ้นมา”
ไม้ เป็นวัสดุหลักที่คุณเติ้ลแนะนำเจ้าของบ้าน โดยใช้เป็นองค์ประกอบทั้งในส่วนของฟังก์ชัน ดีไซน์ตกแต่ง รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด
“ผมเห็นความสบายๆ แบบธรรมชาติในตัวเจ้าของบ้านและเชื่อว่าวัสดุธรรมชาติมีความสวยอยู่ในตัวเอง เราแค่หามุมมองให้เจอแล้วปล่อยให้วัสดุทำหน้าที่ของตัวเอง ปล่อยให้สร้างความงามไปตามธรรมชาติของเนื้อไม้ ไม่ต้องเนี้ยบมาก บางมุมปล่อยให้ตากแดดตากฝนหรือมีร่องรอยของกาลเวลา ผมว่ามีเสน่ห์ดี ที่จริงผมแค่ออกแบบสัดส่วนของการใช้ไม้ แต่คุณหนึ่งเป็นคนที่ตระเวนไปคัดสรรไม้ทุกชิ้นของบ้านจนทำให้ทุกอย่างบนงานออกแบบเกิดขึ้นได้จริง”
“ตั้งแต่มาอยู่บ้านนี้ เรามองเห็นทั้งต้นไม้ที่ผลัดใบเปลี่ยนและออกดอกตามฤดู เห็นความเคลื่อนไหวของแสงเงาธรรมชาติที่ทำให้รู้สึกสดชื่นเวลาตื่นนอนในตอนเช้า โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว แสงแดดที่เข้าบ้านจะยิ่งดูสวยมาก ได้ยินเสียงนกร้องใกล้ๆ และบางทีก็บินเข้ามาอยู่ในบ้าน เปียกไปกับสายฝนในบางเวลา ได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และเป็นความสวยงามที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละวัน”
เดิมที่เจ้าของตั้งชื่อบ้านนี้ไว้ว่า Scene House ที่หมายถึงบ้านที่มีมุมสวยๆ ให้มอง แต่คุณเติ้ลเข้าใจว่า Seen House เพราะเห็นภาพความงามของบ้านที่เคลื่อนไหวอยู่ในแต่ละมิติของแสงเงาที่แตกต่างกัน และนั่นทำให้ Seen House กลายเป็นชื่อบ้านที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในความหมายจริงแท้ในที่สุด
เจ้าของ : คุณดิษฐวัฒน์ – คุณศุภาวีร์ เตียพิบูลย์สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> www.baanlaesuan.com/291542/houses/thai-wood-house
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : Suntreeya
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา