Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted investor
•
ติดตาม
24 พ.ค. 2023 เวลา 08:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand)
“30 เรื่องจริงน่ารู้ ในชีวิตส่วนตัวและการลงทุน” : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“30 Fun Facts About Dr.Niwes Hemvachiravarakorn.”
🟢1. “เหงียน แซ่หว่อง” คือชื่อที่ปรากฏตามสูติบัตรของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งชื่อ “นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เขามาเปลี่ยนเองในภายหลังเมื่ออายุประมาณ 17 ปี (ให้พี่ผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วดำเนินการ) เขาเขียนนามสกุลยื่นต่ออำเภอ 5 นามสกุล และเจ้าหน้าที่เลือก “เหมวชิรวรากร” ด้วยเหตุผลเพราะว่ามันยาวดี คงยากที่จะซ้ำกับคนอื่น ไม่ต้องไปนั่งตรวจสอบให้เสียเวลา ส่วนชื่อ “นิเวศน์” ก็ตั้งไปเฉยๆ สมัยก่อนชื่อนี้มันเท่ดี
🟢2. บ้านพ่อแม่ที่ ดร.นิเวศน์ อาศัยอยู่ในวัยเด็ก เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว หลังคามุงจาก พื้นเป็นดิน และไม่มีไฟฟ้า ตั้งอยู่ในสลัมตรอกแสงจันทร์ (ซอยเจริญกรุง 67 เขตสาทร กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน)
🟢3. พ่อและแม่ของ ดร.นิเวศน์ เป็นชาวจีนอพยพ หนีความยากจนมาจากมณฑลกวางตุ้ง ไม่มีทรัพย์สมบัติ เข้ามาประกอบอาชีพเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ในประเทศไทย ใช้ชีวิตแบบหาเช้า กินค่ำ
🟢4. ดร.นิเวศน์ มีพี่น้อง 3 คน เขาเป็นลูกคนสุดท้อง พี่ชายและพี่สาวของเขาเป็นคนงานก่อสร้างเช่นกัน ในช่วงวัยเด็ก เขาอยากเป็นคนไทยเสมอ เพราะสมัยก่อนคนจีนมักจะถูกเหยียดเรื่องเชื้อชาติ
🟢5. วันเกิดที่ระบุในบัตรประชาชนของ ดร.นิเวศน์ ไม่ใช่วันเกิดที่แท้จริง เหตุเพราะแม่แจ้งเกิดเขาช้ากว่าความเป็นจริงไปประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้คนในยุคสมัยนั้น เพราะการเดินทางอันยากลำบาก และระบบราชการที่ซับซ้อน แต่ถึงอย่างไรเขาก็ไม่รู้วันเกิดที่แท้จริงของตนเองอยู่ดี เพราะแม่บอกข้อมูลกับเขาเป็นวันแบบจันทรคติ อีกทั้งยังเป็นภาษาจีน ซึ่งฟังไม่รู้เรื่อง แถมวันยังไม่เคยตรงกันสักปีเดียว
🟢6. ดร.นิเวศน์ คิดว่าเขายังไม่ค่อยได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่สักเท่าไหร่ “เพราะพวกเขาตายก่อนผมจะรวย”
🟢7. ดร.นิเวศน์ ไม่ค่อยได้พูดคุยกับพ่อแม่ในเรื่องที่ลึกซึ้งเกินไปกว่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ “เพราะพวกเขาไม่ค่อยรู้ภาษาไทย และผมก็ไม่ค่อยรู้ภาษาจีน”
🟢8. สมัยประถม ดร.นิเวศน์ ศึกษาที่โรงเรียนวัดดอน ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ “ป่าช้าวัดดอน” ระหว่างนั่งเรียนเมื่อชะเง้อคอมองออกไปนอกหน้าต่างก็จะเห็นหลุมศพไม่มีญาติเรียงรายอยู่มากมาย เด็กซนๆ ก็ไปเก็บเอาหัวกะโหลกจากหลุมศพเก่าๆมาเล่น ไม่มีใครสนใจห้ามปรามกัน นี่คือชีวิตประจำวันในวัยเยาว์
🟢9. รศ.ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา คือเพื่อนสนิทของเขาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
🟢10. ดร.นิเวศน์ เรียนต่อปริญญาโทที่นิด้า (NIDA) ตามคำชักชวนของ ดร.ไพบูลย์ และต่อมาเขายังมีโอกาสได้เดินทางไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาก็เพราะความช่วยเหลือจาก ดร.ไพบูลย์ อีกเช่นกัน โดยวิธีการโน้มน้าวอาจารย์ที่ปรึกษาในขณะนั้น (ดร.ไพบูลย์ เป็นรุ่นพี่เดินทางไปเรียนปริญญาเอกอยู่ที่อเมริกาก่อนหน้านั้นแล้ว) ให้มอบทุนการศึกษาแก่ ดร.นิเวศน์ โดยให้เหตุผลว่าเขา “เก่งแต่จน” ซึ่ง ดร.นิเวศน์ ต้องสอบวัดระดับภาษาอังกฤษถึง 2 ครั้งถึงจะผ่านเกณฑ์ เกือบไม่ได้ไปเรียน (ทุนผู้ช่วยอาจารย์ : TA)
🟢11. ดร.นิเวศน์ เรียนปริญญาเอกและเป็นผู้ช่วยสอนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ประมาณ 4 ปี อันที่จริงแล้วเขามีความฝันอยากสมัครงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่มีอุปสรรคด้านภาษา เขาไม่เก่งภาษาอังกฤษ ตอนที่ทำงานช่วยสอน นักศึกษาก็บ่นเพราะฟังเขาพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงต้องล้มเลิกความตั้งใจ เมื่อเรียนจบก็เก็บกระเป๋าบินกลับประเทศไทย
🟢12. ดร.นิเวศน์ พบภรรยาครั้งแรกในสนามบินที่สหรัฐอเมริกา ภรรยามาเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งเขาเดินทางไปรับในฐานะรุ่นพี่นักศึกษาคนไทย จีบกันอยู่ที่เมืองนอก ไม่ใช่เมืองไทย
🟢13. เมื่อครอบครัวฝ่ายหญิงทราบเรื่องการคบหากัน ก็ถึงขนาดส่งคนไปสังเกตการณ์ที่บ้านพ่อแม่ของเขาในเมืองไทย ถึงกับตะลึงในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ลูกเขาชอบเราไปเสียแล้ว
🟢14. ดร.นิเวศน์ แต่งงานกับภรรยาภายหลังจากที่เดินทางกลับมาประเทศไทยประมาณ 6-7 เดือน โดยมีเพียงแหวนแต่งงานวงเดียวมอบให้กับเจ้าสาว (ของมันต้องมี) เพราะเขาไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเลย หลังจากแต่งงาน ดร.นิเวศน์ ก็ย้ายมาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยายฝั่งภรรยา ณ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ
🟢15. ดร.นิเวศน์ ตกงานเป็นครั้งแรกในวัย 44 ปี แบบไม่ทันตั้งตัว ในปี พ.ศ. 2540 (วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) เขาทำงานอยู่ในสถาบันการเงินชั้นนำระดับประเทศ ผู้บริหารและกรรมการบริษัทถูกเชิญออกทั้งหมด พนักงานทั่วไปยังอยู่รอด ซึ่งเขาเป็นทั้งผู้บริหารและกรรมการ โดนเต็มๆ เส้นทางเดินนับจากวันนี้มีชีวิตครอบครัวเป็นเดิมพัน และเขาเลือกเป็นนักลงทุนอิสระมาจนถึงปัจจุบัน
🟢16. ดร.นิเวศน์ เริ่มต้นลงทุนในหุ้นอย่างจริงจังในวัย 44 ปี กับเงินที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตการทำงาน 20 กว่าปี เขานิยามว่านี่คือเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต “10 ล้านบาท”
🟢17. ดร.นิเวศน์ เริ่มต้นลงทุนด้วยวิธีการยึดถือ “ตำราวีไอ” ที่ถูกเขียนโดย “เบนจามิน เกรแฮม” ซึ่งเขาเคยเรียนรู้มาขณะร่ำเรียนอยู่เมืองนอก เขาบุกตะลุยช้อนซื้อเก็บหุ้นไทยในห้วงเวลาที่คนไทยไม่เคยรู้จักกับหลักการลงทุนเช่นนี้มาก่อน ตลาดหุ้นกำลังพังทลายจากวิกฤติเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นไทยเทกระจาดลดลงกว่า 90% ภายในเวลาเพียง 4 ปี
เขาเชื่อว่าเงิน 10 ล้าน หากนำมาซื้อหุ้นทั้งหมด แล้วรอรับเงินปันผลสัก 10% ต่อปี เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท จ่ายค่าเทอมโรงเรียนอินเตอร์ของลูกสาว ปีละ 3 แสนบาท เหลืออีก 7 แสนบาทมันเพียงพอแน่ๆ เราประหยัดอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจเลยว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลง กิจการยังดีอยู่ เป็นเกมส์ที่ไม่มีทางแพ้
🟢18. ตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน ดร.นิเวศน์ ใช้ชื่อภรรยาเป็นผู้ถือหุ้นแทนมาโดยตลอด
🟢19. ดร.นิเวศน์ ใช้มาร์จิ้น (กู้เงินบริษัทหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มอำนาจในการซื้อหุ้น) เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต เมื่อปี ค.ศ.2008 (วิกฤติสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา) นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีพอร์ตหุ้นเป็นชื่อตนเองอย่างจริงจังครั้งแรก เหตุเพราะไม่อยากใช้ชื่อภรรยาในการกู้เงินหรือสร้างหนี้สินใดๆ
🟢20. ดร.นิเวศน์ ไม่เคยมีความคิดที่จะร่ำรวยจากการลงทุนในหุ้น ที่เขาตัดสินใจทำทุกอย่าง ณ ตอนนั้น เหตุเพราะ “ถ้าไม่ตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่าง มันจะเอาตัวไม่รอด”
🟢21. หากนับวันเวลามาจนถึงปัจจุบัน (ปี 2022) ดร.นิเวศน์ โลดแล่นอยู่ในตลาดหุ้นมาจนครบ 25 ปี เขาสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 27.30% ชนะดัชนีตลาดหุ้นไทยแบบขาดลอย มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 25 ปีที่แล้วกว่า 400 เท่า!
🟢22. ดร.นิเวศน์ เข้าลงทุนในหุ้น CPALL ตั้งแต่ราคาหุ้นละ 6 บาท (ปัจจุบันราคา 62 บาท และราคาเคยพุ่งขึ้นไปกว่า 80 บาท) ปัจจุบันก็ยังถือหุ้นอยู่ ไม่ได้ขาย เพียงแต่มีการปรับกฎเกณฑ์การแสดงรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงไม่เห็นชื่อของเขา และยังยืนยันอีกว่านี่ไม่ใช่หุ้นเปลี่ยนชีวิตของเขาในแง่ของผลตอบแทน เขาไม่ได้โชคดีขนาดที่ว่าเลือกหุ้นถูกตัวเดียวแล้วรวยได้เลย
🟢23. ดร.นิเวศน์ ตรวจสอบพอร์ตการลงทุนส่วนตัวเพียงแค่สัปดาห์ละครั้ง ในทุกเย็นวันศุกร์ และใช้เวลาไม่นาน
🟢24. ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า ในวันที่เขามีพอร์ตการลงทุนมูลค่าระดับหลักพันล้าน แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่มีใครรู้ เพราะเขามีแต่หุ้น ไม่มีทรัพย์สมบัติอื่นใดเลย บ้านไม่มี รถไม่มี กว่าลูกจะรับรู้ก็โตเป็นสาวแล้ว “อ้อ บ้านเราก็รวยเหมือนกันนี่หน่า”
🟢25. นักลงทุนนั้นเรียบง่าย ไม่วุ่นวาย แต่ไม่มีบารมี ไม่มีสถานะ ไม่มีภาพลักษณ์ ไม่มีลูกน้องมาล้อมหน้าล้อมหลัง ทุกวันนี้ไปวิ่งที่สวนสาธารณะ ไปเดินตลาด ก็ไม่มีใครสนใจ “แม้แต่แม่ค้าร้านส้มตำปากซอยรางน้ำ ที่ผมไปนั่งกินเกือบทุกเย็น เขายังไม่รู้จักผมเลย”
🟢26. มีเพื่อนที่เป็นนักการเมืองมาทาบทามให้ลงสมัครรับเลือกตั้งหลายครั้ง เขาบอกว่าหากชนะจะให้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
🟢27. ผู้คนชอบพูดถึงผมว่า มีเงินแต่ไม่ค่อยใช้ หากตายไป มรดกส่งถึงลูกหลานแล้วเขาใช้ฟุ่มเฟือยจะรู้สึกอย่างไร “มันก็เรื่องของเขา คุณต้องเข้าใจก่อนว่าพ่อผมจน ผมโตมาเช่นนี้ ส่วนลูกผม พ่อมันรวย ชีวิตเขาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นเรื่องของเขา ไม่มีทางเหมือนกัน”
🟢28. ดร.นิเวศน์ ซื้อบ้านหลังแรกของตนเอง ให้กับลูกสาวตอนที่เขากำลังจะแต่งงาน บ้านเรามันคับแคบเกินไปสำหรับสมาชิกใหม่ บ้านใหม่นั้นสวยหรู มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง บนที่ดินผืนติดกันกับบ้านหลังเดิม “แต่ผมก็นอนบ้านหลังเดิมนั่นแหล่ะ”
🟢29. ดร.นิเวศน์ ซื้อบ้านให้กับพี่ชายและพี่สาวคนละหนึ่งหลัง และช่วยเหลือด้านการเงินอย่างสม่ำเสมอในแบบที่พี่น้องสามารถให้กันได้
🟢30. “ทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งแบบคนรวยแล้ว นั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจไปเที่ยวต่างประเทศปีละหลายครั้ง ซึ่งลูกสาวเป็นคนจัดการและวางแผนทุกอย่าง สบายๆ ผมเป็นเพียงผู้ติดตามอย่างเดียว ส่วนชีวิตที่เหลือที่ไม่ต้องตามใคร ผมก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ”
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
📖ขอขอบคุณ ส่วนหนึ่งจากหนังสือ "เด็กวัดดอน : ชีวิต ความฝัน และการลงทุน"
🖋ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การเงิน
การลงทุน
หุ้น
บันทึก
4
2
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย