25 พ.ค. 2023 เวลา 03:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ

‘เล่นหุ้น’ ฉบับ 101 รวมสารพัดสิ่งที่ต้องรู้ก่อนลงทุนจริง

การลงทุน โดยเฉพาะ ‘หุ้น’ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เต็มไปด้วยข้อมูลและคำศัพท์มากมาย ไม่ว่าเป็น พีอี (PE) กำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เปอร์เซนต์ยีลด์ หรือแม้แต่ศัพท์ทางเทคนิคที่สายกราฟชอบใช้กันอย่าง ‘เบรคกรอบสะสมแล้ว’ ‘หลุดกรอบสามเหลี่ยม’ และอื่นๆ
สำหรับมือใหม่ อยากเล่นหุ้นควรเริ่มต้นอย่าง บทความนี้ TODAY Bizview จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กัน
[ ‘หุ้น’ คืออะไร เล่นอย่างไรให้ได้เงิน ]
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับพื้นฐานของคำว่า ‘หุ้น’ ซึ่งหมายถึง ‘หุ้นส่วนทางธุรกิจ’ ของบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชนให้นักลงทุนหรือผู้สนใจสามารถเข้ามาซื้อขายหุ้นดังกล่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์
แนวการเล่นหุ้นแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ นั้นก็คือ 1. สายกราฟ และ 2. สายพื้นฐาน โดย ‘สายกราฟ’ จะเป็นแนวการลงทุนที่มองกันที่ ‘รูปแบบของราคา’ ซึ่งสามารถพล็อตออกมาเป็นกราฟได้ ในขณะที่สายพื้นฐาน จะมองที่ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจของหุ้นนั้นๆ เป็นหลัก
สำหรับการทำกำไรสายกราฟ จะดูรูปแบบกราฟที่เกิดขึ้นมาประกอบการซื้อขาย และส่วนใหญ่จะทำกำไรจาก ‘ส่วนต่างของราคา’ หรือ Capital Gain เป็นหลัก อาจจะไม่ได้สนใจว่า หุ้นตัวนั้นทำธุรกิจอะไร อนาคตธุรกิจเป็นอย่างไรมากนัก
[ เข้าใจการลงทุนของ ‘สายกราฟ’ ]
รูปแบบกราฟต่างๆ มาจากการพล็อตการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่น หากกราฟราคาเริ่มเคลื่อนไหวเป็นรูปแบบ A ซึ่งเป็นรูปแบบที่ปกติแล้วหลังจากนี้ราคาหุ้นจะขึ้นต่อ ก็อาจเป็นโอกาสเข้าซื้อลงทุนเพื่อรอขายตอนราคาขึ้น เป็นต้น
ในทางกลับกัน ถ้ากราฟออกมาเป็นรูปแบบ B ซึ่งหลังจากนี้มักเป็นขาลง สายกราฟที่มีหุ้นดังกล่าวในมือก็อาจชิงขายตัดขาดทุน (Cut Loss) ก่อน หรือรอช้อน หากกราฟหลังร่วงชี้ว่าราคามีโอกาสดีดกลับขึ้นมาอีก เป็นต้น
นักลงทุนต้นแบบสายกราฟระดับโลกที่สามารถตามไปศึกษากันต่อได้ เช่น ‘มาร์ค มิเนอร์วินี’ (Mark Minervini) ‘เจสซี่ ลิเวอร์มัว’ (Jesse Livermore) หรือนักลงทุนกราฟที่ประสบความสำเร็จในไทยก็อย่างเช่น ‘เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง’ ‘โอห์ม-ปิยะรัฐ เจริญทัศน์’ ‘เบียร์-วนนท์ วรรณป้าน’
[ เข้าใจการลงทุนของ ‘สายพื้นฐาน’ ]
ในขณะที่ ‘สายพื้นฐาน’ เป็นหลักการลงทุนที่มองว่า หุ้นของบริษัทเป็นตัวแทนของกำไรที่บริษัททำได้ หากบริษัทหนึ่งมีการเติบโตของกำไรที่สูง ก็จะเป็นตัวผลักดันให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นในระยะยาว
นักลงทุนสายพื้นฐานจะใช้เวลาส่วนมากไปกับการอ่านข่าวที่เกี่ยวกับบริษัทที่ตัวเองสนใจจะลงทุน ติดตามผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ รวมถึงติตตามอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทเหล่านั้นด้วย
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการติดตามข่าวเศรษฐกิจ ข่าวธุรกิจ และตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น การนำเข้า-ส่งออก การเติบโตของจีดีพี และข่าวที่เกี่ยวกับเทรนด์ของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย
แนวทางการลงทุนดังกล่าว มักจะเป็นการเข้าซื้อหุ้นในมุมมองของการเป็นเจ้าของกิจการ ที่ต้องการกำไรจากทั้งส่วนต่างราคาหุ้น ซึ่งมักจะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของกำไรบริษัท และปันผลของบริษัท (Dividend Yield) ซึ่งจ่ายให้ผู้ถือหุ้นจากผลประกอบการของบริษัท
สำหรับนักลงทุนต้นแบบสายพื้นฐานระดับโลกที่สามารถตามไปศึกษากันต่อได้ เช่น ‘เบนจามิน แกรแฮม’ (Benjamin Graham) ‘วอเรน บัฟเฟตต์’ (Warren Buffett) หรือ ‘ปีเตอร์ ลินช์’ (Peter Lynch) ส่วนในไทย เช่น ‘ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร’ ‘ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา’ ‘โจลูกอิสาน-อนุรักษ์ บุญแสวง’ เป็นต้น
[ ขั้นตอนแรกเมื่ออยากเทรดหุ้น ]
การเล่นหุ้นควรเริ่มต้นจากพื้นฐานที่สำคัญอย่าง ‘การหาความรู้’ เริ่มตั้งแต่ความรู้พื้นฐานอย่างการเปิดบัญชี เช่น การเลือกโบรกเกอร์ ซึ่งแต่ละที่ก็มีอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป บทวิเคราะห์ที่นำเสนอในแต่ละวัน รวมถึงระบบการฝากเงินถอนเงิน ฯลฯ
ขั้นตอนถัดมาหลังจากที่สามารถเลือกโบรกเกอร์ได้แล้ว ก็มาเริ่มกันที่การเลือกแนวทางในการลงทุนดังที่ได้กล่าวไป โดยพิจารณาตามความเหมาะสม ของเรา เช่น เวลา ความรู้ และไลฟ์สไตล์ ซึ่งก็ต้องอาศัยช่วงเวลาในการทดลองก่อนเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับจริตตัวเอง
หากเราพิจารณาแล้วว่า มีเวลาเต็มที่ ถนัดการดูกราฟ สามารถจัดการความเครียด ซื้อขายในสภาวะกดดันได้ การลงทุนสายกราฟก็อาจเหมาะสมกับเรา
แต่หากเราต้องการมีเวลาไปทำสิ่งอื่น หรืออาจจะทำงานประจำไปด้วย ชอบการหาความรู้ในธุรกิจ ต้องการกระแสเงินสดจากการปันผล การลงทุนตามสายพื้นฐานก็อาจจะเหมาะสมกับเรา
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ‘แนวทางการลงทุนแบบไฮบริด’ ที่นำสายกราฟมารวมกับสายพื้นฐาน
ขั้นตอนสุดท้ายคือการทดลองเล่นหุ้นจริง เมื่อเจอความผิดพลาด เราจะได้เรียนรู้ แก้ไข และพัฒนากระบวนการลงทุนของเราให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
[ มีเงินไม่ถึง 1,000 บาทก็เล่นหุ้นได้ ]
นักลงทุนมือใหม่อาจมีคำถามว่า ถ้าหากมีเงินไม่เยอะสามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบนั้นก็คือ ‘ได้’ ไม่จำเป็นต้องเยอะ เพราะขั้นต่ำในการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Board Lot) ถูกกำหนดไว้เพียง 100 หุ้นเท่านั้น
เช่น หุ้น A ราคา 5 บาทต่อหุ้น เรากดซื้อ 100 หุ้นที่ราคาดังกล่าว รวมก็เสียเงินเพียง 500 บาทเท่านั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีหุ้นจำนวนมากที่มีราคาหลักสตางค์ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ต้องใช้เงินถึง 1,000 บาทก็สามารถเป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว
ตัวอย่างเช่น หุ้น WHA ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม ก็มีราคาปิดที่เพียง 4.50 บาทต่อหุ้น (ณ 12 พ.ค. 2566) หากซื้อ 100 หุ้น ก็จ่ายเพียง 450 บาทเท่านั้น เพื่อเข้าเป็นเจ้าของบางส่วนของกิจการดังกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น หากหุ้นของบางบริษัทมีราคาที่ค่อนข้างแพง อาจจะหลักร้อยถึงหลักพันบาทต่อหุ้น ซึ่งอาจต้องใช้เงินหลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนในการซื้อ Board Lot
แต่ไม่ต้องกังวล เพราะนักลงทุนสามารถซื้อหุ้นดังกล่าวผ่าน Odd Lot ซึ่งเป็นกระดานให้นักลงทุนเคาะซื้อหุ้นในจำนวนที่ต่ำกว่า 100 หุ้น (จำนวน 1-99 หุ้น) ได้ เพียงแต่ว่าราคาหุ้น Odd Lot อาจจะแตกต่างจากราคาบนกระดานหลัก
[ เทรดเองได้ไม่ง้อ ‘มาร์เก็ตติ้ง’ ]
นักลงทุนบางรายอาจจะยังจำภาพสมัยก่อนที่นักลงทุนยังต้องโทรแจ้ง ‘มาร์เก็ตติ้ง‘ เมื่อต้องการเซื้อขายหุ้นในแต่ละครั้ง แต่การเทรดผ่านมาร์เก็ตติ้งยังจำเป็นอยู่หรือไม่ แล้วรวยแค่ไหนถึงต้องใช้มาร์เก็ตติ้ง
คำตอบนั้นก็คือ ‘ไม่จำเป็น’ เนื่องจากในปัจจุบันนักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วยตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้ หากต้องการซื้อขายหุ้นผ่านมาร์เก็ตติ้งก็สามารถทำได้เช่นกัน
การซื้อขายหุ้นผ่านมาร์เก็ตติ้ง หรือที่คอหุ้นชอบเรียกสั้นๆ ว่า ‘มาร์’ จะได่รับรับคำแนะนำลงทุนด้วย โดยนักลงทุนที่เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์จะได้รับเบอร์โทรสำหรับการติดต่อกับมาร์เก็ตติ้งแนบกับเลขบัญชีที่เปิดมา
สำหรับระบบการซื้อขายออนไลน์ ใครที่เล่นหุ้นอยู่ก็คงรู้กันดีว่า หนีไม่พ้นแอปฯ Streaming ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันกลางสำหรับเทรดหุ้น โดยหลังเปิดบัญชีแล้ว นักลงทุนสามารถนำเลขบัญชีมากรอกในแอปฯ เพื่อทำการซื้อขายได้เลย
[ เล่นหุ้นได้กำไร ต้องรอเงินเข้ากี่วัน ]
อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการลงทุนในประเทศ ตอนนี้หลายโบรกฯ ก็ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันลงทุนเอง ซึ่งนักลงทุนจะใช้แอปฯ กลาง หรือแอปฯ ของโบรกฯ ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยและความถนัดของแต่ละคน
หลังจากเข้าแอปฯ เทรดหุ้นแล้ว คำศัพท์แรกๆ ที่เราต้องเข้าใจ คือ Bid และ Offer โดย Bid คือฝั่งตั้งราคารอซื้อหุ้นบนกระดาน จำนวน Bid ที่ปรากฎอยู่บนแอปฯ แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละราคามีนักลงทุนรอซื้ออยู่กี่หุ้น
ในขณะที่ฝั่ง Offer คือฝั่งตั้งราคารอขายบนกระดานหุ้น ตัวเลขที่แสดงก็คล้ายกับฝั่ง Bid คือ แสดงให้เห็นว่ามีนักลงทุนตั้งราคารอขายหุ้นที่แต่ละระดับราคาเท่าไหร่กันบ้าง
แม้ว่าเราจะกดซื้อขายหุ้นได้ทันทีบนแอปฯ แต่กระบวนการเงินเข้าสู่บัญชีเงินสด (Cash Balance) จะต้องรออีก 2 วันทำการ หรือที่เรียกว่า T+2 แต่สำหรับในบางโบรกฯ จะมีบริการถอนเงินด่วน (Quick Withdrawal) เช่น ถอนเงินตอนเช้า เงินเข้าตอนบ่าย ซึ่งรายละเอียดอาจแตกต่างกันไป
[ ออมหุ้นคืออะไร ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ]
นักลงทุนบางกลุ่มไม่ต้องการเทรดหุ้นรายวัน และไม่ต้องการใช้หลักการการลงทุนที่ซับซ้อน จึงเกิดคำว่า DCA หรือ Dollar Cost Average ขึ้นมา ซึ่งพูดสั้นๆ ให้เข้าใจคือ การถัวซื้อหุ้นแบบสม่ำเสมอ คล้ายๆ การออมเงิน
สำหรับการลงทุนแบบ DCA จะทยอยลงทุนในปริมาณเท่าๆ กันในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์ เป็นต้น เพื่อเป็นวินัยในการลงทุน และเพื่อลดความผันผวนของราคาที่ขึ้นลง
ยกตัวอย่างเช่น นาย A กำหนดว่าจะลงทุนในหุ้น ก มูลค่า 1,000 บาท และหุ้น ข มูลค่า 1,000 บาท ทุกเดือน โดยไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงอย่างไรในระหว่างทาง แต่จะซื้อด้วยเงินเท่าเดิมไปทุกๆ เดือน เป็นการลงทุนระยะยาว
[ กายหยาบอยู่ไทย หัวใจไปประเทศอื่น ]
แม้ว่าการลงทุนในหุ้นต่างประเทศอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่มีโบรกฯ คอยดูแล แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อย จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องเตรียมเอาไว้ไม่ใช่น้อยๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีตอนนี้ นักลงทุนรายย่อยเองก็สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้อย่างง่ายและมีต้นทุนที่ไม่สูงมากเกินไป ทั้งกองทุนดัชนี (ETF) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ
นอกจากนี้ ปัจจุบันโบรกเกอร์หลายแห่งเปิดให้ลงทุนในตลาดหุ้นที่เป็นที่ยิยม เช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม ฯลฯ ได้เอง โดยมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเข้าออก หรือคิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายในระดับต่ำอีกด้วย
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์เปิดบริการซื้อขายบางส่วนของหุ้น (Fractional Shares) ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นแบบเต็มจำนวน เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นที่มีราคาสูง
เช่น หุ้น Microsoft’ (MFST) ที่มีราคาหุ้นละ 308 ดอลลาร์ หรือประมาณ 10,000 บาทต่อหุ้น นักลงทุนที่สนใจก็สามารถซื้อ 0.01 หุ้น (100 บาท) ได้ โดยแนวคิดเดียวกันนี้จะถูกนำมาใช้กับหุ้นไทยที่มีราคาแพงในอนาคตอีกด้วย
[ คำศัพท์น่ารู้ก่อนลงสนามเทรดหุ้น ]
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด TODAY Bizview รวบรวมอัตราส่วนทางการเงินพื้นฐานที่เหล่านักลงทุนควรรู้มาให้ดังต่อไปนี้
- PE: Price to Earning Ratio หรือ อัตราส่วนของราคาหุ้นต่อกำไรหุ้น สะท้อนความถูกแพงของหุ้นคร่าวๆ ว่า ราคาหุ้นที่นักลงทุนซื้อนั้น เป็นกี่เท่าของกำไรที่บริษัททำได้ในปีนั้น
- PBV: Price to Book Value หรือ อัตราส่วนของราคาหุ้นต่อมูลค่าบริษัท สะท้อนว่านักลงทุนซื้อกิจการในราคา ‘แพง’ หรือ ‘ถูก’ กว่าเจ้าของบริษัทกี่เท่า
- ROE: Return on Equity หรือ ผลตอบแทนต่อเงินลงทุน อัตราส่วนที่บ่งบอกว่ากิจการนั้นๆ มีความแข็งแกร่งในการสร้างผลตอบแทนแค่ไหน และในปีนั้นบริษัทสามารถทำผลตอบแทนได้กี่เปอร์เซ็นของเงินลงทุน
- DE: Debt to Equity ratio หรือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน อัตราส่วนที่บ่งบอกว่า บริษัทนั้นๆ มีสุขภาพทางการเงินว่าดีแค่ไหน มีหนี้สินเยอะเกินไปหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงจะล้มละลายหรือไม่
- Dividend Yield: อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นตัวสะท้อนว่า ณ ระดับราคาที่เข้าซื้อหุ้นนั้นๆ จะให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลกี่เปอร์เซ็น
โฆษณา