26 พ.ค. 2023 เวลา 01:55 • สิ่งแวดล้อม

เพลิงไพรวิทยา: วิทยาศาสตร์ของไฟป่าและสายลมที่รักษาสมดุลโลก

“ช่วงนี้มองเห็นดอยสุเทพไหม?”
“มองไม่เห็นมาหลายวันแล้ว ฝุ่นเยอะจนขาวโพลนไปหมดเลย”
คงไม่เกินจริงนักที่จะกล่าวว่าคนเชียงใหม่มี ‘ดอยสุเทพ’ เป็นเครื่องบ่งบอกคุณภาพอากาศของจังหวัดตัวเอง และเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดอีกเช่นกันที่คนไทยต้องเผชิญกับฤดูฝุ่นควัน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการป่วยและโรคร้ายนานาประการติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี
ตามหลักการแล้ว เมื่ออุณหภูมิของอากาศใกล้พื้นผิวโลก (near-surface air temperature) มีค่าประมาณ 40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) มีค่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และมีความร้อนสะสมบนพื้นผิวโลกต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง สภาวะดังกล่าวถือเป็น ‘จุดเสี่ยง’ ต่อการเกิดไฟป่า
หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าข้อมูลนี้มีจุดสังเกตที่น่าสนใจ เพราะแม้ว่าแดดของประเทศไทยจะร้อนแรงราวเพลิงนรก แต่ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยกลับมีค่าสูงถึง 76 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าไฟป่า ‘เกือบ’ ทั้งหมดในประเทศไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง!
ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติจำเป็นต้องรีบตระหนักก็คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เพราะความแปรปรวนของภูมิอากาศ (climate variation) จะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) คลื่นความร้อน (heat wave) และคู่ขั้วมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Dipole) มีกำลังแรงขึ้น ผลคือ ‘ภาวะแห้งแล้ง’ จะทวีความรุนแรงและยาวนานกว่าเดิม ซึ่งแนวทางการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ยังคงคลุมเครือจนแทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
text: สมาธิ ธรรมศร
โฆษณา