26 พ.ค. 2023 เวลา 15:00

เบื้องหลัง “พิธา” หารือสภาอุตฯ ค้านค่าแรง450 กระชากต้นทุน

เปิดเบื้องหลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หารือสภาอุตสาหกรรม นักธุรกิจชำแหละ นโยบายก้าวไกลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท กระชากต้นทุน 30% กระทบ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น สุดท้ายอาจต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง
1
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเข้าพบ และหารือกับผู้บริหาร ส.อ.ท. ซึ่งนายพิธาได้มาพูดถึงแนวนโยบายของพรรค และมาฟังนโยบายของ ส.อ.ท.
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงเรื่องค่าแรง 450 บาท ซึ่งจะขึ้นจากเดิมทีเดียว 30% ทำให้เกิดการกระชากแรงต่อต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่มีอยู่ 45 กลุ่ม ที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น รวมถึงเอสเอ็มอีในภาคการผลิต ภาคบริการ และท่องเที่ยวจะไปไม่ไหวจากแบกรับภาระไม่ไหว ท้ายสุดอาจต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง
1
ดังนั้นการที่จะยกระดับรายได้ขั้นต่ำขึ้นมา ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ใช่ขึ้นค่าแรงแล้วฝั่งหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกฝั่งต้องแบกรับภาระหนัก จากเวลานี้ผู้ประกอบการในภาพรวมแบกรับภาระหนักอยู่แล้วในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมาเจอกับค่าแรงที่จะขึ้นทีเดียวแบบกระชากแรงเอสเอ็มอีไปไม่ไหวแน่นอน
2
“ใน 450 บาทยังมีตัวเลขแฝงอยู่อีกมากที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกและต้องนับออกมาเป็นต้นทุนเช่นกัน เช่น ลาคลอดได้ 90 วัน ให้ขยายเป็น 180 วัน หากผู้ประกอบการมีแรงงาน 5 คน หายไป 1 คน เท่ากับหายไป 20% จากเดิมเคยจ่ายอยู่ 3 เดือน กลายเป็น 6 เดือนนายจ้างก็ลำบาก และเกิดเขามีลูกหัวปีท้ายปี ปีหนึ่งก็เท่ากับทำงานแค่ 3 เดือนทั้งหมดเป็นต้นทุนแฝงที่ไม่ได้อยู่ใน 450 บาทอันนี้ยกตัวอย่าง”
2
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หากจะขึ้นค่าแรงจริงจะต้องมีมาตรการช่วยเอสเอ็มอีที่ชัดเจน ไม่ใช่มีเพียงแค่มาตรการด้านภาษี เช่น การลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอี การให้ธุรกิจหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นาน 2 ปี แต่ต้องมีเม็ดเงินให้ภาคธุรกิจไปต่อได้ เพราะภาษีเป็นการเสีย หรือมาลดหย่อนได้ตอนที่มีรายได้แล้ว แต่ตอนนี้ต้องพูดธุรกิจจะไปต่ออย่างไรถ้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก เพราะอาจจะล้มตั้งแต่แรก
1
“คุณพิธาบอกว่า ถ้าตอบในนามพรรคก้าวไกลพรรคเดียวก็ยังยืนยันที่ 450 บาท แต่เนื่องจากเขามารับฟังพวกเรา และจะไปรับฟังสภาองค์กรนายจ้างฯ สภาลูกจ้าง สมาพันธ์เอสเอ็มอีที่เขานัดไว้แล้ว รวมถึงหอการค้าไทย เขาก็จะเดินสายหารือจนครบ แต่เนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาลเขาก็ต้องปรึกษาพรรคอื่นด้วยหลังจากที่ได้ข้อมูลครบทุกฝ่ายแล้ว
1
เพราะบางอย่างอาจจะยังทำไม่ได้ ซึ่งคงจะคล้าย ๆ กับ MOU 23 ข้อที่เป็นวาระร่วม 8 พรรคที่ตอนแรกหลายพรรคก็กลัวมีประเด็นอ่อนไหวเรื่องหนึ่ง ที่หากมีข้อนั้นเขาก็จะไม่เซ็นกัน ซึ่งทุกคนก็ห่วงท้ายสุดก็ไม่มีหลังมีการพูดคุยและตกลงกัน”
โดยสรุปประธาน ส.อ.ท.ระบุว่า ภาคธุรกิจเอกชนยังมีความกังวลในประเด็นขึ้นค่าแรง ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวนมากอยู่ในระบบค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงแรงงานต่างด้าวอีกกว่า 3 ล้านคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร แปรรูปอาหาร แปรรูปอาหารทะเลในแถบสมุทรสาคร
“ข้อเสนอของส.อ.ท. เรายินดีจ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือ (pay by skill) ไม่ต้องมาพูดขั้นต่ำ ถ้าคุณมีสกิลดีอาจจะจ่าย 600 700 800 บาทได้ทั้งนั้น ขึ้นกับชิ้นงานที่มีมูลค่าและใช้ทักษะพิเศษ ซึ่งต้องมีการพัฒนาที่ต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ก้าวไกลกับเพื่อไทยเขาต้องการช่วยทันที แต่การช่วยทันทีและกระชากแรงเราก็กลัวว่าผลที่จะตามมาอาจจะไม่คุ้ม ต้องดูให้รอบด้าน
3
ซึ่งหากขึ้นก็ต้องมีออฟฟชั่นช่วยทั้งสองฝั่ง อย่างเอสเอ็มอีเขาต้องการเงิน ต้องการที่จะไปต่อ แต่จะเพิ่มภาระเขา อีกวิธีหนึ่งที่เราแนะนำเขาคือ ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟก็สูง สินค้าขึ้นราคา ดังนั้นคุณอาจจะไม่ขึ้นมาก(ค่าแรง) แต่ให้ไปช่วยลดภาระรายจ่ายเขาแทน โดยไปลดทุกอย่างที่เป็นรายจ่ายให้ต่ำที่สุด ไม่จำเป็นต้องขึ้นถึง 450 บาท ก็ได้” นายเกรียงไกร กล่าว
โฆษณา