29 พ.ค. 2023 เวลา 22:01 • สุขภาพ

"Stevens-Johnson Syndrome" การแพ้ยาสุดน่ากลัว

โดยทั่วไปผู้ป่วยมักสับสนระหว่างอาการข้างเคียงจากยาและสิ่งที่เรียกว่าอาการ "แพ้ยา" ซึ่งในทางเภสัชวิทยาแล้วสองสิ่งนี้มีที่มาและผลลัพท์ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก
วันนี้ผมจึงขอนำเสนออาการแพ้ยาที่น่ากลัวทั้งในแง่ความรู้สึกและผลกระทบ เพื่อให้ผู้ที่อาจเจออาการดังกล่าวได้สังเหตุตนเองและรักษาได้ทันท่วงที และป้องกันได้ในระยะยาวครับ
ตัวอย่างภาวะ Stevens-Johnson Syndrome
Stevens-Johnson Syndrome หรือ SJS คืออาการหนึ่งของการแพ้ยา โดยการเกิดนั้นไม่เกี่ยว ข้องกับกลไกการอกฤทธิ์ของยาโดยตรง จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยมีหลายการศึกษาที่ยืนยันว่าการแพ้ยารุนแรงในลักษณะดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย
ทั้งนี้ มีอีกหนึ่งภาวะที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมากคือ Toxic Epidermal Necrolysis หรือ TEN โดยมีอาการและรอยโรคต่างๆเหมือนกัน แตกต่างกันที่ SJS จะกินพื้นที่ของรอยโรคบนผิวหนังของร่างกายอยู่ที่ 10-30% ในขณะที่ TEN จะกินพื้นที่มากกว่า 30%
กลไกการเกิด SJS หรือ TEN เรียกว่ากลไกการแพ้ยาแบบ Type IVc (cytotoxic T lymphocyte) โดยเกิดการกระตุ้นเม็ดเลือดขาวที่ชื่อ cytotoxic
T lymphocyte ให้มีการหลั่งสารบางอย่างออกมา เช่น perforin และ granzyme B ทำให้เกิดการทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ
กลไกการแพ้ยาแบบ Type IV
โดยอาการของ SJS หรือ TEN จะมีอาการนำมาก่อน โดยก่อนที่จะเกิดผื่น 1-14 วัน จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ เป็นหวัด ไอ ปวดข้อ อาเจียน ถ่ายเหลว ประมาณร้อยละ 70 จะมีอาการคล้ายไข้หวัด หลังจากนั้นมีผื่นตุ่มขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว โดยจะเริ่มที่หน้า คอ คาง ลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำพุพองและลอกออกเป็นแผลกว้างคล้ายแผลไฟไหม้
***สำคัญ***
โดยยาที่ต้องระวังการเกิดภาวะดังกล่าว ซึ่งมักเกิดภาวะดังกล่าว ประกอบด้วย
ยารักษาโรคเกาต์ : Allopurinol
ยากันชัก : Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin และ Lamotrigine
ยาแก้ปวด ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs : Ibuprofen, Piroxicam, Celecoxib
ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ : Co-trimoxazole,Sulfamethoxazole,Sulfasalazine
ยารักษาวัณโรค : Rifampicin, Isoniazid และ Ethambutol
1
ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีคำแนะนำให้ตรวจหาสารพันธุ์กรรมในผู้ป่วยก่อนเริ่มยา เพื่อป้องกันการแพ้ยา โดยมีการตรวจสารพันธุกรรม HLA B*1502 ในผู้เริ่มใช้ยา Carbamazepine และ ตรวจสารพันธุกรรม HLA B* 5801 ในยา Allopurinol
นอกจากนี้ การไม่ใช้ยาชุด ยาอันตรายที่ไม่ได้ผ่านการซักประวัติและประเมินความเสี่ยงการแพ้ยาอย่างเหมาะสมโดยเภสัชกร ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันอาการแพ้ยา
และพึงสังเกตอาการตนเองหลังใช้ยาต่างๆอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการดังที่ว่ามาข้างต้น ให้หยุดยาแล้วไปพบแพทย์ทันที
ส่วนผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ให้จดจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ และพกบัตรแพ้ยาติดตัวตลอดเวลา แสดงบัตรแพ้ยาทุกครั้งก่อนซื้อยาหรือรับบริการสุขภาพจากหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ เท่านี้ก็จะทำให้ท่านหากไกลจากการแพ้ยาได้
อ้างอิง
Nowsheen, S., Lehman, J. S., & el‐Azhary, R. A. (2020). Differences between Stevens‐Johnson syndrome versus toxic epidermal necrolysis. International Journal of Dermatology.
โฆษณา