27 พ.ค. 2023 เวลา 14:35 • ธุรกิจ

ผลไม้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก?

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรับประทานหนึ่งในผลไม้ไทยที่ผู้เขียนชื่นชอบมากที่สุด คือ “มะยงชิด” ในรูปแบบทั้งผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ (ผู้เขียนเชื่อว่ามะยงชิดก็เป็นหนึ่งในผลไม้ที่เป็นของโปรดของหลายท่านเช่นกัน) ทำให้นึกย้อนไปถึงช่วงปลายปี 2563 ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนา Industry Transformation Forum “อุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกผลไม้”
1
ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีผู้ประกอบการ นักวิชาการ และภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
วันนี้จึงขอนำสาระสำคัญที่ยังคงทันสมัยเกี่ยวกับ “ผลไม้ไทย” ซึ่งประสบกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ต้องรับมือให้ดีทั้งเอกชนและภาครัฐเพื่อให้ “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” มาฝากท่านผู้อ่านกันครับ
โดยทั่วไป ผลไม้เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง ซึ่งแตกต่างจากอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว กล่าวคือ เมื่อประเทศพัฒนาขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้น จะหันมารับประทานผลไม้มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมผลไม้มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ดีในอนาคต ทั้งนี้ อาจถือได้ว่า ผลไม้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ในบางประเทศ โดยเฉพาะจีน
3
ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานทุเรียนที่สะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนจีนว่าอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การปลูกผลไม้ต้องอาศัยความเอาใจใส่และความประณีตสูง เช่น การปลูกมังคุดให้มีคุณภาพดีต้องควบคุมน้ำใกล้ชิด เพราะหากได้รับน้ำมากไป อาจทำให้มังคุดมีอาการเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งทำให้ราคาลดลงนอกจากนี้ ผลไม้หลายชนิดยังต้องผ่านการอบไอน้ำและรมยาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อยืดอายุของผลไม้ โดยเฉพาะลำไยที่ต้องรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งหากมากเกินไป อาจไม่ผ่านมาตรฐานการผลิตและทำให้ส่งออกไม่ได้
1
เกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทยมีความท้าทายสำคัญที่ต้องรับมืออยู่มากมาย โดยจำเป็นต้องตระหนักรู้และปรับตัว พร้อมๆ กับภาครัฐที่จำเป็นต้องสนับสนุนในหลายด้าน ได้แก่
1) รสนิยมการรับประทานผลไม้ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ คนรุ่นใหม่ดื่มน้ำลำไยลดลง ซึ่งทำให้อุปสงค์ของลำไยอบแห้งลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
2
2) เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยยังต้องรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะคู่แข่งจากต่างประเทศ เช่น เวียดนามที่เริ่มปลูกทุเรียนบางสายพันธุ์มาแข่งขันกับไทย ทุนต่างชาติที่ลงทุนปลูกผลไม้ในกลุ่มประเทศ CLMV เช่น ลาวและกัมพูชา ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ประเทศเหล่านี้เริ่มผลิตผลไม้มาแข่งขันกับไทยได้
ทั้งนี้ คุณภาพผลไม้ไทยที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลกอาจประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น อาทิ ทุเรียนที่คนจีนคิดว่าดีที่สุดในโลก อาจไม่ใช่ทุเรียน “หมอนทอง” จากไทยแล้ว แต่เป็นทุเรียน “มูซานคิงส์” จากมาเลเซีย
1
ดังนั้น เกษตรกรควรพยายามวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ผลไม้ใหม่ ๆ และควรปลูกผลไม้แต่ละชนิดในหลากหลายสายพันธุ์ เพราะแต่ละพันธุ์ก็มีเวลาเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน ขณะที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน และจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้าให้แก่เกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การขายผลไม้กีวี่ของเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศ และถือว่าเป็นการส่งออกเชิงรุก
3) การส่งออกผลไม้ไทยในปัจจุบันพึ่งพาตลาดจีนมาก สะท้อนจากขนาดตลาดและอุปสงค์ต่อผลไม้ไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรไทยต้องอาศัย “ล้งจีน” ในการส่งออกผลไม้ไทย เพราะการส่งออกไปตลาดจีนโดยตรงมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก ซึ่งภาครัฐควรดูแลให้อำนาจต่อรองระหว่างล้งจีนกับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยมีความเป็นธรรมที่สุด ไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
2
พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการไทยควรหาตลาดการส่งออกใหม่ ๆ นอกเหนือจากจีน เพื่อลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวในตลาดเดียว ขณะที่ภาครัฐควรเร่งเจรจาการค้าเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการผลไม้ไทยในการหาช่องทางการส่งออกใหม่ ๆ อาทิ ผู้ประกอบการบางรายที่หันไปส่งออกไปเกาหลีใต้แทนจีน แต่ภาษีส่งออกไปเกาหลีใต้จากไทยนั้นกลับสูงถึงร้อยละ 24–30 สร้างต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการมาก
ที่สำคัญ ภาครัฐไทยจำเป็นต้องยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ไทยให้เป็น “วาระแห่งชาติ” และสร้างความตระหนักรู้ในผลไม้ไทยให้กับชาวต่างชาติทั่วโลกจนเป็นหนึ่งใน soft power ของไทย โดยพยายามสื่อสารให้รู้ว่า ประเทศไทยมีผลไม้อะไรบ้าง และมีคุณภาพดีเพียงใด เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไทยเน้นการยกระดับข้าวและยางเป็นหลัก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจผลไม้ซึ่งมีคุณภาพดีไม่แพ้ชาติใดในโลกเท่าที่ควร
1
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
 
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
1
โฆษณา