29 พ.ค. 2023 เวลา 02:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ความท้าทายของCapital Gain Tax กับวัฒนธรรมนักลงทุนไทย

คาดว่าเพื่อนๆคงได้ข่าวกันแล้วแหละว่า คุณศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่รมต.คลังจากพรรคก้าวไกลประกาศจะMake it real เก็บภาษีจากกำไรจากการขายหุ้น
ซึ่งก็เป็นไปตามคาดคือ ด้วยความคลุมเครือและไม่มีรายละเอียดในทางปฏิบัติ (ขอเวลาศึกษาต่อ)ของนโยบายเศรษฐกิจจึงเกิดกระแสต่อต้านจากนักลงทุนในตลาดหุ้น ทัวร์ลงแก้ปีชงกันอย่างเนืองแน่น
วันนี้เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่า ประเทศที่มีระบบภาษีเจริญรุดหน้ามากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาเค้าจัดการกับภาษีจำพวกนี้ยังไง แล้ววิธีที่ใช้อยู่มันมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง ตามมาค่ะ
หลังจากที่ปธน.ลุงไบเดนแกเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน แกก็เสนอร่างต่อสภาเลยว่าต้องการขึ้นภาษีกำไรจากสินทรัพย์ ซึ่งรวมหุ้นและคริปโตเคอเรนซี่ด้วย จาก 20% ไปที่ 39.6% แต่จะเก็บเฉพาะคนที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 ล้านเหรียญเท่านั้นนะ ส่วนคนที่รายได้ไม่ถึงก็จะลดสัดส่วนกันลงมา
ทีนี้เรามาดูกันซิว่า IRS (สรรพากรมะกัน) เค้าว่ายังไง อ้างอิงจาก Cost Basis Assignment เค้าบอกว่า ผู้เสียภาษีทุกคนจะต้องแสดงข้อมูลการซื้อขายสินทรัพย์ทุกชนิด เช่น หุ้น คริปโตเคอเรนซี โดยต้องระบุว่าขายเมื่อไหร่ ที่ราคาเท่าไหร่ หรือถ้าถือไว้ก็ต้องบอกว่ามีอะไรบ้างเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งการรายงานทางบัญชีนักลงทุนสามารถเลือกวิธีการยื่นภาษีได้เอง ที่คิดว่าเกิดประโยชน์สูงสุด ออกมาเป็น protocol เช่น First in First Out (FIFO) และ การระบุแบบเฉพาะ
ยกตัวอย่างวิธีการ FIFO กันเล็กน้อย สมมุติว่า ดิฉันซื้อหุ้น 3 ครั้งครั้งละ 1 หุ้นตอนต้นปีที่แล้ว เมื่อ 1 มค., 1 เม.ย., และ 1 พ.ย. แล้วดิฉันขายหุ้นไป 2 หุ้น ในเดือนธ.ค. หุ้น 2 หุ้นที่ขายนี้ก็จะนำราคาขายมาคิดจากทุนของหุ้นที่ซื้อก่อน คือทุนซื้อเมื่อ 1 ม.ค. กับ 1 เม.ย. นั่นเอง
หรือผู้เสียภาษีอาจเลือกใช้วิธี การระบุเฉพาะ ซึ่งต่างจาก FIFO คือ นักลงทุนเลือกเองได้เลยว่า หุ้นที่ขายนี้เราซื้อมาวันไหนใน 1 มค., 1 เม.ย., และ 1 พ.ย. ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถบริหารภาษีได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พูดง่ายๆคือไปเลือกอันที่มันทุนสูงที่สุดหักออกมาจะได้เหลือกำไรที่ต้องเสียภาษีน้อยๆนั่นเอง
แต่วิธีนี้จะสร้างความวุ่นวายพอควร แค่อ่านก็เริ่มงงกันละ เพราะ IRS จะต้องการให้เราเปิดเผยข้อมูลเยอะกว่าเดิม เช่นส่งบันทึกการซื้อขาย ซึ่งจะต่างจาก FIFO ที่ทำได้ง่ายกว่า ไครเขียนโปรแกรมหรือทำแอพฯพวก บัญชี Optimizing Tax Payment จากหุ้นในไทยได้ก็เตรียมตัวพัฒนาแอพกันได้เลยถ้าจะมีการใช้วิธีนี้
มาดูเกณฑ์ในการเสียภาษีเพิ่มเติมกันอีกนิดนึง ตามIRS เค้ายังมีการแบ่งเบาภาระภาษี โดยจะแบ่งภาษีจากกำไรจากการขายสินทรัพย์เป็นระยะสั้นและระยะยาวอีก ซึ่งถ้าเราถือหุ้นน้อยกว่า 1 ปี จะถือว่ากำไรที่ได้นี้ไปรวมเป็นรายได้ส่วนบุคคลไปเลยซึ่งเป็นขั้นบันไดระหว่าง 10-37% ซึ่ง ณ จุดนี้ดิฉันคิดว่าบ้านเราอาจทำแบบนี้ด้วยคือ แจ้งรายได้จากการขายไปรวมกับรายได้อื่นๆก่อนคำนวณภาษีว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ ไปว่ากันตามขั้น
ซึ่งจะมีประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำจากช่องว่างคนจน คนรวยได้อีกทาง สนับสนุนธงในการหาเสียงของพรรคก้าวไกลเรื่องความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่อเมริกาการขายหุ้นเมื่อถือครองเกินกว่า 1 ปีนั้น จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเพราะจะถูกแยกจากรายได้อื่นๆ ในอัตรา 0-20% ขึ้นกับรายได้รวม (แต่ไม่ไปเพิ่มฐานรายได้)
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญ แล้วชาวเมกันลดภาษีหุ้นกันยังไง ซึ่ง IRS ก็ยังมีเหตุมีผลที่เราน่าจะแนวทางมาใช้ได้ คืออนุญาตให้มี Tax-Loss harvesting ได้ พูดง่ายๆคือสามารถนำขาดทุนจากการขายหุ้นเนี่ยมาหักล้างกำไรได้นะ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติมีนักลงทุน 2 คนชื่อ พะยูน กับ มดดำ ทั้งสองคนซื้อหุ้นคนละ 1 หุ้น ในราคา 5,000 USD เมื่อ 1 ก.ย. พะยูนถือยาวๆไป ถ้าหุ้นตกมดดำเลือกขายออกไปที่ราคา 4,000 USD เมื่อ 1 ต.ค. ซึ่งทำให้มดดำขาดทุน 1,000 USD และสามารถนำ Capital Loss มาสะสมไว้ได้
ซึ่งถ้ามดดำเฟียสไม่หยุด เอา 4,000 ที่ได้ไปซื้อได้ราคาดีกลับมา 1หุ้นในวันที่ 1 พ.ย. สุดท้ายทั้งพะยูนและมดดำจะมี 1หุ้นเท่ากัน แต่มดดำสามารถนำขาดทุนมาหักภาษีกำไรได้ นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ และดิฉันคิดว่าสมเหตุสมผลที่จะเก็บภาษีลักษณะนี้ เพราะการเก็บภาษีเฉพาะกำไรมันก็ไม่แฟร์ต่อนักลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดิมก็เป็นรถไฟเหาะอยู่แล้ว
แต่ปัญหาคือถ้าไทยเอา Tax loss harvesting มาใช้ การจัดเก็บภาษีเข้าคลังย่อมไม่เป็นไปตามเป้าในยามที่เศรษฐกิจไม่โต(ราคาหุ้นยังไม่ไปไหน คนส่วนใหญ่มีแต่ loss harvesting) ซึ่งเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้หุ้นโตเพื่อจะเก็บ Capital gain tax และเพิ่มความเป็นธรรมแก่นักลงทุนด้วย Capital loss harvesting
เพราะถ้ากรณีที่ทั้งปีเทรดหุ้นได้บ้งมาก ขาดทุนอย่างเดียวเลยก็สามารถนำขาดทุนนี้มาหักรายได้ต่อปีได้ไม่เกิน 3000 USD เหมือนหักค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษีนั่นเอง
การเก็บภาษีเมื่อมีการหุ้นส่วนใหญ่จะคิดเมื่อรับรู้รายได้แล้ว (Taxation upon realization) ก็มีข้อดีหลักๆเลยคือมันง่าย อย่างที่อธิบาย FIFO ไปข้างต้นเพราะใช้ราคาซื้อราคาขายมาคำนวณกำไรขาดทุนได้เลย แต่ก็เกิดข้อเสียบางอย่างขึ้นมาเหมือนกัน
“Angel of Death” เป็นคำที่ใช้เรียกจุดอ่อนของการเก็บภาษีแบบนี้ เช่น สมมุติ เจ๊แต๋วซื้อหุ้นมา ต้นทุน 500 USD แล้วถือไป 2 ปี เกิดหัวฟาดชักโครกตาย ในขณะที่ราคาหุ้นขึ้นไปที่ 1000 USD อาโคยที่เป็นทายาทจะได้รับส่งมรดกก่อนตายในต้นทุน 1000 USD แทน ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนของหุ้นที่ซื้อครั้งแรก ทำให้อาโคยไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากต้นทุนเดิม
ซึ่งก็นับว่าเป็นจุดอ่อนในการเก็บภาษีเมื่อขาย ซึ่งตอนนี้ในอเมริกาเองก็มีปัญหาหนึ่งที่เรียกว่า Lock-in Effect ซึ่งทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงนานขึ้นเพื่อลดภาระภาษี และเพื่อทำให้ผลตอบแทนสุทธิจากการถือครองสินทรัพย์สูงขึ้น ซึ่งแม้แต่คลังเมกาเองก็ยังไม่ตกผลึกกับกฎหมายนี้
ถึงตรงนี้ประเทศต่างๆที่มีการเก็บภาษีกำไรจากหุ้นทั้งเมกาและยุโรปก็ยังไม่สามารถหาจุดที่ลงตัวที่สุดสำหรับนักลงทุนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ เพราะวัฒนธรรมการลงทุนแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงเริ่มมีการเสนอการเก็บภาษีแบบสะสม (Accrual basis capital gain tax) หรือการคำนวณภาษีตามราคาจริง (mark to market) คือจะขายไม่ขายไม่สน แต่ถ้ากำไรขาดทุนยังไงจะถูกสะสมไปเรื่อยๆ เพื่อลดการบิดเบี้ยวที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษี
สุดท้ายดอกเบี้ยสีทองคิดว่า เป็นธรรมดาที่จะเกิดกระแสต่อต้านจากนักลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้"เสีย"โดยตรง แต่สุดท้ายถ้าไทยเราจะก้าวสู่การเป็นรัฐสวัสดิการแบบบางๆตามที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้ การเก็บภาษีจากกำไรการขายหุ้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นความท้าทายของว่าที่รมต.คลังจะหารูปแบบที่ลงตัวมีผลกระทบต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจโดยรวมได้เหมาะสมที่สุดเข้ากับวัฒนธรรมการลงทุนแบบไทย
1
โฆษณา