30 พ.ค. 2023 เวลา 03:18 • ธุรกิจ

รู้จัก FIRE กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เก็บเงินอย่างบ้าคลั่ง เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ

รู้จัก FIRE กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เร่งเก็บเงินอย่างบ้าคลั่ง สู่การมีอิสรภาพทางการเงินให้ไวที่สุด เพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ
1
ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเกี่ยวกับ ‘การวางแผนทางการเงิน’ มากขึ้น เพื่อที่จะได้มี ‘กันชน’ หรือ Buffer รองรับความไม่แน่นอนที่เข้ามา
หนึ่งในการวางแผนทางการเงินที่กำลังเป็นกระแส คือการวางแผนทางการเงินแบบ FIRE ซึ่งย่อมาจาก Financial Independence Retire Early Movement ใช้นิยามกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หวังจะมีอิสรภาพทางการเงินให้ได้ไวที่สุด ผ่านการวางแผนการเงินอย่างเข้มข้น
FIRE ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1. การหารายได้ให้มากที่สุด 2. การออมเงิมให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งอาจมากสุดถึง 80-90% ของรายได้ และ 3. การนำเงินดังกล่าวไปลงทุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ถึงเป้าหมายตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือเร็วสุด 30 ปี
จุดเริ่มต้นของ FIRE มาจาก ‘วิกกี้ โรบิน’ (Vicki Robin) และ ‘โจ โดมองเกสซ’ (Joe Dominguez) ที่เผยแพร่แนวคิดดังกล่าวผ่านหนังสือ Your Money Your Life ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1992 หรือเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว
โดยการได้มาซึ่งอิสรภาพทางการเงิน อาจไม่ใช่การมีเงินเพื่อฟุ่มเฟือยอย่างไม่จำกัด หรือมีไลฟ์สไตล์ที่หวือหวาอย่างที่ใครหลายๆ คนเข้าใจ เพราะความหมายที่แท้จริงของอิสรภาพทางการเงิน กลับเรียบง่ายกว่านั้น
อิสรภาพทางการเงิน หมายถึง ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งสามารถครอบคลุมรายจ่ายประจำวันได้ เพื่อให้เราสามารถเลือกที่จะทำงาน หรือไม่ทำงานก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงรายได้อีกต่อไป
กลุ่ม FIRE มักจะมีตัวเลขที่เป็นเป้าหมายการออมเงินในใจคร่าวๆ ว่าต้องการเก็บเงิน หรือสร้างพอร์ทการลงทุนให้มีมูลค่าประมาณ 25-30 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำปี
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวทำให้เราสามารถถอนเงินออกมา หรือสร้างผลตอบแทนจากปันผลหรือดอกเบี้ยประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
ยกตัวอย่างเช่น นาย A มีค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 240,000 บาท (รายจ่ายประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน) ก็ควรมีเงินลงทุนประมาณ 6-7.2 ล้านบาท)
หากนาย A นำเงินไปลงกองทุน หุ้นปันผล หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี นาย A ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 2.4-2.88 แสนบาทต่อปี ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของนาย A และช่วยให้นาย A สามารถมีอิสรภาพทางการเงินได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ภายในกลุ่ม FIRE ก็ยังแบ่งได้อีก 5 ประเภท ได้แก่
1. Lean FIRE คือกลุ่มที่ต้องการเกษียณแบบพอเพียง โดยจะใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบค่าครองชีพไม่สูง ไม่เตรียมเงินหลังเกษียณไว้สำหรับค่าบันเทิง อย่างการท่องเที่ยวหรือของใช้ฟุ่มเฟือย ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อปีไม่สูงมาก
1
2. Regular FIRE คือกลุ่มที่ต้องการเกษียณ แต่ยังอยากรักษาไลฟ์สไตล์แบบก่อนการเกษียณเอาไว้ ซึ่งไลฟ์สไตล์ดังกล่าวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
1
3. Fat FIRE คือกลุ่มที่ต้องการเกษียญแบบหรูหรา จึงต้องเตรียมค่าใช้จ่ายต่อปีไว้สูงกว่า 2 ประเภทแรก
4. Barista FIRE คือกลุ่มที่เกษียณแบบยังทำงานพาร์ทไทม์ต่อ โดยพอร์ตการลงทุนสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้บางส่วน จึงลาออกจากงานประจำได้ แต่อาจจะยังต้องทำงานเสริมอย่างเช่น Barista ในร้านกาแฟ เพื่อมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนเกิน และเพื่อนำเงินดังกล่าวมาลงทุนเพิ่มเติม
5. Coast FIRE คือกลุ่มที่เก็บเงินลงทุนไว้ ปล่อยให้เงินลงทุนทำผลตอบแทนทบต้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจำนวนที่พอใจ จึงจะเกษียณอย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่า แม้กลุ่ม FIRE จะมีความต้องการเกษียณที่ไวเหมือนกัน แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้อ่านสามารถออกแบบตามประเภทที่ได้กล่าวไปข้างต้นได้ตามความต้องการและไลฟ์สไตล์หลังเกษียณ
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา