30 พ.ค. 2023 เวลา 23:07 • ธุรกิจ

อนาคตของการเงินธนาคาร ตอนที่ 1 ว่าด้วย 5 เทรนด์ยักษ์

ธุรกิจอุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร ก็ไม่ต่างจากธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นที่ถูกกระทบกระแทก (disrupt) ด้วยอภิมหาเทรนด์ (macro trends) หรือ "เทรนด์ยักษ์" ระดับโลก ที่ถั่งโถมเข้ามาพร้อมความรุดหน้าของกาลเวลา
มาดูว่า ถ้าใช้กรอบวิเคราะห์เทรนด์ที่เรียกว่า S-T-E-E-P (societal, technological, economical, environmental, political) จะมองเห็นเทรนด์หรือปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
1
S-T-E-E-P Analysis
เริ่มจากตัว S ก่อน
Societal Change คือเกลียวความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมและระหว่างคนกับสถาบันที่เคยมีอำนาจและอิทธิพลในสังคมกำลังเปลี่ยนไป รวมทั้งความห่างกันระหว่างรุ่น (generation gap) ที่ถ่างกว้างขึ้น และค่านิยมในการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เน้นเสถียรภาพและความมั่นคง
คนปัจจุบันเป็นรุ่นที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ใช้ชีวิตกลมกลืนไปกับการใช้ social media และชื่นชอบความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านแอปมือถือ
แต่สังคมข่าวสารที่ไหลเร็วและล้นไปด้วยข้อมูล ในด้านหนึ่งก็ยึดโยงคนในสังคมเข้าด้วยกันจนบันดาลให้เกิดพลังขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับมีเรื่องโกหก (fake news) และการฉ้อโกงอย่างท่วมท้น เห็นได้ในกรณีการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านธนาคารที่แฝงตัวมาในรูป call center
1
ดังนั้นธนาคารที่จัดการเรื่องความมั่นคง (security) และการเป็นตัวตนจริง (authentic) ให้ลูกค้าเห็นได้ดี ก็จะเป็นที่เชื่อมั่นของลูกค้า
Technological change อาทิเช่น การเปลี่ยนผ่านทางดิจิตัล (digital transformation) ซึ่งเป็นเรื่องที่มาจากเทคโนโลยีใหม่ เข้าสู่ระบบการเงินดิจิตัลที่ตอบโจทย์ได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องพึ่งสาขา
รวมทั้งทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ธนาคารไม่ได้ขายมาก่อน เช่น ขายทอง ขายหวย หรือการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าอย่างยิ่งยวดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พลิกโฉมตัวเองไปแล้วด้วยการเปิดตัวของ ChatGPT ที่เมื่อเข้าถึงและเขมือบข้อมูล big data ได้มากขึ้น ก็จะฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ขณะนี้เริ่มละลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริการธุรกิจ รวมไปถึงการศึกษาและทุก ๆ วงการ
นอกจากนี้เรายังอาจต้องมองไปถึงการมาถึงของ quantum computer ที่จะเปลี่ยนทุกสิ่งไปอย่างก้าวกระโดด
Economical trend ระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจาก globalization มาเป็นเศรษฐกิจแยกขั้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่การแยกขั้วนี้ได้ส่งผลสำคัญคือกลายเป็นแรงเสริมทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ให้กลุ่มประเทศ BRICS
กลุ่มประเทศนี้มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้ แต่กำลังจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งมีการตั้งธนาคาร New Development Bank (NDB) เป็นของตนเอง และพยายามนำพาโลกหันเหไปในทิศทางที่กำลังปูทางให้เกิดการใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์ทดแทนในฐานะสกุลเงินของโลก โดยเฉพาะเงินหยวน
สำหรับภายในประเทศ ด้วยภาวะเศรษฐกิจหลังโควิด การฟื้นตัวของธุรกิจจึงยังไม่ดีนัก ตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวช้า ซึ่งหมายถึงรายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ส่งผลต่อธนาคารทำให้จำเป็นต้องกำกับดูแลเรื่อง responsible lending มากขึ้นเพราะกังวลกับความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกค้ารายย่อย ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจการเงินอาจสูงขึ้น โดยเฉพาะจาก non-bank และนโยบายรัฐที่เปิดรับการพัฒนาใหม่ๆ รวมถึงความเป็นไปได้ของ CBDC (Central Bank Digital Currency) ที่อาจเปลี่ยนรูปแบบภาคการเงินในอนาคต
2
Environmental trend คือการมาถึงของความตระหนักในสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน ถึงขั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการทำธุรกิจ โดยมีเทรนด์ที่สำคัญ คือกระแสตอบรับในเรื่องของ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่กำลังเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ธนาคารต้องมีเงื่อนไขต่อการให้สินเชื่อภายใต้กติกาที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงกฎกติกาและโครงสร้างพื้นฐานของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ชัดเจนมากขึ้น
และตัวธนาคารเองก็ต้องเร่งปรับวิธีดำเนินธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กรให้ตระหนักและเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ความเป็นธนาคารสีเขียว (green bank) เพื่อลดรอยเท้า (foot print) ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
Political trend สำหรับประเทศไทยคือการเมืองที่คลี่คลายไปสู่เสรีนิยม เห็นได้ถึงการนำเสนอความฝันแบบใหม่ที่จะนำไปสู่การทลายกำแพงของการเมืองแบบจารีตนิยม ความพยายามทลายระบบอุปถัมภ์ที่อำนาจกระจุกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจกลุ่มเดียวในวงสังคมชั้นสูงที่ประกอบไปด้วยทหาร ข้าราชการและกลุ่มธุรกิจผูกขาด รวมทั้งพยายามสร้างความโปร่งใสเพื่อกำจัดคอร์รัปชั่นที่ฝังตัวในโครงสร้างอำนาจเดิม
เพื่อเปลี่ยนจาก Politics of Constraints มาเป็น Politics of Possibilities ซึ่งจะมีผลต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารอย่างไม่ต้องสงสัย
ผลการเลือกตั้งเป็นเพียงตัวเซ็ตเทรนด์ ยังไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่ถาวร แต่การเมืองแบบนี้น่าจะอยู่กับเราสักพักหนึ่ง ก่อนที่กระแสอนุรักษ์นิยมจะหวนคืนกลับมาอีกครั้ง แต่ในขณะนี้บรรดาธนาคารที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาล เช่น กรุงไทย ออมสิน ธกส. ธอส. เหล่านี้จะเป็นกลุ่มแรกที่รับรู้ผลกระทบของนโยบายใหม่ ๆ ของรัฐบาลใน 100 วันแรกแน่นอน
1
ในขณะที่การเมืองระหว่างประเทศยังคุกรุ่นด้วยสงคราม ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าที่จะหาทางลงได้โดยง่าย ส่งผลต่อธุรกิจธนาคารที่ต้องการความมั่นคงและชอบอนาคตที่คาดเดาได้
เทรนด์ทั้งหมดนี้บางอย่างเห็นชัดเจนมากแล้วในวันนี้ แต่บางอย่างก็เป็นสัญญาณอ่อน ๆ (early weak signals) ที่จะก่อตัวเป็นพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
1
อนาคตของธนาคารและสถาบันการเงิน อยู่ที่ว่าจะสามารถประเมินตัวเองในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมองเห็นช่องว่าง (gap) แค่ไหน เทียบกับทิศทางและความเร็วของเทรนด์ยักษ์เหล่านี้
เมื่อเห็นช่องว่างก็จะนำมากำหนดยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์จากเทรนด์ยักษ์ให้มากที่สุด พร้อมกับหลบเลี่ยงหลุมพรางได้ล่วงหน้า
แต่ก็มีธนาคารหลายแห่งในโลกนี้ที่ได้เตรียมตัวรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเคียงคู่กับลูกศรแห่งกาลเวลา
ตอนที่ 2 จะนำตัวอย่างมาเล่าให้ฟังครับ
โฆษณา