31 พ.ค. 2023 เวลา 03:30 • ธุรกิจ

เงินซื้อความสุขได้ ถ้าเราใช้เงินเป็น

หนึ่งในความฝันของหลาย ๆ คนก็น่าจะเป็นการมีเงินทองให้ใช้อย่างเหลือเฟือ เพราะสำหรับใครหลายคนแล้ว เงินสามารถซื้อความสุขได้
แต่บางครั้ง เราก็น่าจะเคยได้ยินบางคนพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า การมีเงินเยอะนั้นไม่สามารถซื้อความสุขในชีวิตได้
ดังนั้น เราก็อาจสงสัยว่า สรุปแล้ว การมีเงินเยอะจะทำให้ชีวิตเรามีความสุข ได้จริงหรือไม่กันแน่
คำถามนี้เอง ก็ได้ทำให้นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง University of British Columbia และ Harvard University ได้เริ่มทำการศึกษากันอย่างจริงจัง
จนได้คำตอบว่า เงินสามารถใช้ซื้อความสุขให้กับเราได้จริง แต่เราต้องใช้เงินให้เป็นด้วย
แล้วผลการศึกษาของคำถามที่ว่า มีเงินมากแล้ว จะมีความสุขหรือไม่ เป็นอย่างไรบ้าง ?
BillionMoney จะมาสรุปเรื่องนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
งานวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งและความสุขของมนุษย์นี้ มีขึ้นเมื่อปี 2010
โดยผลการศึกษายังบอกอีกด้วยว่า สาเหตุที่บางคนมีเงินมากแล้ว แต่ไม่มีความสุข ก็เพราะว่า เรามักจะไม่รู้ว่าสิ่งที่สร้างความสุขให้กับเราอย่างยั่งยืน คืออะไร
ทำให้บางครั้ง เราจะรู้สึกผิดหวัง จากการที่เราทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้ว กลับไม่ได้รู้สึกมีความสุขมาก เท่ากับที่เราคิดว่าจะมีในตอนแรก
ยกตัวอย่างเช่น ตอนแรกเราคิดว่า เมื่อเราทำงานเก็บเงินจนสามารถซื้อรถยนต์ราคาแพงได้แล้วคันหนึ่ง เราจะมีความสุขมาก แต่เมื่อถึงเวลา ที่เราซื้อรถคันนั้นได้จริง ๆ เรากลับไม่ได้มีความสุขอย่างที่คิดไว้ตอนแรก
โดยงานวิจัยฉบับนี้ ได้มีการแนะนำหลักการทั้ง 8 ข้อ เพื่อให้เรามีชีวิตที่มีทั้งความร่ำรวยและมีความสุข ควบคู่กันไปได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
1. ใช้เงินซื้อประสบการณ์มากกว่าซื้อสิ่งของ
งานวิจัยฉบับนี้พบว่า คนเราจะมีความสุขมากที่สุด เมื่อได้ใช้เงินซื้อประสบการณ์ แทนการใช้เงินซื้อสิ่งของ
เพราะความพึงพอใจในการซื้อสินค้า มักจะคงอยู่แค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แต่ความพึงพอใจในการใช้เงิน เพื่อซื้อประสบการณ์ดี ๆ เช่น การออกเดินทางท่องเที่ยว ก็จะทำให้ความทรงจำดี ๆ ระหว่างการท่องเที่ยวนั้น จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป
2. ใช้เงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มากกว่าใช้สร้างความสุขให้กับตัวเอง
นักวิจัยได้ทดลองโดยแบ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 ให้นำเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น
- กลุ่มที่ 2 ให้นำเงินไปสร้างความสุขให้กับตัวเอง
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่นำเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น มีความพึงพอใจสูงกว่า กลุ่มที่นำเงินไปซื้อความสุขให้ตัวเอง
โดยนักวิจัยให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า เพราะมนุษย์นั้น แท้จริงแล้วเป็นสัตว์สังคม ดังนั้น การดำรงชีวิตอยู่ของเรา จึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นด้วย
ดังนั้น เมื่อเราใช้เงินเพื่อช่วยให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็จะพลอยมีความสุขไปด้วยโดยธรรมชาติ นั่นเอง
3. ใช้เงินก้อนเล็ก ๆ ซื้อสิ่งที่สร้างความสุขให้เราบ่อย ๆ ดีกว่าการใช้เงินก้อนใหญ่ ซื้อสิ่งที่สร้างความสุขให้เรานาน ๆ ครั้ง
ความพึงพอใจในการบริโภค จะเกิดขึ้นมากที่สุด ในช่วงที่เราได้บริโภคสิ่งต่าง ๆ เป็นครั้งแรก ๆ
ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เมื่อเราบริโภคหรือได้รับสิ่งใดก็ตามเป็นครั้งแรก เราจะมีความสุข ความตื่นเต้น มากกว่าเวลาที่เราได้บริโภคหรือได้รับสิ่งนั้นเป็นครั้งที่สอง
และเมื่อเราได้รับสิ่งนั้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ วันหนึ่งเราก็จะพบว่า การได้รับสิ่งนั้นมา ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดี หรือมีความสุขเพิ่มมากขึ้น อีกแล้ว
ซึ่งก็เหมือนกับการกินอาหารแบบบุฟเฟต์ ที่มักจะกำหนดราคาให้สูงกว่าร้านอาหารทั่วไป โดยแลกกับปริมาณอาหารที่เราสามารถกินได้มากกว่าปกติ
โดยผลการวิจัยพบว่า การกินอาหารที่อร่อย แต่ราคาและปริมาณน้อยลงกว่าการกินอาหารแบบบุฟเฟต์บ่อย ๆ สร้างความพึงพอใจได้มากกว่าการไปกินบุฟเฟต์แค่ไม่กี่ครั้ง
4. หลีกเลี่ยงการใช้เงินซื้อประกันมากเกินไป
ผลการวิจัยพบว่า เรามักจะมีความกังวลต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมากจนเกินไป ทำให้เรามักจะสูญเสียเงินไปกับการทำประกันมากเกินความจำเป็น
แน่นอนว่า การคำนึงถึงความเสี่ยงของชีวิตเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งการทำประกันนั้น ก็เพื่อช่วยคุ้มครองเราจากความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ประกันที่เราทำก็ไม่ควรมีมากเกินไป จนทำให้เรามีต้นทุนที่ต้องจ่ายในการซื้อประกัน สูงจนเกินไป
5. ระวังเรื่องการบริโภคก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินทีหลัง
การจ่ายเงินทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรเครดิต หรือใช้บริการ Buy Now, Pay Later หรือซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เป็นการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินที่ฟุ่มเฟือย และอาจก่อให้เกิดภาระหนี้เกินตัวตามมาได้
การบริโภคก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินทีหลังเอง ก็ไม่ใช่วิธีที่แย่เสมอไป ถ้าหากเราสามารถควบคุมวินัยทางการเงิน ในการผ่อนชำระคืน ได้เป็นอย่างดี
แต่หากเราขาดวินัยทางการเงิน เราก็อาจเจอกับปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในภายหลังได้ หากเราใช้จ่ายเกินตัว
6. เมื่อเราจินตนาการถึงความสุขในอนาคต ก็ควรระวังเรื่องที่เราอาจไม่คาดคิดมาก่อนด้วย
เมื่อเราวางแผนถึงอนาคตของชีวิต ในแบบที่เราอยากจะให้เป็นแล้ว เราก็อย่าลืมคำนึงถึงความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นด้วย
เพราะสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้จริง ๆ ในชีวิตนั้น มีน้อยมาก ดังนั้น เราจึงต้องคิดวางแผนให้รอบคอบในทุกด้าน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และหาวิธีปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงนั้นไว้เสมอด้วย
7. ระวังการเปรียบเทียบสินค้าก่อนซื้อมากเกินไป
การเปรียบเทียบสินค้าก่อนที่เราจะซื้อนั้น หลายครั้งเราอาจจะตัดสินใจจากสิ่งที่ไม่ใช่ความต้องการของเรา
ซึ่งทำให้เราซื้อสินค้านั้น ๆ เกินความจำเป็นไป
โดยคนส่วนใหญ่ชอบเลือกจากปัจจัยของความแตกต่างระหว่างสินค้าแต่ละชิ้น
ตัวอย่างเช่น คนเรามักจะเลือกซื้อบ้านที่มีราคาสูง เพราะมีความสวยงาม มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเป็นหลัก จนยอมกู้ธนาคารเพื่อมาซื้อ แต่จริง ๆ แล้ว เราอาจไม่ได้ต้องการแบบนั้น จนยอมเป็นหนี้ก้อนโต
แต่มีน้อยคน ที่จะเลือกจากสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขจริง ๆ เช่น การอยู่ในหมู่บ้านที่ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนบ้านที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน
8. บางครั้งการเชื่อคนส่วนใหญ่ อาจดีกว่าการคิดไปเองคนเดียว
บางครั้ง เวลาที่เราต้องตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการที่มีราคาสูง เราก็อาจเกิดความไม่แน่ใจว่า เมื่อจ่ายเงินซื้อไปแล้ว สิ่งที่เราได้รับมา จะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่
สิ่งที่เราควรทำก็คือ การอ่านรีวิวความคิดเห็นจากลูกค้าคนอื่น ๆ เสียก่อน เพราะยิ่งเราได้รับความคิดเห็นจากคนอื่น ๆ มากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยให้เรา ตัดสินใจได้ดีขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เงิน” สามารถซื้อได้แทบทุกอย่าง
ถ้าหากว่าเรารู้จักใช้เงินให้เป็น อย่างในตัวอย่างงานวิจัยที่ได้เล่าไว้ข้างต้นแล้ว เราก็อาจจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นได้..
1
โฆษณา