31 พ.ค. 2023 เวลา 15:07 • ธุรกิจ

เงินอาจไม่ได้จูงใจเสมอไป

เวลาคิดถึงเรื่องการจูงใจคนเนี่ยครับ เราก็อดที่จะต้องคิดถึงเรื่องการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือ สิ่งของต่าง ๆ เช่น เราอยากจะจัดกิจกรรมอย่างหนึ่งขึ้นมาในบริษัท เราก็จะมานั่งสุมหัวกันว่า งานนี้จะให้รางวัลอะไรดี ถึงจะดึงดูดพนักงานให้มาเข้าร่วม
บางครั้งการคิดเรื่องรางวัลเนี่ย กินเวลาประชุมไปนานมากเลย
.
จริง ๆ การให้รางวัลที่เป็นเงิน เป็นสิ่งของมันก็ง่าย และ ดูจูงใจดีนะครับ
แต่คำถามคือ รางวัลแบบนี้ที่เป็นแรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) นี่ยังยืนจริงหรือเปล่า
มีการทดลองหนึ่งครับ เขาให้เด็ก ๆ มานั่งวาดรูป โดยที่กลุ่มหนึ่ง วาดรูปแล้วได้รางวัล อีกกลุ่มวาดแล้วไม่ได้อะไร หลังจากที่ให้เด็ก ๆ ได้วาดไปซักพักเขาก็เปลี่ยนเป็นตอนนี้ทุกคนไม่ได้รางวัลละ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กกลุ่มที่เคยได้รางวัล พอหยุดได้ก็จะแบบว่า ไม่ค่อยตั้งใจวาดรูป หมดแรงจูงใจไป ต่างจากอีกกลุ่มที่ยังคงวาดอย่างสนุกสนาน
.
ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า Overjustification effect ครับ
Overjustification effect แปลง่าย ๆ คือ การที่รางวัล (extrinsic motivation) ไปทำลายแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation)
ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะชอบวาดรูป วาดได้เรื่อย ๆ ไม่เบื่อ (intrinsic motivation) แต่พออยู่ดี ๆ มีเพื่อนเห็นรูปเราแล้วชอบ เลยจ้างเราให้วาดรูปบ้าง (extrinsic motivation) แบบนี้บางคนก็อาจจะเริ่มรู้สึกไม่สนุกละ
.
แล้ว Overjustification effect นี่จะเกิดขึ้นตอนไหน
เอาจริงก็ยังมีการศึกษาตรงนี้อยู่อ่ะนะครับ แต่ที่พบแล้วว่าน่าจะมีผลแน่ ๆ คือถ้ารางวัลที่เราให้นั้นมีลักษณะดังนี้
1) รางวัลถูกให้กับกิจกรรมที่เราอยากทำอยู่แล้ว (Rewards are offered in the context of pre-existing intrinsic motivation)
เช่น เด็กชอบวาดรูปดี ๆ อยู่แล้ว พอเราไปให้รางวัลว่า วาดแล้วได้เงิน 5 บาทเนี่ย ก็อาจจะทำให้เด็กมาสนใจตัวเงิน จนหมดความตั้งใจที่จะวาดด้วยตัวเองไป อะไรที่มันดีอยู่แล้วเราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันครับ
2) รางวัลนั้นรู้ล่วงหน้า และ คาดหวังได้ (Rewards are known in advance and expected.)
รางวัลที่รู้ล่วงหน้า ว่าจะได้เท่าไหร่ และ ได้เมื่อไหร่นี่ทำให้คนหมดแรงจูงใจได้ครับ ก็เพราะมันคาดเดาได้อ่ะนะ ทางทีดีคืออาจะลองให้รางวัลแบบคาดเดาไม่ได้ เช่น ไม่ต้องให้รางวัลกับรูปทุกรูปที่เด็กวาด แต่ให้แบบ surprise บ้าง แบบนี้ก็จะมีโอกาสเกิด Overjustification effect น้อยกว่า
3) รางวัลนั้นจับต้องได้ (Rewards are tangible.)
เปลี่ยนไปให้รางวัลที่จับต้องไม่ได้ดีกว่า เช่น คำชมจะดีกว่า ครับ ทั้งนี้การเน้นที่รางวัลแบบจับต้องได้มากเกินไป บางทีผู้รับอาจรู้สึกว่าถูกบังคับได้
.
รางวัลแบบจับต้องได้นี่จริง ๆ ก็มีประโยชน์นะ ไม่ได้แย่ไปหมดเลยทีเดียว ซึ่งกรณีหนึ่งที่นำมาใช้ได้คือ เอามาใช้กับงานที่ง่าย ๆ แต่หน้าเบื่อ ซึ่งเจ้าตัวเขาไม่อยากทำอยู่แล้ว พอมีเงินมากระตุ้นนิดหน่อยก็รู้สึกอยากทำขึ้นมา
แต่คำถามคือ ให้น้อยที่สุดเท่าไหร่ดีเขาถึงจะยอมทำ ยกตัวอย่างนะ สมมุติว่าผมไม่ชอบออกกำลังกาย จ้างผมวิ่งกิโลละหมื่นบาท นี่ผมตั้งใจวิ่งเลย แต่มันเป็นไปไม่ได้ไง คำถามที่ตอบยากคือจะให้น้อยที่สุดเท่าไหร่ดี
และที่สำคัญคือ ให้อย่างไรถึงจะสามารถนำไปสู่ intrinsic motivation ได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกมมิฟิเคชันเราต้องการมากที่สุด
เกมมิฟิเคชันอาจจะดูเหมือนเน้นการให้แรงจูงใจภายนนอก แต่เป้าหมายของเราคือการนำไปสู่การเกิดแรงจูงใจภายในครับ
#gamification ตอนที่ 75
โฆษณา