Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ท่องเที่ยว
Blockdit Invest
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
8
1
13
WDYMean
•
ติดตาม
2 มิ.ย. เวลา 13:50 • ประวัติศาสตร์
ทำไมโลกใบนี้ถึงต้องมีเครื่องคิดเงิน ?
ลองคิดภาพว่าคุณกำลังเปิดร้านขายของเล็กๆ อยู่ในอเมริกา ในยุคศตวรรษที่ 19
.
ยุคนั้นเป็นยุคที่ทุกอย่างเป็นอนาล็อก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีกล้องวงจรปิด คำถามคือ คุณจะทำยังไงกับลูกจ้างที่แอบลักเงินคุณ ?
.
แน่นอนว่าถ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็คงจะเอาผิดไม่ได้ เพราะคุณไม่มีทั้งหลักฐาน พยาน และไม่น่าจะอยู่เฝ้าร้านและลูกจ้างได้ทั้งวัน
.
คุณรู้ดีว่าปัญหานี้ต้องแก้ไขให้เด็ดขาด เพราะธุรกิจคงไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่รู้ยอดกำไรขาดทุนที่แท้จริง
.
คำถามต่อมาคือ แล้วจะต้องแก้ยังไง?
.
ผมไม่รู้ครับ แต่มีอยู่คนหนึ่งที่รู้
.
เขาเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามกลางเมือง เขาเป็นนักเรียนแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของบาร์ และเขาก็เป็นคนที่กำลังเจอกับปัญหา ที่ว่ามาก่อนหน้านี้ทั้งหมดเหมือนกับคุณ
.
คำถามคือ เขาจัดการปัญหาหัวขโมยในยุคที่ไม่มีกล้องวงจรปิดได้อย่างไร ? บทความนี้จะพาไปหาคำตอบพร้อมกันครับ
The Union (น้ำเงิน) และ The Confederacy (ม่วง)
ย้อนกลับไปในปี 1861 ที่แผ่นดินอเมริกา
.
สมัยนั้นยังไม่มีอเมริกาอย่างที่เรารู้จักกัน อเมริกาในตอนนั้นยังมีการแบ่งออกเป็นสองฝ่าย
.
ฝ่ายเหนือเรียกตัวเองว่า ฝ่ายสหภาพ (The Union) ส่วนฝ่ายใต้เรียกตัวเองว่า ฝ่ายสมาพันธรัฐ (The Confederacy)
.
ความต่างเดียวที่เด่นชัดจากทั้งสองฝ่ายนี้ คือ ฝ่ายใต้ยังต้องการให้มีทาส (เพราะต้องการแรงงานทาสมาช่วยในการทำไร่) ส่วนฝ่ายเหนือไม่ได้พึ่งพาทาสอีกแล้ว พวกเขาต้องการที่จะเลิก
.
เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน สุดท้ายจึงเกิดเป็นสงครามที่ทุกวันนี้รู้จักกันดีในชื่อ สงครามกลางเมือง (American civil war) เป็นการรบกันระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ และมีวีรบุรุษที่เป็นที่รู้จักมากๆ อยู่หนึ่งคน นั่นคือ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล
.
เมื่อสงครามปะทุขึ้น ชายหนุ่มน้อยใหญ่ทุกอาชีพจึงถูกเกณฑ์มารับใช้รัฐของตนเอง ไล่ตั้งแต่หมอ วิศวกร ช่าง กะลาสี โดยไม่เว้นแม้แต่นักศึกษา
.
และหนึ่งในนักศึกษาที่โดนเรียกตัวเพื่อไปร่วมรบในสงครามในครั้งนี้ ก็คือ เจมส์ ริตที (James Ritty) นักศึกษาแพทย์จากโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในรัฐโอไฮโอ
ไม่มีรูปตอนหนุ่มเลยครับ เลยเซฟตอนแก่มาให้ดู
เจมส์ ริตที เป็นเด็กหัวดีครับ เขาเกิดและเติบโตในรัฐโอไฮโอ วาดหวังเอาไว้ว่าสักวันหนึ่ง เขาจะเป็นแพทย์ที่เก่งเหมือนกับคุณพ่อของเขาให้ได้
.
แต่แล้วชีวิตก็เหมือนต้องกลับตาลปัตร เมื่อรัฐทางใต้ประกาศสงคราม เพราะหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็จะไม่ยอมให้มีการเลิกทาส ตัวริตทีเอง จึงจำเป็นที่จะต้องพักการเรียน และร่วมรบกับฝ่ายสหภาพในนามของโอไฮโอ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือ
.
เมื่อริตทีก้าวเข้าสู่กองทัพ เขาต้องทิ้งทักษะที่ใช้ในการเรียนแพทย์ไปเกือบทั้งหมด
.
กองทัพจะปั้นเขาให้เป็นนักรบ จะสอนให้เขารู้จักพลิกแพลง และจะทำให้เขาเป็นช่างที่ยิงปืนได้ ที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรนิดหน่อย
.
หลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 1865 ริตทีดูจะเป็นช่างมากกว่าอดีตนักเรียนแพทย์จริงๆ
.
ตลอดสามปีในกองทัพ เขาพบว่าตัวเองไม่เหลือไฟในการเรียนแพทย์อีกแล้ว เขาจึงหันเหไปทำอย่างอื่น เขาได้เงินจากการไปรบ และรู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้ไม่แย่กับงานช่าง แต่ติดที่เขาชอบความมึนเมาเป็นชีวิตจิตใจ จึงได้ข้อสรุปว่าเขาควรจะเปิดบาร์
.
หลังลองผิดลองถูกอยู่นาน ในที่สุดปี 1871 ริตทีก็เปิดบาร์เล็กๆ ในบ้านเกิดของตนเอง
.
เขาโฆษณาตัวเองทำนองว่า “วิสกี้แท้ ไวน์ดี แวะมาลองซี้ จะติดใจ” จากนั้นลูกค้าก็หลั่งไหลกันเข้ามาไม่ขาดสาย แต่พอเปิดร้านไปหลายปี แล้วรายได้ไม่สัมพันธ์กับจำนวนแขก เขาก็เริ่มนึกสงสัย
.
“ว่ากำไรที่ควรจะได้ มันหดหายไปไหนหมด ?”
หน้าตาบาร์ของเจมส์ ริตที
ไม่ต้องคิดนาน ริตทีก็พอจะเดาออกว่าร้านของเขาต้องโดนโจรขึ้นแน่ๆ
.
ไม่ใช่โจรขโมยที่ขึ้นบ้าน แต่เป็นโจรขโมยในคราบของลูกจ้าง (Employee theft) เป็นปัญหาคลาสสิคที่เพื่อนที่เป็นเจ้าของบาร์เหมือนกันกับเขา ก็โดนมาเหมือนๆ กัน
.
ริตทีลองไปถามเพื่อนเขาแต่ละคนว่าจัดการกับปัญหาโจรลูกจ้างยังไง เพื่อนก็ใบ้กลับมาว่า “มึงก็ไล่มันออกไปสิ”
.
แต่ ณ จุดๆ นั้น ตัวริตทีเอง ก็ไล่จนไม่รู้จะต้องไล่อีกเท่าไหร่แล้ว
.
เขาไล่คนเก่าออกไป คนใหม่ที่เข้ามาก็ซื่อสัตย์อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเริ่มออกลาย แกล้งคิดเงินผิดบ้าง แอบมุบมิบใส่กางเกงบ้าง จนกำไรร้านเริ่มหด และก็จบที่เขาเค้นจนได้ความจริง จนลูกจ้างคนนั้นโดนตะเพิดออกจากร้านไป
.
เขารู้ดีว่าถ้ายังต้องไล่ใครออกแล้วจ้างใหม่เรื่อยๆ แบบนี้ เขาจะต้องประสาทกินและตายก่อนภรรยาแน่ๆ
.
แต่โชคดีจริงๆ ที่ช่วงนั้นมีทริปล่องเรือไปเที่ยวยุโรป ปืนั้นเป็นปี 1878 ริตทีและภรรยาจึงตัดสินใจ “เอาวะ” พักก่อนก็ได้ ไปพักผ่อนกันก่อนแล้วค่อยกลับมาว่ากัน
.
และเป็นทริปไปยุโรปนี้นี่เอง ที่จะจุดประกายให้เขาประดิษฐ์เครื่องหยุดหัวขโมย ที่จะใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
เรือไอน้ำและเครื่องยนต์
ระหว่างที่เรือกำลังล่องออกจากอเมริกา ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เจมส์ ริตทีและภรรยาก็มีโอกาสได้เข้าไปดูการทำงานของเครื่องจักรภายในเรือ
.
ระหว่างที่กำลังเดินเที่ยวชม ริตทีก็ไปสะดุดตาเข้ากับเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่กำลังแสดงตัวเลขคล้ายกับนาฬิกา เมื่อเขาถามว่านั่นมันคือเครื่องอะไร คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “เครื่องนับรอบใบพัด”
.
กล่าวคือ ในใบพัดของเรือสมัยก่อนครับ จะทำงานได้ด้วยกำลังจากเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งมาจากการเผาถ่านหินที่ขนมาเป็นตันๆ
.
การมีเครื่องนับรอบใบพัดก็เหมือนกับการมีหน้าปัดรถยนต์ ทำให้กัปตันรู้ว่าตอนนี้เรือแล่นไปด้วยอัตราเร็วเท่าไหร่แล้ว และควรจะเพิ่มหรือลดเจ้าถ่านหิน
.
ริตทีรู้สึกทึ่งมากๆ กับเจ้าเครื่องนับอะไรนี่ เขาคิดในใจว่า “ขนาดใบพัดเรืออันเบ่อเริ่ม ที่หมุนเร็วจนมองไม่ทันยังหาวิธีนับรอบมันได้ แล้วเงินที่ไหลเข้าไหลออกของลูกค้าที่มาซื้อเหล้าจากร้านเรา ทำไมมันจะหาวิธีนับไม่ได้”
.
จบจากทริปนั้น ริตทีก็โฟนอินหาน้องชายของเขาทันที น้องชายของเขาชื่อ จอห์น ครับ
.
จอห์นเป็นช่างมือฉมังฝีมือไม่ธรรมดา และตอนนี้พี่ชายของเขาก็กำลังต้องการตัวอย่างเร่งด่วน
พี่น้องตระกูลริตที และแบบร่าง
เมื่อเจมส์ และจอห์น ริตทีมาเจอกัน ไอเดียทั้งหมดของริตทีคนพี่ ก็พรั่งพรูเข้ามาสู่หัวของริตทีคนน้อง
.
ริตทีคนพี่อยากได้อุปกรณ์อะไรสักอย่าง ที่มีลิ้นชักเปิดเข้าเปิดออกได้เพื่อเอาไว้ใส่เงิน ส่วนตรงหน้าปัดก็ให้มีเข็มสักหน่อยคล้ายนาฬิกา เอาไว้ชี้บอกจำนวนเงินที่เพิ่งกดไป
.
แถวที่เห็นด้านล่างก็ให้เป็นปุ่มกดบอกจำนวนเงิน ไล่ตั้งแต่ 5 เหรียญไปจนถึง 95 เหรียญ
.
ส่วนกลไกภายในก็ออกแบบให้สามารถบันทึกจำนวนครั้งการซื้อขาย และจะเปิดลิ้นชักได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้ามาจ่ายเงินจริงๆ แถมข้างตู้ยังติดกระดิ่งเอาไว้อีก ลูกจ้างจะมาเปิดลิ้นชักเล่นเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว
.
หลังจากประกอบเสร็จ ริตทีก็นำมาใช้กับร้านของตัวเอง
.
เหลือเชื่อครับ ไอ้ที่เรียกว่าโจรลูกจ้างอะไรนั่น หายวับไปในชั่วข้ามคืน
.
ริตทีสามารถนับยอดเงินเข้าออกและจำนวนลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เขาไม่ต้องกังวลใจอีกแล้ว เพราะทุกครั้งที่มีการเปิดลิ้นชัก ก็จะตามมาด้วยเสียงกระดิ่งที่ดังบาดหู ลูกจ้างไม่กล้าลักเงินเขาอย่างแน่นอน
.
เมื่อแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้ เขาก็คิดว่าร้านอื่นน่าจะกำลังเจอปัญหาคล้ายๆ กัน
.
คิดได้ดังนั้นเขากับน้องก็ขึ้นไปประชุมกันที่ชั้นสอง (ของบาร์) ก่อนจะลงมือวาดแบบ ประกอบปุ้งปั้ง จนได้ออกมาเป็น Cash register รุ่นบุกเบิก
.
เขาเริ่มโฆษณาและวางขายในชื่อ Ritty’s Incorruptible Cashier (Incorruptible คือ ไม่สามารถทุจริตได้) ทุกวันนี้เรารู้จักเจ้าเครื่องนี่ว่าเป็นต้นแบบของสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องคิดเงิน”
ต้นแบบของเครื่องคิดเงิน
เครื่องคิดเงิน เครื่องเก็บเงิน หรือเครื่องบันทึกเงินสด ที่มาจากคำว่า Cash register ผมไม่มั่นใจจริงๆ ครับว่าจะต้องใช้คำไหน
.
แต่อย่างหนึ่งที่ผมมั่นใจแน่ๆ คือในวันแรกที่ริตทีเปิดตัวสินค้าของเขาในปี 1879 นั้น มันขายไม่ออก
.
สิ่งที่ริตทีทำเพียงแค่ซื้อตึกมาหนึ่งหลัง แต่งหน้าร้านนิดหน่อย แล้วก็วางขายกล่องที่ดูเหมือนจะติดกับนาฬิกาเรือนยักษ์พร้อมปุ่มกดเรียงราย
.
แต่ติดนิดหน่อยตรงที่เขาโน้มน้าวให้ลูกค้าเห็นถึงประโยชน์ของมันได้ไม่ดีเลย
.
หลังจากผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่า เครื่องคิดเงินนี้ก็ยังทำยอดได้ไม่ถึงเป้า และริตทีก็ไม่สามารถแบกทั้งสองธุรกิจนี้ไปพร้อมๆ กันได้อีก เขาจำใจต้องขายธุรกิจเครื่องคิดเงินให้กับเจ้าอื่นที่รู้สึกสนใจมันมากกว่า
.
เจ้าอื่นที่ว่านั้นก็คือ จอห์น แพตเทอร์สัน (John Patterson) เจ้าของร้านขายอะไหล่สำหรับเหมืองถ่านหินใกล้ๆ กับบ้านเขานั่นแหละ
จอห์น แพตเทอร์สัน
ถ้าถามว่าแพตเทอร์สัน สนใจในธุรกิจเครื่องคิดเงินของริตทีมากขนาดไหน ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเขายอมขายร้านขายอะไหล่ เพื่อทุ่มสุดตัวกับเครื่องคิดเงินที่ริตทีขายไม่ออก
.
แพตเทอร์สันบอกว่า หลังจากที่เขาซื้อเครื่องคิดเงินอะไรนี่ไปใช้ มันทำให้ลูกจ้างหัวขโมยของเขาหายวับ แล้วร้านขายอะไหล่ของเขาก็ทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 5,000 เหรียญ
.
และแน่นอนว่าจะต้องมีคนอีกมากที่เจอกับปัญหาโจรลูกจ้าง และเป็นแพตเทอร์สันนี้เองที่คว้าโอกาสนี้เอาไว้ได้
ชื่อบริษัทของแพตเทอร์สัน
หลังจากแพตเทอร์สันซื้อกิจการของริตที เขาก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น National Cash Register Company (NCR) แล้วขายเครื่องคิดเงินเต็มรูปแบบ
.
เขาทำโฆษณา รับคนงานเพิ่ม และขยายกำลังการผลิต ไม่นานบริษัทนี้ก็มีคนงานกว่า 1,000 คน พร้อมทั้งออกแบบเครื่องคิดเงินจากที่ต้องทำทุกอย่างด้วยมือ ก็เริ่มมีการใช้ไฟฟ้า
.
เริ่มใส่ม้วนกระดาษ เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “ใบเสร็จ” ซึ่งมีขึ้นไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ามาโกงเขา และไม่ให้เขาโดนลูกจ้างโกง
.
เมื่อมีคนชอบไอเดียนี้และลูกค้าไม่ได้มีแค่ในอเมริกาแต่เป็นทั่วโลก ธุรกิจเครื่องคิดเงินของแพตเทอร์สัน จึงถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดไปโดยปริยาย
.
จากนั้นมาธุรกิจเครื่องคิดเงินก็มีการส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น มีการใส่ไอเดียใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ เช่น เริ่มมีการใช้จอแสดงตัวเลขในยุค 1960 ถัดจากนั้นอีกสิบปี ในปี 1970 เครื่องคิดเงินก็เปลี่ยนมาใช้เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์
.
ตามมาด้วยการมาถึงของคอมพิวเตอร์
.
แสงเลเซอร์
.
กำเนิดบาร์โค้ด
.
และระบบอินเตอร์เน็ต
ทุกวันนี้เราคงนึกภาพไม่ออกแล้วว่า ธุรกิจที่ขาดเครื่องคิดเงินไปจะทำมาค้าขายต่อยังไง แต่ถ้าเป็นภาพของธุรกิจที่มีแต่โจรลูกจ้าง แอบลักเงินจากบริษัท อันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนนึกออกอย่างแน่นอน
.
เพราะมันคงสับสน อลหม่าน มีการคอรัปชั่นกันบานเบอะ และธุรกิจยักษ์ใหญ่ทุกวันนี้คงไม่สามารถขยายกิจการต่อไปได้ ถ้าไม่รู้ตัวเลขขาดทุนกำไรที่แท้จริง
.
ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของคุณจอห์น แพตเทอร์สันนะครับ ที่มองได้เฉียบขาดและไกลขนาดนี้
.
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราคงลืมอีกท่านที่เป็นเจ้าของไอเดียนี้อย่างคุณเจมส์ ริตที ไม่ได้
.
ถึงแม้เขาจะล้มเหลว และไม่สามารถสานต่อไอเดียนั้นให้ไปไกลถึงระดับโลกได้ด้วยตัวของเขาเอง
.
แต่ถ้าขาดเขาไป ผมเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกทั้งเล็กใหญ่ คงไม่สามารถดำเนินกิจการได้เรียบง่ายและรวดเร็วอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้อย่างแน่นอน
.
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวที่เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า ทำไมโลกนี้ถึงต้องมีเครื่องคิดเงิน ?
.
หวังว่าจะได้คำตอบกันแล้วนะครับ
.
ขอบคุณที่อ่านบทความนี้จนจบครับ
.
#WDYMean
ปล. สุดท้ายแล้วเจมส์ ริตที ก็กลับไปเปิดบาร์เหมือนเดิมนะครับ
ในปี 1882 เขาเปิดบาร์ใหม่ในชื่อ The Pony House ก็มีคนมาเยี่ยมเยียนเยอะพอสมควร ก่อนจะเกษียณและเสียชีวิตไปด้วยโรคหัวใจในปี 1918 อายุครบ 82 พอดี
The Pony House
อ้างอิงจาก
ประวัติของเจมส์ ริตที
•
https://history-computer.com/james-ritty-complete-biography/
•
https://en.wikipedia.org/wiki/James_Ritty
•
https://alchetron.com/James-Ritty
กำเนิดเครื่องคิดเงิน
•
https://www.thoughtco.com/cash-register-james-ritty-4070920
•
https://americanhistory.si.edu/collections/object-groups/cash-and-credit-registers
การมาถึงของจอห์น แพตเทอร์สัน
•
https://en.wikipedia.org/wiki/John_Henry_Patterson_(NCR_owner)
history
biography
8
ถูกใจ
13
แชร์
962
รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
8
1
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2023 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย