3 มิ.ย. 2023 เวลา 10:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ธนาคารกลางแห่ตุนทองคำ ลดบทบาท “ดอลลาร์” ในทุนสำรอง

ธนาคารกลางทั่วโลกแห่ตุนทองคำ หลังจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และยังคงจะดำเนินต่อไปในอนาคต
การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยการถือครองทองคำเพิ่มขึ้นเกือบ 400 ตันในไตรมาสเดียว เป็นสถิติการซื้อทองคำของธนาคารกลางในรายไตรมาสที่สูงสุดนับตั้งแต่สภาทองคำโลกเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2543
ส่วนไตรมาสแรกปี 2566 ธนาคารกลางซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 176% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565
เมื่อเร็ว ๆ นี้สภาทองคำโลก เปิดเผยผลสำรวจประจำปี 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทองคำยังเป็นที่นิยมของบรรดาธนาคารกลางอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์สำรองที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น และบ่งชี้ว่าแนวโน้มการลดความสำคัญของเงินดอลลาร์สหรัฐ จะดำเนินต่อไปในอนาคต อย่างน้อยก็ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้
การสำรวจประจำปี 2566 ของสภาทองคำโลกพบว่า 24% ของธนาคารกลางทั่วโลกตั้งใจที่จะเพิ่มการซื้อทองคำเข้าเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือ “ทุนสำรอง” ของประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า และมุมมองของบรรดาธนาคารกลางต่อบทบาทของทองคำในอนาคตเป็นมุมมองแง่บวกมากขึ้น
62% ของธนาคารกลางตอบว่า ทองคำจะมีสัดส่วนในปริมาณทุนสำรองมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว มีธนาคารกลาง 46% ที่ตอบแบบนี้
ในทางตรงข้าม มุมมองของธนาคารกลางต่อบทบาทของ “เงินดอลลาร์สหรัฐ” ในอนาคตเป็นมุมมองเชิงลบมากกว่าในการสำรวจครั้งก่อน
ครึ่งหนึ่งของธนาคารกลางที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า สัดส่วนของเงินดอลลาร์ในทุนสำรองในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ระหว่าง 40-50% มีเพียง 25% ที่เชื่อว่าสัดส่วนเงินดอลลาร์ในเงินสำรองระหว่างประเทศจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และ 59% คาดว่าสัดส่วนทองคำในทุนสำรองจะอยู่ระหว่าง 16-25% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ถ้าเป็นอย่างที่ธนาคารกลางเชื่อกันจริง เท่ากับว่าสัดส่วนทองคำในทุนสำรองทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 10 จุดเปอร์เซ็นต์ (percentage point) จากไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ที่ธนาคารกลางซื้อทองคำมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอนนั้นทองคำมีสัดส่วน 15% ของทุนสำรองโลก ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนคิดเป็น 51%
สภาทองคำโลกบอกว่า เหตุผลที่ธนาคารกลางเพิ่มการถือครองทองคำไม่มีอะไรน่าแปลกใจ ระดับอัตราดอกเบี้ย ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจบริหารเงินสำรองของธนาคารกลางเหมือนเช่นเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มุมมองของธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว กับธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาที่มีต่อทองคำนั้นต่างกัน โดยประเทศกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่มองบทบาทของทองคำในอนาคตในแง่ดี มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
ธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาคาดการณ์ว่า สัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองจะลดลง ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลายแห่งคาดการณ์ว่า สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองจะไม่เปลี่ยนแปลง
สภาทองคำโลกบอกว่า ธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาแสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศเหล่านี้จึงเลือกตุนทองคำจำนวนมากเพื่อเป็นแนวทางจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น
โฆษณา