5 มิ.ย. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในเรื่องต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง ศาสนา การศึกษา หรือแม้แต่ “ความหลากหลายทางเพศ” ที่ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทย แต่ในทุก ๆ ประเทศต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก จนเกิดเป็น “อีเวนต์” ที่สำคัญในช่วงเดือนมิถุนายน เรียกว่า “Pride Month” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ”
ก่อนที่จะไปเจาะถึงเรื่องราวของ Pride Month นั้น ต้องเรียนให้ทราบกันก่อนว่า การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดการยอมรับในความหลากหลายทางเพศนั้น เริ่มปรากฏอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) แล้ว
โดย เฮนรี่ เกอร์เบอร์ (Henry Gerber) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกลุ่มเกย์ในยุคแรกของสหรัฐอเมริกา ได้ก่อตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่า “Society for Human Rights” ขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นองค์กรแรก ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพให้เกิดเป็นความเสมอภาคขึ้นในสังคม และเป็นหน่วยงานหลักในการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มเกย์
แต่ด้วยบริบททางสังคมในสมัยนั้น ที่ยังคงความเป็นอนุรักษ์นิยม จึงทำให้แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้รับความใส่ใจจากภาครัฐและประชาชนเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งมาจากการมองว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
รวมถึงการยอมรับสิทธิต่าง ๆ ทางกฎหมาย แล้วบางครั้ง กลุ่มคนเหล่านี้เอง ก็ถูกกระทำทั้งทางร่างกายและจิตใจสารพัดรูปแบบ ไม่ต่างอะไรกับการถูกจัดให้เป็น “คนชายขอบ” ทางสังคม มิหนำซ้ำ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งบางครั้ง “การถูกเลือกปฏิบัติ” กับกลุ่มหลายหลายทางเพศเหล่านี้ ก็ได้บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “เหตุจลาจลสโตนวอลล์” (Stonewall riots)
ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีบาร์แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า “สโตนวอลล์อินน์” (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นแหล่งพบปะประจำของบรรดาชาวเกย์ทั้งหลายที่ต้องการแสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้น พร้อมกับจับกุมผู้ที่มีเพศสภาวะไม่ตรงกับเพศกำเนิด ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512)
บาร์สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ภาพ: The New York Times)
หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็ได้นำไปสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับเกย์ แล้วก็ได้บานปลายกลายเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมกับมีการเรียกร้องให้กลุ่มเกย์ได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างเท่าเทียม โดยมีสมาชิกของชุมชนเกย์ และผู้ที่กล้ายอมรับถึงความแตกต่าง ต่างออกมาร่วมเดินขบวนกันอย่างพร้อมพรั่ง แล้วจากเหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
โดยในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ได้มีผู้คนในสหรัฐฯ ต่างออกมาร่วมเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การจลาจลสโตนวอลล์ และยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียม ตลอดจนสิทธิ เสรีภาพที่พวกเขาทั้งหลายพึงจะได้รับอย่างชอบธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
ช่วงที่เกิดเหตุจลาจลในบริเวณบาร์สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) ในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513, ภาพ: The New York Times)
จากเหตุการณ์สโตนวอลล์ ได้กลายมาเป็นรากฐานอันสำคัญในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ รวมถึงการเกิดขึ้นของเดือนแห่งการเฉลิมความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่า “Pride Month” ในเดือนมิถุนายนของทุกปีด้วยนั่นเอง
เมื่อกล่าวถึง LGBTQ+ แล้วก็คือ คำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบด้วย
  • L : Lesbian (เลสเบี้ยน) คือ ผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
  • G : Gay (เกย์) คือ ผู้ชายที่มีรสนิยมชอบผู้ชาย
  • B : Bisexaul (ไบเซ็กชวล) คือ บุคคลผู้ที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
  • T : Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) คือ บุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงข้ามเพศมาจากผู้ชาย และผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง
  • Q : Queer (เควียร์) คือ เป็นคำเรียกกว้าง ๆ ของกลุ่มบุคคลผู้ที่มีความลื่นไหลทางเพศ ไม่ได้จำกัดกรอบว่าตนจะต้องชอบเพศไหน
นอกจากนี้ยังมีอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ซึ่งเป็นศัพท์ใหม่ ได้แก่ Pansexual (แพนเซ็กชวล) คือ คนที่ไม่ปิดกั้นว่าคนรักจะเป็นเพศอะไร มีความสนใจในผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศใดก็ได้ Non-binary (นอนไปนารี) คือ กลุ่มคนที่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
จึงเป็นเหตุประการหนึ่งที่ต้องมีเครื่องหมายบวก (+) กำกับไว้ตอนท้ายของ LGBT หรือ LGBTQ นั่นเพราะว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 เพศคือ ชาย หญิง หรือแม้แต่ LGBT เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง มนุษย์มีเพศที่มากกว่านั้น ซึ่งก็ยังมีตัวอักษรระบุเพศอีกมากมาย อย่างเช่น
  • I Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) คือ คนที่มีเพศกำกวม หรือคนที่มีโครงสร้างระบบสืบพันธุ์ โครโมโซม อวัยวะเพศที่ไม่สามารถแบ่งเป็นหญิงหรือชายได้ หรือ
  • A Asexual (เอเซ็กชวล) คือ คนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศหรือไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศ
จนบางครั้งต้องมีการระบุเป็น LGBTQIA+
นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องนึกถึงนอกจากเพศที่มีความหลากหลายแล้วก็คือ ธงสีรุ้ง ซึ่งมีความหมายถึง การรวมตัวของหลายสีมาเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างสีสัน มีจุดเริ่มต้นมาจากการออกแบบธงสีรุ้งของกิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเกย์ในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งคำประกาศอิสรภาพสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) โดยแรกเริ่มมีทั้งหมด 8 สีด้วยกัน ประกอบด้วย
  • สีชมพูเข้ม หมายถึง เรื่องเพศ
  • สีแดง หมายถึง ชีวิต
  • สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
  • สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
  • สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
  • สีเขียวแกมน้ำเงิน หมายถึง เวทมนต์
  • สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี และ
  • สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่
ภายหลังได้ลดลงเหลือเพียง 6 สี โดยได้ตัดสีชมพูเข้มและสีเขียวแกมน้ำเงินออก เนื่องจากเป็นสีพิเศษที่ยากต่อการผลิต แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังคงความหมายของการเป็นสิ่งที่สื่อถึงความหลากหลายที่ได้ไหลมาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอยู่นั่นเอง
ขบวนพาเหรด Pride Month ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (ภาพ: ฐานเศรษฐกิจ)
อนึ่ง เมื่อมีการยอมรับในเรื่องของความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา นั่นก็คือ การได้รับสิทธิ เสรีภาพด้านต่าง ๆ ทั้งในทางพฤตินัย และนิตินัย ซึ่งหมายรวมถึง การ #สมรสเท่าเทียม
โดยประเทศแรกในโลกที่ได้ปลดล็อกให้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์
แต่ก็ยังมีบางกลุ่มประเทศที่เล็งเห็นว่า ความหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติ จนกลายเป็นประเทศที่อันตรายต่อกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศไป เช่น กลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ในการควบคุมความประพฤติของประชาชน หรือแม้แต่กลุ่มประเทศที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ซึ่งมีความพยายามในการถ่ายทอดแนวความคิดเรื่องเพศว่า มีเพียงแค่ชายและหญิง
การรณรงค์เพื่อความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับในเรื่องของการเรียกร้องให้เกิดการสมรสเท่าเทียมขึ้นในประเทศไทย (ภาพ: ประชาชาติ)
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการปลุกปั่นสร้างความเข้าใจครอบงำทางความคิดที่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นว่า เป็นกลุ่มบุคคลทีมีความผิดปกติทางจิต แม้แต่การมองว่า เป็นผลมาจากการประพฤติผิดในกามตามหลักธรรมทางศาสนา หรือที่เรียกว่า “ผลกรรม” เพื่อความสะดวกในการควบคุมพฤติกรรม และหากใครที่คิดต่างไปจากนี้ ก็จะมีบทลงโทษที่ได้รับตามมา
ปัจจุบันนี้ เราไม่อาจจะปฏิเสธได้อย่างลงคอว่า เรื่องของความหลากหลายทางเพศนั้น มีความสำคัญมากเช่นไรในสังคม เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แต่ละคนสามารถเลือกได้ว่า อยากจะเป็นเพศอะไร และที่สำคัญต่อให้แต่ละคนจะเป็นเพศอะไรก็ตาม แต่ทุกคนก็มีความสำคัญอย่างเท่าเทียมไม่ต่างกัน
(ภาพ: Washington Blade)
ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 2 ไม่แบ่งแยก ได้ระบุไว้ว่า
ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดอาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น
นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด
ฉะนั้นแล้ว ต้องไม่มีใครมาถูกเลือกปฏิบัติ เพราะเห็นว่ามีฐานะ การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และที่สำคัญ คือ มีเพศที่ต่างกันอีกต่อไป
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#PrideMonth
โฆษณา