Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง
เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 2
เมื่อเพลงลูกทุ่งถูกแบน
ผมเป็นเด็กเมืองก็จริง แต่เติบโตมากับเสียงเพลงลูกทุ่งซึ่งซึมซับอาบซ่านวิญญาณมาแต่เล็ก ผมรู้สึกว่าเพลงลูกทุ่งมีสีสันกว่าเพลงลูกกรุง มีความสนุก มีอารมณ์ต่างๆ ขณะเดียวกันมันยังสะท้อนเสียดสีสังคมได้ด้วย บางครั้งแบบหยิกแกมหยอก บางครั้งแบบขำเสียดๆ จุกถึงลิ้นปี่
ผมฟังเพลงลูกทุ่งมานานจนโต ความผูกพันกับเพลงลูกทุ่งทำให้ผมแต่งนิยายชุด พุ่มรัก พานสิงห์ ตัวละครเอกเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง
คนทั่วไปในยุคหลังอาจมองเพลงลูกทุ่งเป็นวัฒนธรรมเชยๆ ล้าสมัย บทเพลงเกี่ยวกับชาวนา เรื่องอกหัก สาวชาวไร่เข้ากรุง หนุ่มบ้านนอกถูกคนกรุงแย่งแฟน ฯลฯ แต่หากมองลึกลงไป มันมีอะไรที่มากกว่านั้นมาก
เพลงลูกทุ่งเป็นท่อนหนึ่งของวิวัฒนาการเพลงในเมืองไทยซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น และมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง
1
เพลงลูกทุ่งอาจมีขึ้นมีลง แต่มันก็ยังเป็นเส้นเลือดใหญ่ของวัฒนธรรมไทย
เพลงลูกทุ่งก็เหมือนวรรณกรรม สามารถใช้สื่อสารเสียดสี สะท้อนสังคมร่วมสมัยได้ และมันก็ทำหน้าที่นั้นมานานก่อนผมเกิด
หากเราโดยสารยานเวลาย้อนกลับไปในปี 2485 จะพบว่าปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม น้ำในแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นตลิ่งท่วมเชียงใหม่และลำพูน ปีนั้นน้ำมาก น้ำปิง วัง น่าน ป่าสัก สูงล้นตลิ่ง จังหวัดอื่น ๆ ถูกน้ำท่วมตามมา เช่น ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี น้ำท่วมครั้งนี้หนักหนากับคราวท่วมในปี 2460 ไร่นาล่ม เดือดร้อนกันทั่วหน้า
ในที่สุดน้ำก็เคลื่อนขบวนมาถึงกรุงเทพฯ เริ่มที่บางซื่อ บางเขน หลักสี่ แล้วกระจายไปทั่วกรุง บ้านเรือนร้านค้า ชาวบ้านต้องทำทำนบกั้นน้ำ เดือดร้อนไปทั่ว
1
ระดับน้ำสูงขึ้นทุกวัน ถนนหนทางจมน้ำ รถเมล์รถรางต้องหยุดให้บริการ ในที่สุดการสัญจรทางบกก็ทำไม่ได้ ไปไหนมาไหนต้องใช้เรืออย่างเดียว
วันที่ 7 ตุลาคมรัฐบาลประกาศปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งหมด
1
พระยาอรรถศาสตร์โสภณ (สว่าง จุลวิธูร) เขียน นิราศน้ำท่วม ท่อนหนึ่งว่า
1
สนามหลวงเหมือนทะเลสาบน้อย ๆ
ถาวรวัตถุเหมือนลอยอยู่กลางหาว
มีละลอกคลื่นซัดสะบัดวาว
มองดูขาวเป็นน้ำหมดจดสะพาน
น้ำท่วมสนามหลวง
บริเวณที่น้ำท่วมหนักคือพื้นที่ริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เชิงสะพานพุทธ สนามหลวง เทเวศร์ จุฬาฯ ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้า ฯลฯ
น้ำท่วม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า (ภาพจากหนังสือบทประพันธ์นิราศน้ำท่วม กับลิลิตพระบรมอัฐิ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและอื่นๆ)
น้ำท่วมนานราว 35 วัน เลิกท่วมตอนต้นเดือนพฤศจิกายน
1
เรื่องนี้คงเป็นแค่บันทึกประวัติศาสตร์ทั่วไป ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง หากมิใช่เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีออกตรวจสภาพน้ำท่วมในเมือง แล้วเอ่ยว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง
สำหรับคนที่เผชิญชะตากรรม บ้านจมน้ำนานหลายเดือน ประโยคนี้ก็เหมือนโรยเกลือสินเธาว์ผสมเกลือทะเลใส่บาดแผล
ปวดใจ แต่ไม่มีใครพูด
ยกเว้นนักแต่งเพลงคนหนึ่งนาม ไพบูลย์ บุตรขัน
ไพบูลย์ บุตรขัน
วันหนึ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน พบกับ นักร้องหนุ่ม ศรคีรี ศรีประจวบ ผู้เล่าว่า เขาเป็นคนอำเภอบางคนที สมุทรสงคราม ย้ายไปตั้งหลักปักฐานทำไร่สับปะรดที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเกิดน้ำท่วมที่ประจวบฯ ชีวิตเขาลำบากมาก ไร่สับปะรดที่ปลูกไว้เสียหายหมด
1
ไพบูลย์ บุตรขัน จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะระบายมันออกมาเป็นเพลง
ชื่อเพลงง่าย ๆ ตรงไปตรงมาว่า น้ำท่วม
ขอยืมประโยคของท่านผู้นำใส่เข้าไปเป็นประโยคแรกของเพลง
"น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลคลอสายชล
น้ำท่วมไต้ฝุ่นกระหน่ำซ้ำสองเสียงพายุก้องเหมือนเสียงของมัจจุราชบ่น น้ำท่วมที่ไหนก็ต้องเสียใจด้วยกันทุกคน เพราะต้องพบกับความยากจน เหมือนคนหมดเนื้อสิ้นตัว
1
บ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่ประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกันไปทุกครอบครัว ผืนนาก็ล่ม ไร่แตงก็จม เสียหายไปทั่ว พี่จึงเหมือนคนหมดตัว หมดตัวแล้วนะแก้วตา
น้ำท่วมพี่ต้องผิดหวังชอกช้ำ พี่คิดเช้าค่ำ ปล่อยให้น้ำท่วมตายดีกว่า น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย"
เพลงสะท้อนความทุกข์ของประชาชน แต่เนื้อเพลงใช้ภาษาสวยงามตามลายเซ็นของครูไพบูลย์ บุตรขัน
ครูไพบูลย์เก่งมากในการนำเหตุการณ์จริงมาแต่งเป็นเพลง ทั้งไพเราะ ทั้งเศร้า ทั้งเสียดแทงหัวใจ เพลงนี้ได้ทั้งการสะท้อนปัญหาชาวบ้าน และ ศอกกลับ การเมืองเบา ๆ
3
เพลงนี้ได้ทั้งการสะท้อนปัญหาชาวบ้าน และ ศอกกลับ การเมืองเบาๆ
2
คนรุ่นหลังอาจไม่เคยได้ยินชื่อนักแต่งเพลงลูกทุ่งนาม ไพบูลย์ บุตรขัน แต่เชื่อว่าคงเคยได้ยินเพลง ค่าน้ำนม
"แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปล ไม่ห่างหันเหไปจนไกล
เมื่อเล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รัก ลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม"
ค่าน้ำนม ย่อมมิใช่เพลงลูกทุ่ง เพราะก่อนหน้านั้นเราไม่ได้แบ่งเพลงไทยออกเป็นอย่างปัจจุบัน
แต่ลองคิดดูว่าหากคนมีฝีมือประพันธ์เนื้อเพลงระดับ ค่าน้ำนม แต่งเพลงลูกทุ่งท้องไร่ท้องนาจะเป็นอย่างไร
งั้นลองฟังเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ของเขาดู
"อย่าดูหมิ่น ชาวนาเหมือนดั่งตาสี เอาผืนนาเป็นที่พำนักพักพิงร่างกาย ชีวิตเอยไม่เคยสบาย ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย ไล่ควายไถนาป่าดอน
เหงื่อรินหยด หลั่งลงรดแผ่นดินไทย จนผิวดำเกรียมไหม้ แดดเผามิได้อุทธรณ์ เพิงพักกายมีควายเคียงนอน สาบควายกลิ่นโคลน เคล้าโชยอ่อน ยามนอน หลับแล้วใฝ่ฝัน
กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาว แห่งชาวบ้านนา ไม่ลอยเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์ หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน กลิ่นกระแจะจันทร์ หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนา"
3
ครูไพบูลย์เห็นว่า เราจะแต่งแต่เพลงชมดอกไม้ ชมความงาม ยังมีเรื่องราวที่เราควรเขียนถึง คือกระดูกสันหลังของชาติ
เพราะครูไพบูลย์มาจากครอบครัวชาวนา จึงแต่งเพลงได้เข้าถึงหัวใจ
ครูไพบูลย์ บุตรขัน (ชื่อเดิม ไพบูลย์ ประณีต) ชาวปทุมธานีมาจากตระกูลชาวนา เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ จนจบมัธยม 8 และเรียนดนตรีจากครูพิณ โปร่งแก้วงาม และสมาคมวายเอ็มซีเอ
หลังเรียนจบ ทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนกว๋องสิว เปลี่ยนอาชีพอีกหลายครั้ง จบที่ทำงานด้านละคร คณะแม่แก้ว และคณะจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ เขียนบทละครวิทยุ แล้วเริ่มแต่งเพลง
1
ไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มบันทึกแผ่นเสียงราวปี พ.ศ. 2490 เพลงจำนวนมากหลั่งไหลออกมาจากปลายปากกาของมหาคีตกวีแห่งสยาม
กลิ่นโคลนสาบควาย แต่งในปี พ.ศ. 2496 ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข เป็นงานดีชิ้นหนึ่งของ ไพบูลย์ บุตรขัน เพลงนี้ได้รับยกย่องว่าวางรากฐานของเพลงลูกทุ่งไทย
แต่เพลงนี้ถูกแบน
ทำไม?
มีการวิเคราะห์ว่าการแบนเพลงนี้น่าจะเพราะสถานีวิทยุ ส.ป.ท. (สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) นำไปใช้เป็นเพลงประจำสถานี
ส.ป.ท. เป็นสถานีวิทยุของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระจายเสียงด้วยคลื่นสั้นใต้ดิน
ครูไพบูลย์แต่งเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ในปี พ.ศ. 2496 แต่แค่หกปีนับตั้งแต่กลุ่มจอมพล ป. ยึดอำนาจในปี 2490 เกิดรัฐประหารและความพยายามเปลี่ยนการปกครองถึงเจ็ดครั้ง มีการสั่งฆ่าผู้ต่อต้านรัฐบาล บ้านเมืองห่างไกลจากความสงบ และคอมมิวนิสต์กำลังรุกคืบ
1
จนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศไทยปราบคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังและรุนแรง เบื้องบนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์จะรุกโดยเข้าหาชนชั้นชาวนา กรรมกร
1
เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ตรงสเป็คฯทุกอย่าง
แต่คนไทยยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ คนซื้อแผ่นเสียงเพลงนี้ ยอดขายสูงถึง 5,000 แผ่น ผลิตแทบไม่ทันขาย
1
นี่ไม่ใช่เพลงแรกและเพลงเดียวที่ถูกทางการแบน
ในบรรดาผู้บุกเบิกเพลงยุคแรก เสน่ห์ โกมารชุน ก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่แถวหน้า เป็นผู้บุกเบิกเพลงชีวิตคนหนึ่ง
3
เสน่ห์ โกมารชุน
เสน่ห์ โกมารชุน แต่งเพลงได้หลายแนว ตั้งแต่เพลงหวาน ๆ เช่น งามชายหาด วอลท์ซนาวี ไปจนถึงเพลงเสียดสีการเมือง เช่น สุภาพบุรุษปากคลองสาน โปลิศถือกระบอง ซึ่งล้อเลียนตำรวจที่เริ่มใช้กระบองปราบคนร้าย
1
เหตุการณ์ความวุ่นวายของการเมืองไทยและการแย่งชิงอำนาจ ทำให้ประชาชนอึดอัดคับข้องใจ นักร้องเพลงลูกทุ่ง คำรณ สัมบุณณานนท์ ก็ถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นในรูปเพลง
ในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลสั่งห้ามรถสามล้อวิ่งในเขตพระนคร-ธนบุรี เพราะผู้ใหญ่เกิดดัดจริตเห็นว่าภาพสามล้อถีบดูไม่ทันสมัย เสน่ห์ โกมารชุน จึงแต่งเพลง สามล้อแค้น เป็นปากเป็นเสียงให้กรรมกรสามล้อถีบ เขากลายเป็นขวัญใจของชาวสามล้อไปทันที
เพลงนี้ถูกแบนตามระเบียบ
หลังจากนั้นก็แต่งเพลงเสียดสีนักการเมือง ชื่อเพลง ผู้แทนควาย แน่นอน เพลงนี้ถูกแบนเช่นกัน ตามมาด้วย แถลงการณ์ไอ้ทุย อสูรกินเมือง ฯลฯ
2
ลองฟังเนื้อเพลง ผู้แทนควาย
"ฉันเป็นผู้แทนมาจากควาย ฟังเถิดพี่น้องหญิงชาย นี่ควายเขาใช้ฉันมา"
3
ผลก็คือวันหนึ่งขณะที่ร้องเพลงนี้ที่เวทีเฉลิมนคร เสน่ห์ โกมารชุน ก็ถูกตำรวจประกบตัว เชิญไปพบกับอธิบดีกรมตำรวจ เขาได้รับข้อเสนอตรงๆ สองทาง หนึ่ง แต่งเพลงแบบนี้ต่อไปแล้วตาย หรือสองเลิกแต่งเพลงแบบนี้
1
เพลงมัน 'เซนซิทีฟ' เกิน!
เป็นข้อเสนอนานก่อนที่ วีโต คอลิโอน แห่ง The Godfather เอ่ย ข้าฯเสนอสิ่งที่เจ้าปฏิเสธไม่ได้
2
การแบนเพลงในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะมันเป็นยุคที่ตำรวจใหญ่ประดุจแสงอาทิตย์เจิดจ้า ใต้สโลแกน ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้ ในสมัยอธิบดี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์
1
นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เบื้องบนสั่งแบนเพลง
การแบนเพลงยังดำเนินต่อไป แม้ไม่ใช่เพลงเกี่ยวกับการเมือง เช่น เพลง ลูกสาวใครหนอ ของ ชาย เมืองสิงห์ นักร้องในวงดนตรีจุฬารัตน์ ถูกรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์สั่งห้ามวิทยุออกอากาศ
เหตุผลเพราะทำนองเพลงเป็นจังหวะออฟบีต ซึ่งเพลงตะวันตกในยุคนั้นนิยม โดยเฉพาะเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ ที่วัยรุ่นคลั่งไคล้
สำหรับเสน่ห์ โกมารชุน ก็ตัดสินใจเลือกทางตามหัวใจ ในเมื่อแต่งเพลงที่ชอบไม่ได้ ก็ไม่ต้องแต่งมัน ไปทำหนังแทน เป็นที่มาหนังเรื่อง แม่นาคพระโขนง
ทำหนังผีหลอกชาวบ้าน ก็ไม่ต่างจากดูผีนักการเมืองหลอกคน
2
3 บันทึก
90
1
14
3
90
1
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย