16 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง

เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 4

เพลงเกี่ยวกับแม่ที่ดีที่สุดเพลงหนึ่ง
ราวปี 2483 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไพบูลย์ บุตรขัน ทำงานที่การไฟฟ้าฯ และเริ่มป่วยด้วยโรคเรื้อน เขามักพันผ้าพันแผลไว้รอบนิ้วเหมือนนักมวยพันผ้าก่อนสวมนวม และมักหลีกเลี่ยงให้ใครสังเกตเห็นมือของเขา
1
เนื่องจากในช่วงสงครามโลก หยูกยาหายาก ค่ายาแพงมาก เขาจึงต้องหารายได้จากการแต่งเพลงและแต่งหนังสือนิทานสำหรับเด็ก แต่หาเท่าไรก็ไม่พอ ตอนนั้นแต่งเพลงมีรายได้เพลงละ 50 บาท
เขาทรมานจากโรคร้ายมากจนต้องพึ่งยาเสพติด ภายหลังก็ต้องไปฟื้นตัวจากยาเสพติดจนหาย
ช่วงนั้นที่เขาป่วย แม่ของเขาดูแลเขาใกล้ชิด ไม่รังเกียจหรือกลัวโรคติดต่อ ความรักที่ไร้ข้อแม้ของแม่เป็นแรงบันดาลให้ ไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงเกี่ยวกับแม่หลายเพลง เช่น ค่าน้ำนม อ้อมอกแม่ ชั่วดี ลูกแม่ ฯลฯ
ค่าน้ำนม เป็นเพลงเกี่ยวกับแม่ที่ดีที่สุดเพลงหนึ่ง
ชีวิตของครู ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นชีวิตของคนลำบาก ผ่านอุปสรรคมากมาย มีทั้งช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำ ความเจ็บป่วยบ่อยๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ในช่วงตกต่ำ ครูไพบูลย์แต่งเพลงให้ ทูล ทองใจ และ สุรพล สมบัติเจริญ โดยใช้นามแฝงคือ สาโรจน์ ศรีสำแล
เขาใช้ชีวิตสองที่คือ ปทุมธานีบ้านเกิด กับปทุมวันที่กรุงเทพฯ ไม่เดินทางท่องเที่ยวไปไหนมาไหน จนเมื่อแม่ตายในปี 2508 ครูมงคล อมาตยกุล ก็ชวนเขาไปเดินสาย ท่องโลกกว้างเป็นครั้งแรก และแต่งเพลงดีๆ อีกหลายเพลง เช่น มนต์รักลูกทุ่ง
1
ต่อมาก็พบรักคือกับ ดวงเดือน ดุษณีย์วงศ์ (ต่อมาชื่อ จันทิมา บุตรขัน) นักแต่งเพลงลูกศิษย์ครูไสล ไกรเลิศ ดวงเดือนเป็นผู้ดูแลครูไพบูลย์ในช่วงบั้นปลายชีวิต
ไพบูลย์ บุตรขัน กับ ดวงเดือน ดุษณีย์วงศ์ (จันทิมา บุตรขัน)
ทั้งสองทำพิธีแต่งงานกันเมื่อต้นปี 2515 และเขาก็เสียชีวิตในปีนั้น อายุเพียง 56 ปี
เนื่องจากตายกะทันหัน ไม่ทันจดทะเบียนสมรส ลิขสิทธิ์เพลงที่เขาแต่งนับพันเพลง ก็ตกเป็นของบริษัทแผ่นเสียง ไม่ถึงมือภรรยา
1
รวมทั้งเพลง ค่าน้ำนม
2
การอัดเสียงเพลง ค่าน้ำนม เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2492 ไพบูลย์ บุตรขัน ได้ครูประกิจ วาทยกร (บุตรชายพระเจนดุริยางค์) และนักแต่งเพลง สง่า อารัมภีร เรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลงดนตรีโดยวงคณะละครศิวารมณ์ ผู้อัดแผ่นเสียงเป็นซาวด์แมนชาวอินเดีย ซึ่งบริษัทเทมาโฟนจ้างมาอัดบันทึกเสียง
2
วางตัวให้ บุญช่วย หิรัญสุนทร เป็นคนร้อง
ในวันอัดเสียง ครูสง่า อารัมภีร พาลูกศิษย์ชื่อ ชาญ เย็นแข ไปช่วยงานด้วย
เวลานั้น ชาญ เย็นแข เป็นนักร้องหัดใหม่สลับฉากคณะละครศิวารมณ์ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมนคร
ชาญ เย็นแข เป็นชาวกรุงเทพฯ จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ ชอบร้องเพลง ตั้งแต่วัยรุ่นก็เข้าประกวดร้องเพลงตามงานวัด ในชื่อ เอี่ยวพญา ร้องเพลงครั้งแรกในปี 2484 ในการประกวดงานวัดจอมสุดาราม (วัดไพรงาม) สถานีรถไฟสามเสน ได้รางวัลที่ 3 จากเพลง กลางสายลม
ต่อมาร้องเพลงประกวดชนะเลิศในงานภูเขาทอง วัดสระเกศวรวิหาร คือเพลง รำพันรัก ในปี พ.ศ. 2488 นอกจากนี้ยังทำงานเป็นนักพากย์หนังและนักจัดรายการวิทยุ หลังจากนั้นก็สมัครเป็นศิษย์ของนักแต่งเพลง สง่า อารัมภีร
ผลจากการเป็นศิษย์ของครูสง่าทำให้เขาไปห้องอัดเสียงในวันนั้น และผลของการไปห้องอัดเสียงในวันนั้น ทำให้ชีวิตเขาพลิกผัน
1
สถานที่อัดเสียงเพลง ค่าน้ำนม คือห้องอัดเสียงกมลสุโกสล ชั้นบนโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย การอัดแผ่นเสียงในสมัยนั้น ต้องอัดเสียงร้องและเสียงดนตรีพร้อมกัน บันทึกลงแผ่นเสียงครั่ง ระบบ 78 รอบต่อนาที
เวลานัดคือ 10 โมงเช้า แต่ถึงเวลาแล้ว นักร้อง บุญช่วย หิรัญสุนทร ยังไม่โผล่มา จนบ่ายนักร้องก็ยังไม่ปรากฏตัว เชื่อว่ายังไม่กลับมาจากเชียงใหม่
1
ทุกคนในห้องอัดเสียงกระวนกระวายใจ ต้องตัดสินใจว่าจะยกเลิกการอัดเสียง หรือหานักร้องคนใหม่
ครูสง่าจึงเสนอให้ ชาญ เย็นแข เป็นคนร้องเพลงนี้แทน คนลงทุนแย้ง เพราะยังไม่มีใครรู้จัก ชาญ เย็นแข แต่ครูสง่าเชื่อมือลูกศิษย์คนนี้ ถกกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดที่ประชุมก็ตกลงตามนั้น
ชาญ เย็นแข จึงได้ร้องเพลงด้วยเสียงสั่นเพราะความประหม่า จนหลายคนชักสงสัยว่าจะไหวหรือ ผ่านไป 4-5 รอบ ก็ร้องสำเร็จจนได้
1
นักร้องได้ค่าตอบแทน 50 บาท แต่ผลที่ตามมาสูงกว่านั้นมาก เพราะเมื่อแผ่นเสียงวางจำหน่าย ทำให้ ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นนักแต่งเพลงชั้นนำ และ ชาญ เย็นแข ผู้ร้อง กลายเป็นนักร้องดัง
ชีวิตคนเป็นเรื่องแปลก บทจะเกิดก็ได้เกิด
หลังจากนั้น ชาญ เย็นแข ก็ร้องเพลงอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ชายสามโบสถ์ สามหัวใจ กลิ่นโคลนสาบควาย บัวลืมสระ ฯลฯ
สำหรับคนที่เสนอให้เปลี่ยนนักร้องเพลง ค่าน้ำนม คือ สง่า อารัมภีร หรือครูแจ๋ว (แจ๋ว วรจักร์) เป็นทั้งนักแต่งเพลงและนักเขียน
ต่อมาเขาเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) เมื่อ พ.ศ. 2531
สง่า อารัมภีร เป็นชาวกรุงเทพฯ ศิษย์ของครูโพธิ์ ศานติกุล และพระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยกร) เคยรับราชการเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงของกองดุริยางค์กองทัพอากาศ
สง่า อารัมภีร แต่งเพลงอมตะหลายเพลง เพลงที่โด่งดังที่สุดคือ น้ำตาแสงไต้ ประกอบละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ เมื่อ พ.ศ. 2487 และเพลง เรือนแพ
1
ในปี พ.ศ. 2488 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทำละครเวทีเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ โดยคณะศิวารมณ์ นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็นพันท้ายนรสิงห์
1
ขอให้ สง่า อารัมภีร แต่งเพลงประกอบละครให้ โจทย์คือขอให้เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองเศร้าปนหวาน
สง่า อารัมภีร ตกลงรับทำ
แต่จนละครจะเปิดโรงในอีกห้าวันข้างหน้า เขาก็ยังแต่งเพลงไม่ได้ กลายเป็นความเครียด
ไม่รู้จะแต่งสำเร็จหรือไม่หนอ
วันหนึ่ง สง่า อารัมภีร ไปกินเหล้ากับเวทางค์ (ทองอิน บุณยเสนา) ที่ร้านโว่กี่
เวทางค์เป็นทหารอากาศ และก็เป็นครูเพลงมือดีคนหนึ่ง
1
เมื่อสง่าปรับทุกข์เรื่องละครกำลังจะเปิด แต่ตนยังไม่ได้เพลง เพราะโจทย์คือ ทำนองเศร้าปนหวาน
เวทางค์บอกว่าถ้าต้องการเพลงหวานเย็นๆ ก็ต้องออกแนวเขมรไทรโยค แต่ถ้าต้องการแบบเศร้าๆ ก็ต้องเป็นลาวครวญ ก็ร้องสลับไปมาในวงเหล้า
หลังกินเหล้า สง่าแวะโรงละครเฉลิมกรุง แล้วเผลอหลับที่โซฟา ฝันไปว่าพบคนสี่คน ชายสามหญิงหนึ่ง แต่งชุดคล้ายโบราณ คนหนึ่งในนั้นบอกให้ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่นเพลงเขมรไทรโยค แล้วก็บอกให้หญิงสาวเล่นเพลงลาวครวญ หลังจากนั้นก็บอกให้อีกคนหนึ่งผสมลาวครวญกับเขมรไทรโยครัดร้อยให้เป็นวิญญาณเดียวกัน เขาก็เล่น
2
สง่าตื่นขึ้นจากความฝัน (หรือจิตใต้สำนึกของเขา) รู้ว่าตนพบเพลงที่ต้องการแล้ว
บ่ายวันรุ่งขึ้น เมื่อทีมงานมาครบ สง่าก็เล่นเปียโนเพลงที่เขาสัมผัสจากความฝันออกมา ทุกคนในที่นั้นขนลุก เพราะมันเป็นเพลงที่ไพเราะระดับสะกดวิญญาณ ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
สง่า อารัมภีร
ตรงตามโจทย์ทุกอย่าง
เป็นที่มาของเพลงอมตะเพลงหนึ่งของเมืองไทย น้ำตาแสงไต้
เนื้อร้องว่า นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ ถ้อยคำเหมือนจะชวนใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย น้ำตาอาบแก้มเพียงแซมเพชรไสว แวววับจับหัวใจเคล้าแสงไต้งามจับตา นวลแสงเพชร เกล็ดแก้วอันล้ำค่า คราเมื่อแสงไฟส่องมาแวววาวชวนชื่นชม น้ำตาแสงไต้ ดื่มใจพี่ร้าวระบม ไม่อยากพรากขวัญภิรมย์ จำใจข่มใจไปจากนวล
ไม่ว่ามันจะเป็น เพลงผีบอก จริงๆ หรือเป็นการทำงานของจิตใต้สำนึกหลังจากคุยกับครูเพลงเวทางค์ แล้วผสมกันในหัวของเขา เพลงนี้ก็โด่งดังมาก ในการแสดงทุกรอบ เมื่อเพลง น้ำตาแสงไต้ ขึ้นในฉากสุดท้าย คนร้องไห้กันทั้งโรง
1
โปสเตอร์หนัง พันท้ายนรสิงห์
หลังจากนั้นงานแต่งเพลงประกอบละครก็เข้ามาไม่หวัดไม่ไหว นอกจากนี้ก็ช่วยทำแผ่นเสียงให้ครูเพลงหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ค่าน้ำนม ของครูไพบูลย์ บุตรขัน ดังเล่ามาข้างต้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องผีก็คงยังฝังหัวเขา เพราะต่อมาเขาก็มีงานเขียนเป็นหนังสือสองเล่ม คือ แจ๋วเจอผี และ ผีที่โรงแรมนวรัตน์
นอกจาก สง่า อารัมภีร ที่แต่งเพลงประกอบละครแล้ว นักแต่งเพลงหลายคนทำงานด้านละครด้วย หนึ่งในนั้นคือ มงคล อมาตยกุล ผู้ที่ต่อมาตั้งวงจุฬารัตน์ แหล่งชุมนุมนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ใหญ่ที่สุด
ในปี พ.ศ. 2497 ส. อาสนจินดา สร้างละครเวทีเรื่อง เทพบุตรฮ่อ ที่โรงละครศรีอยุธยา ขอให้ครูมงคล อมาตยกุล แต่งเพลงประกอบ เป็นที่มาของเพลง เย้ยฟ้าท้าดิน คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร และ สัมพันธ์ อุมากูล ร้องโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์
มงคล อมาตยกุล เล่นเปียโน ป. ชื่นประโยชน์ เป็นมือไวโอลิน เชาว์ แคล่วคล่อง เล่นกีตาร์
สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ แสดงเป็นเทพบุตรฮ่อ ยืนบนชะง่อนหินหน้าถ้ำ ร้องเพลง
ฟ้าหัวเราะเยาะข้าฯชะตาหรือ ดินนั้นถืออภิสิทธิ์ชีวิตข้าฯ พรหมลิขิตขีดเส้นเกณฑ์ชะตา ฟ้าอินทร์พรหมยมพญา ข้าฯหรือเกรง ขอหัวเราะเยาะเย้ยเหวยๆ ฟ้า พสุธาอย่าครวญว่าข้าฯข่มเหง เย้ยทั้งฟ้าท้าทั้งดินสิ้นยําเกรง หรือใครเก่งเกินข้าฯ ฟ้าดินกลัว
มีเสียงประกอบเป็นเสียงฟ้าคำราม และฟ้าแลบแปลบปลาบ ถือเป็น สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ที่ล้ำยุคมากในสมัยนั้น
ทันใดนั้นมันก็กลายเป็นเพลงฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง หลังจากนั้นก็ร้องมาอีกหลายเวอร์ชั่น เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง สมัยผมเป็นเด็ก ได้ยินเพลงนี้บ่อยๆ
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจ ได้สั่งให้วงดนตรีไปเล่นเพลงนี้ที่สี่เสาเทเวศร์ กลายเป็นเพลงประจำตัวของท่านจอมพลไป น่าจะเป็นเพราะเนื้อเพลงเข้ากับบุคลิกของท่านจอมพล
ครูสง่าแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ไว้มาก อีกเพลงหนึ่งคือ ดวงใจ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร
สมัยผมเป็นเด็ก ได้ยินเพลงนี้บ่อยมาก เนื้อเพลงว่า ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้ ถึงอยู่ห่างไกลก็ยังส่งใจไปถึง เธอเป็นคนต่างแดน แต่แนบแน่นด้วยไมตรีสูงส่ง มีใจรักมั่นคงไม่มีผู้ใดเสมอ เธอเป็นความสว่างพร่างดังเพชรประกายเลิศเลอ ฉันได้จุมพิตจากเธอ ฉันภูมิใจและสุขใจทุกคืนวัน
1
หนังสือ โลกนี้สีทองด้วยเพลงของพ่อ โดย บูรพา อารัมภีร (2552) เล่าที่มาของเพลงนี้ดังนี้
ครูแจ๋วเคยเล่าไว้ มีอยู่วันหนึ่งไปทำงานที่ห้างตามปกติ (ห้างกมลสุโกศลจำกัด ย่านวังบูรพา) แล้วนั่งรถรางไปห้องอัดเสียง พองานเสร็จตกเย็นก็นั่งรถรางกลับ ขณะที่รถวิ่งมารับคนที่สามย่านมีนิสิตชายหญิงคู่หนึ่งขึ้นมานั่งฝั่งตรงข้าม รถวิ่งถึงหัวลำโพงก็เห็นว่าสองคนนี้เริ่มมีปากเสียงกัน
ทุกครั้งที่ฝ่ายชายพูดจะถูกสาวหยิกแขนทุกที เมื่อรถแล่นถึงเยาวราชสองคนนี้ทะเลาะกันเสียงดัง จนมาถึงหน้าวังบูรพาโรงหนังแกรนด์เมื่อรถจอดป้ายรับคนโดยสาร นิสิตหญิงลุกยืนแล้วเอากระเป๋าถือฟาดใส่หน้าอกเพื่อนชายที่นั่งอยู่ พร้อมก้าวลงรถอย่างรวดเร็ว หนุ่มนั้นเมื่อรู้สึกตัวก็ลุกขึ้นแล้วตะโกนตามหลังไปว่า นี่... นุช ฉันมีสิทธิ์จะรักเธอนะ แล้ววิ่งตามหญิงสาวลงไป
ภาพและคำพูดนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดประโยค ดวงใจ ทุกคนมีสิทธิ์จะรักกันได้
อีกเพลงหนึ่งที่ดังมากของเขาคือ เพลง เรือนแพ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เรือนแพ เขาแต่งทำนอง ชาลี อินทรวิจิตร เขียนเนื้อเพลง ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร
เรือนแพ สุขจริง อิงกระแสธารา หริ่งระงมลมพริ้วมา กล่อมพฤกษา ดังว่าดนตรี หลับอยู่ในความรัก และความชื่น ชั่ววันและคืนเช่นนี้ กลิ่นดอกไม้รัญจวน ยังอบอวนยวนยี สุดที่จะพรรณนา
สง่า อารัมภีร ยังเป็นนักแต่งเพลงคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงดนตรี ดิอิมพอสซิเบิ้ล หลายเพลง เช่น ทะเลไม่เคยหลับ (ร่วมกับ ชาลี อินทรวิจิตร)
มองซิมองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน บางครั้งมันบ้าบิ่น กระแทกหินดัง ครืนครืน ทะเลไม่เคยหลับไหล ใครตอบได้ไหม ไฉนจึงตื่น บางครั้งยังสะอื้น ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป
ทะเล หัวใจของเรา แฝงเอารักแอบเข้าไว้ ดูซิเป็นไปได้ ตื่นใจเหมือนดังทะเลครวญ ยามหลับไหลชั่วคืน ก็ถูกคลื่นฝัน ปลุกฉันรัญจวน ใจรักจึงเรรวน มิเคยจะหลับเหมือนกับทะเล
ฯลฯ
กว่าห้าสิบปีในวงการ เขาแต่งเพลงไปแค่สองพันเพลง
อย่างนี้คงไม่ใช่เพลงผีบอกแล้ว เพราะผีก็คงไม่ทำงานหนักขนาดนี้
2
โฆษณา