1 ก.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

สตีฟ จ๊อบส์ กับผู้หญิงบนหน้าจอแมคอินทอช

เมื่อ สตีฟ จ๊อบส์ เปิดตัวคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ในเดือนมกราคม ปี 1984 (หลังจากแมคอินทอชออกโฆษณาชื่อ 1984 ฝีมือกำกับของ ริดลีย์ สก็อตต์) ทำให้ทุกคนสนใจและรอคอยการเปิดตัว ในวันนั้นบนจอคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ สตีฟ จ๊อบส์ นำเสนอ เป็นรูปผู้หญิงญี่ปุ่น
1
มันเป็นภาพพิมพ์แกะสลักไม้ที่เรียกว่า ชินฮันงะ จ๊อบส์ซื้อมาจากญี่ปุ่นหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ชื่อภาพ A Woman Combing Her Hair (髪すける女) ผลงานของ ฮะชิกูชิ โกโยะ
ชินฮันงะ (新版画 Shin-hanga แปลตรงตัวว่าภาพพิมพ์ไม้ใหม่ เป็นแนวทางศิลปะต้นศตวรรษที่ 20 ในญี่ปุ่น ชินฮันงะเป็นงานภาพพิมพ์สมัยใหม่ก็จริง แต่มันฟื้นคืนชีพงานเก่าตระกูลอุคิโยะ-เอะ ชินฮันงะรุ่งเรืองในช่วง 1915 - 1942 ญี่ปุ่นนิยมใช้ภาพพิมพ์แกะไม้นี้ทำโปสเตอร์และปฏิทิน
จะเข้าใจชินฮันงะ ก็ต้องเข้าใจอุคิโยะ-เอะก่อน
1
อุคิโยะ-เอะ (浮世絵 ukiyo-e) แปลตรงตัวว่า ภาพโลกลอย เป็นศิลปะตระกูลภาพพิมพ์ไม้และจิตรกรรมญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 17-20 จิตรกรอุคิโยะ-เอะมองเห็นว่าสรรพสิ่งในโลกเปลี่ยนผ่านไปรวดเร็ว ไม่ถาวร เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเหมือนการลอยไปตามกระแสแห่งความไม่แน่นอน ไม่ถาวร เช่น ความงามของดวงจันทร์ ดอกซากุระบาน ฯลฯ
2
จิตรกรอุคิโยะ-เอะระดับปรมาจารย์ เช่น คัตสึชิกะ โฮขุไซ (คนสร้างสรรค์ภาพ คานากาวะ โอคิ นามิ อุระ - คลื่นยักษ์ที่คานากาวะ) อุตะกาวะ ฮิโรชิเกะ (คนสร้างสรรค์ภาพ โอฮาชิ อาตาเคะ โนะ ยูดาจิ - ฝนตกกะทันหันเหนือ โอฮาชิ อาตาเคะ) เป็นต้น
เมื่อภาพพิมพ์แกะไม้อุคิโยะ-เอะเดินทางเข้าไปในโลกตะวันตก มันจับหัวใจของจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ เช่น คล็อด โมเนท์ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ทันที
1
ภาพ คานากาวะ โอคิ นามิ อุระ โดย คัตสึชิกะ โฮขุไซ
แวน โก๊ะห์ ซาบซึ้งกับภาพพิมพ์แกะไม้อุคิโยะ-เอะมาก โดยเฉพาะงานของ อุตะกาวะ ฮิโรชิเกะ เล่ากันว่าแวน โก๊ะห์ มองดูภาพพิมพ์แกะไม้รูป โอฮาชิ อาตาเคะ โนะ ยูดาจิ อย่างลุ่มหลง ช่วงที่เขาเข้าออกโรงพยาบาลประสาท เมื่อเกิดอาการคลุ้มคลั่งเพราะโรคประสาท เขามองภาพนี้แล้วอาการก็สงบลง
3
ศิลปะช่วยเยียวยาจิตใจได้จริงๆ
3
โอฮาชิ อาตาเคะ โนะ ยูดาจิ เป็นหนึ่งในงานชุด เมโช เอโดะ ฮัคเค (หนึ่งร้อยทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงในเอโดะ) ต่อมา แวน โก๊ะห์ จำลองภาพนี้เป็นงานสไตล์ของเขาเอง ตั้งชื่อภาพว่า The Bridge in the Rain
5
อีกภาพที่ แวน โก๊ะห์ จำลองคือรูป คาเมโดะ อุเมะยาชิคิ (สวนเหมยในคาเมโดะ)
คนในวงการศิลปะตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากรู้จักงานอุคิโยะ-เอะ ของญี่ปุ่น ภาพวาดของ แวน โก๊ะห์ ก็มีสีสันจัดจ้านสดใสขึ้น ตรงข้ามกับงานในช่วงแรกซึ่งมีสีสันหม่นทึม เช่น The Potato Eaters (คนกินมันฝรั่ง) ฯลฯ จนอาจกล่าวว่างานที่ดีที่สุดของ แวน โก๊ะห์ ได้รับอิทธิพลจากงานอุคิโยะ-เอะของญี่ปุ่น
3
ขณะที่ญี่ปุ่นมีค่านิยมว่า อุคิโยะ-เอะเป็นงานตลาด เพราะพิมพ์จำนวนมาก ศิลปินยุโรปกลับเห็นว่ามันเป็นงานศิลปะชั้นสูง
จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 งานตระกูลอุคิโยะ-เอะก็ฟื้นชีพในตระกูลใหม่ที่เรียกว่า ชินฮันงะ
ที่แปลกก็คือชินฮันงะได้รับอิทธิพลจากอิมเพรสชันนิสม์ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากอุคิโยะ-เอะ
หลังจากญี่ปุ่นกระโจนเข้าสู่สงคราม งานตระกูลชินฮันงะก็ขาดช่วง เพราะรัฐบาลควบคุมงานศิลปะ จำกัดอุปกรณ์วาดรูป เช่น สี รัฐสร้างงานศิลปะสงครามขึ้นมา ศิลปินจำนวนไม่น้อยต้องไปทำงานให้รัฐบาลทหาร
หลังสงคราม งานตระกูลชินฮันงะก็แทบไม่กลับมาอีกเลย
แต่ก็มีคนตะวันตกที่สนใจงานนี้
หนึ่งในนั้นคือ สตีฟ จ๊อบส์
1
ในเดือนมีนาคม 1983 ชายหนุ่มสามคนไปเยือนแกลเลอรีศิลปะแห่งหนึ่งที่ย่านกินซา โตเกียว ทั้งสามแต่งตัวธรรมดา สวมเสื้อยืด กางเกงยีน สตีฟ จ๊อบส์ วัย 28 เป็นหนึ่งในนั้น
แม้จะยังหนุ่มมาก แต่ตอนนั้นเขาก่อตั้งบริษัท Apple แล้ว
อีกสองคนที่ไปกับจ๊อบส์คือ สตีฟ วอซเนียก ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งชื่อ ร็อด ฮอล์ท
2
มัตสึโอกะ ฮะรุโอะ เจ้าหน้าที่แกลเลอรีต้อนรับแขกอเมริกันทั้งสามอย่างดี ในบทสัมภาษณ์ในเวลาต่อมา มัตสึโอกะเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า สตีฟ จ๊อบส์ บอกเขาว่า “ผมอยากสะสมภาพชินฮันงะ โปรดสอนผมทุกอย่าง” แล้วยื่นนามบัตรให้
1
มัตสึโอกะพาแขกไปที่หลังร้าน ที่เก็บภาพพิมพ์แกะไม้ชินฮันงะ เขาไม่รู้ว่าแขกทั้งสามเป็นใคร แต่จากการสนทนา ดูเหมือนชายหนุ่มนาม สตีฟ จ๊อบส์ รู้จักชินฮันงะดี ต่อมาเขาอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ จึงรู้ว่าคนมาเยือนเป็นเจ้าของบริษัทแอปเปิล
1
วันแรกที่เจอกัน สตีฟ จ๊อบส์ ซื้อภาพพิมพ์แกะไม้ไปสองภาพ รูปหนึ่งเป็นภูเขาฟูจิและซากุระบาน อีกรูปหนึ่งเป็นภาพหญิงสาวเพิ่งตื่นนอน ชื่อภาพ Morning Hair (朝寝髪) ผลงานปี 1930 ของ โทริอิ โคทอนโดะ ราคาเจ็ดพันดอลลาร์ รูปนี้มีราคาแพงเพราะหายาก มันเป็นภาพที่ถูกรัฐแบนในตอนสงคราม แต่มีบางภาพหลุดรอดออกมา
1
มัตสึโอกะเล่าว่า เขารู้สึกทึ่งในรสนิยมของจ๊อบส์ทันที
1
ภาพ Morning Hair (朝寝髪 )
การพบกันของคนซื้อและคนขายภาพครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพของคนสองชาตินานถึง 28 ปี
สิ่งที่ประทับใจมัตสึโอกะคือ รสนิยมด้านความงามของจ๊อบส์ จ๊อบส์มองออกว่าภาพชิ้นไหนเป็นงานดี หรือเป็นมาสเตอร์พีซ ราวกับว่าเขาศึกษาเรื่องนี้มานานหลายสิบปี
ความจริงจ๊อบส์รู้จักงานชินฮันงะมาตั้งแต่วัยรุ่น เพราะบ้านของเพื่อนวัยเด็ก (และต่อมาเป็นผู้ร่วมงานของเขา) บิล เฟอร์นานเดซ มีภาพพิมพ์แกะไม้ชินฮันงะ
4
แม่ของบิลชอบภาพชินฮันงะของญี่ปุ่น แขวนไว้ในห้องนั่งเล่น เธอเรียนศิลปะญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ส่วนตาของเฟอร์นานเดซสะสมภาพของศิลปินชินฮันงะที่มีชื่อเสียง ฮะซูอิ คาวะเซะ
เมื่อเขาเห็นภาพพิมพ์แกะไม้ฝีมือคาวะเซะครั้งแรก เขาตะลึง ไม่อยากเชื่อว่าญี่ปุ่นสร้างสรรค์งานศิลปะละเอียดอ่อนในระดับนี้ มันเป็นงานกราฟิกชั้นสูง
1
จ๊อบส์จึงชอบงานของคาวะเซะเป็นพิเศษ
1
ภาพที่เขาเห็นที่บ้านบิลซึ่งจับใจเขาทันทีคือ Senju Waterfall, Akame (1951) ของ ฮะซูอิ คาวะเซะ สีสันจัดจ้าน จิตรกรตัดทอนส่วนรุงรังออกหมด เป็นภาพเรียบง่าย เห็นใบไม้สีแดงชัด น้ำใสแจ๋วกระเซ็น ความเรียบง่ายของภาพแต่งดงามเหลือประมาณ นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นบ่มเพาะให้เขาเข้าสู่สายทาง Minimalism
2
เขาบอกบิลว่าเขาชอบงานแบบนี้ สะอาด น้อยที่สุด เรียบ แต่งดงาม
ตั้งแต่นั้นหลักการของเขาคือ simplicity
ในโลกของภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น จิตรกรสามคนที่เป็นยักษ์ใหญ่ประกอบด้วย 3ฮ
ภาพ Senju Waterfall, Akame ของ ฮะซูอิ คาวะเซะ
ฮ 1 คือโฮขุไซ
ฮ 2 คือฮิโรชิเกะ
ฮ 3 คือ ฮะซูอิ คาวะเซะ
ฮะซูอิ คาวะเซะ (川瀬 巴水 Hasui Kawase 1883 – 1957) เป็นศิลปินแนวชินฮันงะชั้นนำ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติของญี่ปุ่น ตลอดสี่สิบปีในวงการ เขาสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ราว 620 ภาพ
งานของเขาส่วนมากเป็นทิวทัศน์ทั่วญี่ปุ่น ไม่เน้นสถานที่สำคัญหรือมีชื่อเสียง แต่เป็นมุมเล็กๆ ที่สื่ออารมณ์และตัวตนของชนบทญี่ปุ่น
เทคนิคการทำภาพพิมพ์หิมะของเขาถือว่าสุดยอด
สตีฟ จ๊อบส์ สะสมงานของ ฮะซูอิ คาวะเซะ ถึง 25 รูป และอยากได้งานของคาวะเซะก่อนปี 1923
ผลงานส่วนหนึ่งของคาวะเซะถูกทำลายในแผ่นดินไหวปี 1923 ทำลายสตูดิโอของเขาราบเรียบ ผลงานจำนวนหนึ่งสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย
1
จุดหนึ่งที่จ๊อบส์เชื่อมกับ ฮะซูอิ คาวะเซะ ได้ดี (แม้จะไม่เคยเจอกัน จ๊อบส์อายุราวสองขวบเมื่อคาวะเซะตาย) ก็น่าจะเป็นวิธีคิด
1
ฮะซูอิ คาวะเซะ พูดถึงการทำงานร่วมระหว่างคนออกแบบกับช่างพิมพ์ว่า “ในกรณีการพิมพ์ภาพ เราต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ช่างพิมพ์ที่มีประสบการณ์น้อยอาจเสียภาพพิมพ์ 7-8 แผ่นก่อนจะพิมพ์สำเร็จสักใบ ถ้าเป็นช่างที่มีประสบการณ์ ก็พิมพ์ภาพสุดท้ายหลังจากลอง 2-3 ครั้ง มันเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวที่ต่อให้พยายามดีแค่ไหน ก็พิมพ์ภาพไม่สำเร็จ นี่คือส่วนยากของศิลปะแบบภาพประกอบหลายอย่าง มันจำต้องมีการสื่อสารทางใจ ถ้าทุกฝ่ายไม่เชื่อมกันพอดี ก็ทำไม่ได้ เมื่อจิตของผมและช่างคนอื่นเชื่อมต่อกัน งานดีๆ ก็บังเกิดขึ้น”
3
การพิมพ์ภาพชินฮันงะต้องใช้แม่พิมพ์ไม้หลายสิบชิ้น พิมพ์ทีละสีอย่างใจเย็นและอดทน ต้องใช้ความอุตสาหะยิ่งยวด
4
หลักการพิมพ์ภาพของคาวะเซะก็เหมือนหลักการทำงานสร้างผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ใช้คนจำนวนมากมาร่วมทำงานชิ้นเดียว มันเป็นงานศิลปะเช่นกัน
1
ดังนั้นเมื่อเปิดตัวคอมพิวเตอร์ใหม่ ก็ไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่น
สตีฟ จ๊อบส์ แวะไปที่แกลเลอรีแทบทุกครั้งที่เขาไปญี่ปุ่น บางวันเขาไปเยือนแกลเลอรีสองเที่ยว เขาชอบไปเยือนร้านแสดงภาพตอนเช้าๆ ขณะที่ร้านยังไม่มีลูกค้า ครั้งหนึ่งเขาพาลูกสาวไปดูภาพด้วย
1
ในบทสัมภาษณ์ มัตสึโอกะเล่าว่าจ๊อบส์ไม่ใช้เวลาเลือกภาพนาน ดูเหมือนว่า จ๊อบส์รู้มาแล้วว่าจะต้องการภาพอะไร
สตีฟ จ๊อบส์ บอกมัตสึโอกะให้ช่วยสอนเขาในเรื่องงานชินฮันงะ แต่คนญี่ปุ่นตอบว่า “คุณรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว”
ทุกครั้งที่ไปเยือนร้าน จ๊อบส์มักคุยเรื่องหนังสือและงานเขียนที่เกี่ยวกับชินฮันงะ
มัตสึโอกะเล่าว่าจ๊อบส์เลือกภาพแบบสบายๆ เขาซื้อภาพจากแกลเลอรีไป 43 ภาพ และกำลังจองเพิ่มอีก 33 ภาพ
สตีฟ จ๊อบส์ เลือกภาพแกะไม้ตามความรู้สึกของตนเอง และภาพส่วนใหญ่ก็เป็นงานสำคัญ เขาชอบภาพที่ให้ความรู้สึกสงบ สันติ สีสันจัดจ้าน
1
เขาชอบภาพอารมณ์เดียวดายของ ฮะซูอิ คาวะเซะ เช่น Karatsu (唐津 - 米蔵跡 1922)
ภาพ Karatsu ของ ฮะซูอิ คาวะเซะ
ภาพ Shin-ohashi (新大橋 1926) เป็นภาพสะพานหม่นๆ กลางฝนโปรย แสงไฟอาบบางส่วนของเสา
ภาพ Terajima Village in the Evening Snow (1920) เป็นภาพหนทางในหมู่บ้านขาวโพลนด้วยหิมะที่ปกคลุม ชายคนเดียวเดินตามทางสายน้อย แสงไฟจากบางบ้าน หิมะโปรย หม่นแต่สวยสัมผัสหัวใจ
มัตสึโอกะเชื่อว่าจ๊อบส์สัมผัสอารมณ์โหยหาอดีตในภาพเหล่านั้น
ดูเหมือนจิตรกรกับจ๊อบส์อยู่ในโลกเดียวกัน รสนิยมเหมือนกัน วิธีคิดแบบเดียวกัน
ภาพ Shin-ohashi ของ ฮะซูอิ คาวะเซะ / ภาพ Terajima Village in the Evening Snow ของ ฮะซูอิ คาวะเซะ
มิตรภาพของมัตสึโอกะกับจ๊อบส์เกิดขึ้นเพราะศิลปะ เชื่อมกันเพราะศิลปะ แต่มันกินขอบเขตกว้างกว่าศิลปะ จ๊อบส์เล่าเรื่องธุรกิจของเขาให้มัตสึโอกะฟัง บางครั้งก็เล่าว่า ไปติดต่อทางธุรกิจกับ มอริตะ อะกิโอะ ประธานบริษัทโซนียังไง
เขาเล่าให้มัตสึโอกะฟังว่าประธานบริษัทโซนีพาเขาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ท่องชมโตเกียว เขาเล่าว่าเขากำลังเจรจากับโซนีเรื่องแอปเปิลใช้ Trinitron tubes ของโซนี และเมื่อการเจรจาประสบผล จ๊อบส์ก็ดีใจแบบเด็กๆ
เมื่อ สตีฟ จ๊อบส์ ถูกขับออกจากบริษัทแอปเปิลที่เขาก่อตั้ง ก็ปรับทุกข์กับมัตสึโอกะ เหมือนเล่าเรื่องให้เพื่อนสนิทคนหนึ่งฟัง
การเชื่อมกับโลกศิลปะเป็นการผ่อนคลายเขาจากความวุ่นวายของโลกธุรกิจ ศิลปะช่วยสมานแผลของจ๊อบส์
ศิลปะยังเป็นสะพานของมิตรภาพ
เมื่อบิลแต่งงาน จ๊อบส์มอบของขวัญเป็นภาพชินฮันงะของคาวะเซะปี 1936 ชื่อรูป Fudo Hill, Lake Yamanaka
1
วันหนึ่งจ๊อบส์มอบของขวัญแก่แม่ของบิล ผู้ที่ปราศจากเธอ จ๊อบส์จะไม่รู้จักชินฮันงะ ของขวัญชิ้นนั้นมาจากญี่ปุ่น เป็นหนังสือภาพพิมพ์ของคาวะเซะ เธอรู้สึกตื้นตันใจ และดีใจที่เป็นคนสะกิดใจเขาให้หลงใหลงานศิลปะญี่ปุ่น
3
จ๊อบส์ตายในปี 2011 ยี่สิบแปดปีหลังจากเขาไปเยือนแกลเลอรีที่กินซา
2
มัตสึโอกะติดต่อกับจ๊อบส์ครั้งสุดท้ายในฤดูใบไม้ร่วงปี 2003 เป็นเวลาที่เขาออกจากแกลเลอรีแล้ว ไปเปิดแกลเลอรีของตนเอง
1
วันหนึ่งเมื่อมัตสึโอกะอ่านหนังสือประวัติของ สตีฟ จ๊อบส์ เขาเห็นรูปบ้านของจ๊อบส์ มีรูปภาพพิมพ์แกะไม้แขวนอยู่
1
มันคือภาพแรกที่จ๊อบส์ซื้อจากแกลเลอรีย่านกินซา คือ Morning Hair (朝寝髪) มันทำให้มัตสึโอกะมีความสุข ที่เพื่อนต่างชาติยังเชื่อมกับโลกของภาพพิมพ์แกะไม้จนวาระสุดท้าย
1
เขารู้สึกเสียดายที่จ๊อบส์ตายเร็วเกินไป ไม่เช่นนั้นจ๊อบส์อาจมีบทบาทในโลกของศิลปะภาพแกะไม้
1
สตีฟ จ๊อบส์ เป็นหนึ่งในนักธุรกิจน้อยคนที่รักศิลปะจริงๆ และอยู่กับมัน ไม่ใช่เห็นงานศิลปะเป็นการลงทุน
3
ภาพที่แขวนบนกำแพงคือภาพแรกที่จ๊อบส์ซื้อจากแกลเลอรี Morning Hair
คนบางคนผ่อนคลายด้วยภาพยนตร์ ดนตรี แต่จ๊อบส์ผ่อนคลายด้วยงานศิลปะดีๆ และปรัชญาชีวิตลุ่มลึก แต่เรียบง่าย เช่น เซน
8
ลูกสาวจ๊อบส์เล่าในหนังสือว่า ในห้องนอนของจ๊อบส์ก่อนตายไม่นาน แขวนภาพพิมพ์ของคาวะเซะสองภาพ เป็นรูปวัดในตอนตะวันตกดินกับตอนรุ่งสาง
1
ภาพพิมพ์แกะไม้อันงดงามเป็นเสมือนยานเวลา พาเขาข้ามไปในโลกอีกโลกหนึ่ง ณ อีกเวลาหนึ่ง จุดที่โลกหยุดหมุน แม้แต่ลมหายใจก็ช้าลง และโลกอยู่ในสภาวะสันติอย่างแท้จริง
2
ดูจากผลงานทั้งชีวิตของเขา เราอาจพูดได้เต็มปากว่า สตีฟ จ๊อบส์ ก็คือจิตรกรชินฮันงะคนหนึ่ง
(ข้อมูลบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ มัตสึโอกะ ฮะรุโอะ และ บิล เฟอร์นานเดซ)
1
โฆษณา