30 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง

เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 6

ปั้นกระเป๋ารถเมล์และเด็กปั๊มเป็นนักร้อง
1
- ตอน 1 -
ปี 2495 เด็กหนุ่มเรือเกลือคนหนึ่งขึ้นฝั่งขณะที่เรือจอดค้างคืนที่ท่าน้ำวัดแหลมสุวรรณาราม ตำบลท่าฉลอม คืนนั้นมีงานวัด เขาจึงไปดูการเล่นดนตรีของวงคณะบางกอกแมมโบ มีนักร้องมากมายมาร่วมงาน เช่น สุรพล สมบัติเจริญ เอมอร วิเศษสุข สมศรี ม่วงศรเขียว สมยศ ทัศนพันธุ์ ฯลฯ
1
คืนนั้นเขาเห็นนักดนตรีบนเวทีเป่าแซกโซโฟน เกิดแรงบันดาลใจอยากเล่นอย่างนั้นบ้าง
แต่เขาเป็นเพียงคนยากจนหาเช้ากินค่ำ อย่าว่าซื้อแซกโซโฟนมาเป่าเลย ซื้อข้าวกินยังมีปัญหา
เด็กหนุ่มคนนี้ชื่อ ฉลอง ภู่สว่าง ชาวสมุทรสาคร พ่อแม่มีอาชีพทำนาเกลือ ครอบครัวยากจน เรียนถึงชั้น ป. 4 ก็ต้องออกมาทำงาน เป็นเด็กเดินเรือขนส่งเกลือไปขายที่กรุงเทพฯ
ความฝันที่จะเข้าสู่วงการเพลงอยู่ในใจเขาตลอด เขาไปร้องเพลงประกวดหลายเวที ร้องเพลงได้ดี คว้ารางวัลมาเรื่อยๆ
เมื่อครบกำหนดเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ. 2502 เขาก็เป็นทหารเกณฑ์สองปี สังกัดหน่วยทหารเรือที่สัตหีบ ชลบุรี แล้วย้ายไปอยู่กองดุริยางค์ทหารเรือ ที่นี่ได้เรียนรู้เรื่องดนตรี การเขียนโน้ตเพลง และได้หัดเป่าแซกโซโฟนจริง ๆ
1
หลังจากปลดประจำการ เขาไปสมัครเป็นนักร้องและนักดนตรีคณะดาราน้อยที่ชลบุรี มีรายได้คืนละ 200 - 300 บาท
เพื่อนนักร้องรุ่นนั้นก็มี เรียม ดาราน้อย บุปผา สายชล บรรจบ เจริญพร พนม นพพร
ต่อมาเขาออกมาทำธุรกิจเรือทราย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงขายเรือทราย หันเข้าหาวงการเพลงอีกครั้ง เล่นดนตรีตามวงต่างๆ เช่น วงดนตรี พนม นพพร วงบุปผา สายชล วงดนตรีจุฬารัตน์ วงศรีไพร ใจพระ วงเสน่ห์ โกมรชุน ชาตรี ศรีชล และลงท้ายเป็นนักแต่งเพลงให้นักร้องวงบรรจบ เจริญพร
ฉลอง ภู่สว่าง
วันหนึ่งเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาสมัครอยู่ในวงของเขา ชื่อ มานะ ศิลปดนตรี​ เป็นกระเป๋ารถเมล์ บ้านเดิมอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ครอบครัวเป็นนักดนตรีพิณพาทย์ พ่อเป็นมือระนาด จึงมีดนตรีอยู่ในสายเลือด
ครอบครัวมานะพอมีอันจะกิน แต่ถูกโกงจนหมดตัว มานะจึงต้องออกจากโรงเรียนมาหางานทำช่วยครอบครัว เป็นเด็กขายขนมปัง เด็กเสิร์ฟ และกระเป๋ารถเมล์
ช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ มานะชอบร้องเพลง ไปสมัครร้องเพลงในรายการเลียนแบบดาราที่จัดโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 แต่สอบตก
2
ต่อมาเพื่อนรุ่นพี่ที่ขับรถเมล์พามานะไปฝากวงเทวัญ ขวัญพนา เขาเป็นนักร้องและมือกลอง แล้วย้ายไปวงกาสะลอง ไปจัดรายวิทยุพักหนึ่ง ปี 2515 เขาไปอยู่กับวงบรรจบ เจริญพร ซึ่ง ฉลอง ภู่สว่าง เป็นสมาชิกวง
ฉลอง ภู่สว่าง แต่งเพลงให้มานะร้องห้าเพลง พาไปบันทึกเสียง เช่น เพลง คุณนายใจบุญ ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งเชื่อมกับ คุณนายโรงแรม ที่เขาเคยแต่งให้ ระพิน ภูไท ร้อง
ตั้งชื่อนักร้องว่า จีระพันธ์ วีระพงษ์
หลังจากนั้น จีระพันธ์ วีระพงษ์ ก็ได้เกิดในวงการ
จีระพันธ์ วีระพงษ์
หลังจากแยกทางกับวงบรรจบ เจริญพร ฉลอง ภู่สว่าง ไปอยู่กับวงลูกทุ่งเสียงทองของนายห้างประกิจ ศุภวิทยาโภคี ต่อมาก็ตั้งวงดนตรีของตัวเอง ชื่อวงพิณศรีวิชัย ให้ ระพิน ภูไท เป็นหัวหน้าวง ตนเองเป็นนักแต่งเพลง
ฉลอง ภู่สว่าง แต่งเพลงให้นักร้องและวงดนตรีต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งเพลงประกอบภาพยนตร์ เช่น เพลงรักดอกไม้บาน (2522) แสดงโดย นันทิดา แก้วบัวสาย
เขาบอกว่า การแต่งเพลงก็เหมือนการย่อละครยาวๆ มาเป็นเพลงสั้นๆ เพลงเดียว ต้องกระชับ จับใจความได้
1
ในวันบันทึกเสียง เขาจะร้องเพลงที่แต่งให้ฟังก่อนอัด เพื่อนักร้องจะรู้จังหวะจะโคน ความเร็วของทั้งเพลง ฯลฯ ดูว่านักร้องแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยอะไร น้ำเสียงเป็นอย่างไร เหมาะกับร้องเพลงแบบไหน
ฉลอง ภู่สว่าง เป็นคนหัวไว แต่งเพลงเร็ว ครั้งหนึ่งแต่งเพลงหกเพลงในวันเดียว คือเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง เทพเจ้าบางปูน ตอนนั้นคิดค่าเพลงเพลงละหมื่น วันนั้นจึงมีรายได้หกหมื่น
2
เขาค้นพบว่าท้ายที่สุดแล้ว เขาเหมาะกับการแต่งเพลงมากกว่า ก็แต่งเพลงอย่างต่อเนื่อง สร้างนักร้องดังมากมาย
1
ไม่เพียงแต่ปั้นกระเป๋ารถเมล์เป็นนักร้อง ฉลองยังปั้นเด็กอู่ซ่อมรถ ศรชัย เมฆวิเชียร ขึ้นมาเป็นนักร้องดัง
นักร้องอีกคนหนึ่งที่ครู ฉลอง ภู่สว่าง ปั้น คือ ภูษิต ภู่สว่าง
ภูษิต ภู่สว่าง (ชื่อจริง เลี้ยน สอนโต) ชาวสุโขทัย เคยทำงานอยู่การไฟฟ้าฯหลายปี
ภูษิตชอบการร้องเพลงมาก จึงเข้าประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ชนะประกวดร้องเพลงที่จัดโดยสถานีวิทยุยานเกราะ ร้องเพลงตามวงดนตรีเล็กๆ ได้ค่าตัวครั้งละ 10 – 20 บาท
ต่อมาสมัครเป็นนักร้องวง โฆษิต นพคุณ ใช้ชื่อว่า มงคล ขวัญนคร ร้องเพลงในแนวของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ทำงานทั้งร้องเพลงและแบกกลอง
จนเมื่อวงยุบ ก็ไปสมัครเป็นนักร้องวงพิณศรีวิชัย เป็นเวลาเดียวกับที่นักร้องประจำวง ระพิน ภูไท ลาออกไปตั้งวงเอง ครูฉลอง ภู่สว่าง คิดหานักร้องมาแทน ระพิน ภูไท เห็นหน่วยก้านของ ภูษิต ภู่สว่าง ก็ให้เขาเป็นนักร้องในวง
ปี 2515 ภูษิต ภู่สว่าง ได้บันทึกแผ่นเสียงชุดแรก 4 เพลงคือ หยุดก่อนคนจน กัมพูชาที่รัก ยอมตายถ้าได้เธอ บันทึกลวง
ภูษิต ภู่สว่างกลายเป็นนักร้องดัง
ในปี 2515 ครูฉลอง ภู่สว่าง แต่งเพลงหนึ่งให้ ชายธง ทรงพล ชื่อ ปู่ไข่ไก่หลง
“ช่างเถอะคนงาม ขอปล่อยตามตามวาสนา พี่ไม่มีปริญญา ขวัญตามองหน้าก็เมิน ลืมได้ลืมไป ลืมไปลืมได้ก็เชิญ พี่จนคนไร้เงิน เดินย่ำต๊อกน้องบอกว่าโซ
กอดกับคนจน หน้ามนเจ้าบ่นว่าเหม็น กอดคนมีขี่เบนซ์ เนื้อเย็นใจเต้นตาโต ชี่นอกชื่นใจ ชื่นใจล่ะผัวใหม่เป็นโก๋ ตกเย็นนั่งเบนซ์โชว์ โก้อย่างนี้ถึงลืมพี่ชาวนา”
เพลงนี้ดังระเบิด ได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย พ.ศ. 2534 ถูกนำไปร้องหลายเวอร์ชั่น เช่น ดอน สอนระเบียบ จักรพรรณ์ อาบครบุรี (จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ - ก๊อท) รวมทั้ง ‘แมน ซิตี้ ไลออน’ ชาย เมืองสิงห์
1
และที่ไม่น่าเชื่อก็คือนักร้องฮ่องกง ฟรานซิส ยิป
มันพิสูจน์ว่าเพลงลูกทุ่งไทยจำนวนมากมีความเป็นสากล เพลงดีไม่มีเส้นพรมแดน
ที่น่าสนใจคือการดึงนักร้องเพลงจีนมาร้องเพลงลูกทุ่งไทยหากเพลงไม่ไพเราะจริง คงยากที่จะดึงตัวมาร้องได้
เพลงลูกทุ่งไทยในยุคทองมีเพลงไพเราะจำนวนมาก และน่าทึ่ง น่าเสียดายหากมันถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา และมีผู้ฟังแค่กลุ่มเดียวที่เล็กลงไปเรื่อยๆ
2
- ตอน 2-
นักแต่งเพลงหนุ่มคนหนึ่งหลงรักผู้หญิงในวงรวมดาวกระจาย และอกหัก จึงแต่งเพลงระบายความรู้สึกออกมา เนื้อเพลงว่า
“พอทีนะคุณ การุณย์ผู้ชายเถิดหนา อย่าคิดเอาความโสภา พร่าหัวใจผู้ชาย
คุณสวย คุณเด่น ใครเห็นเป็นต้องงมงาย อดรักคุณนั้นไม่ได้ ยอมตายแทบเบื้องบาทคุณ
คุณฆ่าผู้ชาย ให้ตายมาแล้วมากล้น ไม่พ้นไปได้สักคน หน้ามนช่างไม่การุณย์”
นักร้องชายคนหนึ่งในวงชอบเพลงนี้ ก็ขอนำไปร้องบนเวที ต่อมานักร้องคนนั้นย้ายไปอยู่วงศรคีรี ศรีประจวบ ศรคีรีได้ยินเพลงก็ถามชื่อคนแต่ง นักร้องคนนั้นก็ตอบว่าแต่งเอง ศรคีรีจึงขอมาอัดแผ่นเสียง
1
เพลงนี้ดังทันที เมื่อนักแต่งเพลงหนุ่มรู้เข้าก็ทักท้วง แต่ไม่มีใครอยากเชื่อว่าเขามีความสามารถแต่งเพลงระดับนี้ได้ ใครๆ ก็เชื่อว่าเป็นงานของครูไพบูลย์ บุตรขัน ต่อมาก็เคลียร์กันได้
1
เพลงนี้ทำให้เขาค้นพบตัวเองว่าเป็นนักแต่งเพลง ไม่ใช่นักร้อง
นักแต่งเพลงหนุ่มคนนั้นชื่อ ชลธี ธารทอง และเพลงนั้นชื่อ พอหรือยัง
3
ชลธี ธารทอง มีชื่อจริงว่า สมนึก ทองมา เป็นชาวชลบุรี ครอบครัวยากจน แม่ตายตอนเขาเกิด เรียนจบชั้นมัธยม
1
ตั้งแต่เล็กเขาทำงานทุกอย่าง ทำไร่ทำนา ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ กรรมกร ก่อสร้าง นักพากย์หนัง ไปจนถึงนักมวย
ชีวิตของ ชลธี ธารทอง ผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน แม่ตายตอนเขาอายุหกเดือน ระหกระเหินไปทั่ว ทำให้มีวัตถุดิบมากมายที่ใช้ในการแต่งเพลง
ครูชลธีเคยเล่าว่า ชีวิตเขาเป็นยิ่งกว่านิยายน้ำเน่า ออกจากท้องแม่ได้หกเดือน แม่ก็ตกเลือดตาย เขาระหกระเหเร่ร่อนไปทุกทิศ ชีวิตที่มีประสบการณ์โชกโชนกลับเป็นข้อได้เปรียบ เพราะทำให้มีวัตถุดิบมากมายในการแต่งเพลง
1
แต่หัวใจของเขาอยู่ที่เสียงเพลง เขาป้วนเปี้ยนตามวงดนตรีต่างๆ จนในที่สุดก็ไปสมัครเข้าวงดนตรี สุรพล สมบัติเจริญ​ แต่เนื่องจากใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงไปทำงานสาย และถูกไล่ออก
เขายังวนเวียนในวงการ อยู่ในวงลิเก การพากย์หนัง ไปทำงานในวงดนตรี เทียนชัย สมยาประเสริฐ แต่ก็อยู่ไม่นาน ในที่สุดก็ไปอยู่กับวงรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทอง ครูสำเนียงตั้งชื่อให้เขาว่า ชลธี ธารทอง ได้ขึ้นร้องเพลง
แม้ไม่ได้เกิดที่นี่ แต่เขาได้เรียนเคล็ดลับการแต่งเพลงจากครูสำเนียง ซึ่งมีการใช้บทกวีโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ในการแต่งเพลง
เขามักแต่งเพลงแล้วก็นำไปให้ครูตรวจและให้คำแนะนำ
เป็นต้นกำเนิดของนักแต่งเพลงลูกทุ่งฉายา เทวดาเพลง
1
ต่อมา ชลธี ธารทอง ออกจากวงรวมดาวกระจาย ตั้งวงดนตรีใหม่ชื่อวงสุรพัฒน์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงคิดออกจากวงการ
วันหนึ่งขณะแวะที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล เขาพบเด็กล้างรถคนหนึ่ง น้ำเสียงดี และมีแววเป็นนักร้อง จึงมอบเพลงให้ร้อง คือเพลง ลูกสาวผู้การ และ แหม่มปลาร้า
เด็กปั๊มคนนั้นต่อมาก็คือนักร้องดัง สายัณห์ สัญญา
ความดังของ สายัณห์ สัญญา ทำให้เขาไม่อาจออกจากวงการ เขาแต่งเพลงสร้างนักร้องใหม่หลายคน เช่น เสกศักดิ์ ภู่กันทอง​ จากเพลง ทหารอากาศขาดรัก
“ลูกทัพอากาศสามารถวิชา เก่งกล้าทุกคน แต่แปลกพิกล จีบสาวไม่เป็น”
ตลอดหลายสิบปีต่อมา เทวดาเพลงสร้างนักร้องลูกทุ่งใหม่ๆ จำนวนมาก นอกจาก สายัณห์ สัญญา และ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง​ แล้ว ก็มี ยอดรัก สลักใจ ศรเพชร ศรสุพรรณ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง เสรีย์ รุ่งสว่าง ก๊อต จักรพันธ์ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ดำรง วงศ์ทอง สุนารี ราชสีมา อ้อยทิพย์ ปัญญาธร ฯลฯ
1
เพลงของ ชลธี ธารทอง มีเสน่ห์ต่างจากเพลงของคนอื่น ไพเราะ จดจำง่าย มีศิลปะการประพันธ์เช่นกวี
ชลธี ธารทอง เป็นนักแต่งเพลงที่สายตาเหมือนเรดาร์ จับทุกอย่างที่เห็นมาแต่งเป็นเพลงได้ เช่น ช่วงหนึ่งเขาอยู่แถวพรานนก ข้ามฟากที่ท่าพระจันทร์ เมื่อเดินผ่านป้อมตำรวจ เห็นตำรวจนายนั้นกำลังมองสาวธรรมศาสตร์ที่ผ่านไป ก็ได้ไอเดียแต่งเพลง ลูกสาวผู้การ : “เกิดมาจน ทุกข์เหลือทนหนอพลตำรวจ เรื่องศักดิ์ศรีไม่มีโอ้อวด พลตำรวจผู้น้อยด้อยขั้น กลุ้มใจนัก ผมหลงรักลูกสาวนายพัน เธอเดินผ่านป้อมยามทุกวัน เก็บไปฝันถึงจนงมงาย...”
ครั้งหนึ่งขับรถพาลูกไปเยี่ยมแม่ยาย เมื่อไปถึงบางปะอิน ผ่านควายฝูงหนึ่ง แลเห็นเด็กคนหนึ่งข้ามถนนตัดหน้ารถ เดินไปฟังเพลงไป ก็ได้ไอเดียเพลง อีสาวทรานซิสเตอร์
1
เนื้อเพลงว่า “ฉันคนชาวนาหน้าตาเซ่อ ฟังทรานซิสเตอร์ก็พอใจ ไปไหนก็เอาไปด้วย ขึ้นเขาลงห้วยก็เอาไป ฟังเพลงตะลุงบ้านนา ฟังเพลงตะลุงบ้านนา เขาว่าเราบ้า ก็ช่างเขาปะไร คนร้องคือ อ้อยทิพย์ ปัญญาธร ก็โด่งดังไป
1
อีกครั้งหนึ่ง ชลธี ธารทอง นั่งดื่มเบียร์ที่บางปู แล้วต่อไปที่บางแสนตอนเย็น แลเห็นชาวประมงพาเรือตังเกเข้าฝั่ง เพลงก็ไหลออกมาทันที
“ไอ้หนุ่มตังเกร่อนเร่หาปลา ล่องลอยนาวาเห็นน้ำกับฟ้าเป็นเพื่อน ลากอวนจับปลากลางทะเล นอนบนตังเกแรมเดือน ผิวคล้ำดำเปื้อนคาวปลา”
ก็คือเพลง ไอ้หนุ่มตังเก ที่โด่งดัง
เสรี รุ่งสว่าง ก็เป็นนักร้องอีกคนหนึ่งที่ ชลธี ธารทอง ปั้น
ชื่อจริง กิตติกร รุ่งสว่าง ชาวบางปลาม้า สุพรรณบุรี เรียนจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาทำงาน เป็นกรรมกรก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป
เสียงของเขาเข้าหูครูสัมฤทธิ์ รุ่งโรจน์ และ เอื้อ อารีย์ จึงถูกชวนมาเป็นนักร้องอาชีพ มีนายห้าง ประจวบ จำปาทอง ผลักดันอีกคน เริ่มต้นจากเพลง จดหมายจากแม่ แต่งโดย ชลธี ธารทอง
“ขวัญหาย จดหมายของแม่ส่งมา เนื้อจดหมายเขียนว่า ทุกข์ตรมเจียนบ้า นาฝนแล้ง พ่อก็ซ้ำมีอันต้องตาย เพราะมีโจรปล้นควาย ใช้อุบายเสแสร้ง...”
เป็นเพลงทำนองดีเพลงหนึ่ง เพลงอื่นๆ เช่น เทพธิดาผ้าซิ่น
“ว่างจากงานหว่านไถ จะร้อยมาลัยใบข้าว ห้อยคอสาวจำปา เจ้าเป็นเทพธิดาของบ้านนาบ้านทุ่ง นุ่งผ้าถุงไทยเดิม หน้าสวยด้วยแดดแรง แก้มแดงไม่แต่งเติม เจ้าไม่เคยเห่อเหิม เติมต่อดินสอพอง”
1
ต่อมาชลธีแต่งเพลง ไม้เรียว ให้ เสรี รุ่งสว่าง ร้อง
“ไม้เรียวหลวงตา ปรารถนาให้ความฉลาด กินข้าวก้นบาตร ก็อาจเป็นรัฐมนตรี อย่าไปถือสาเมื่อตอนหลวงตาจู้จี้ เด็กวัดคงไปได้ดี ด้วยบารมีหลวงตา”
ทั้ง เทพธิดาผ้าซิ่น และ ไม้เรียว ได้รับรางวัลจากงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย
ชลธีก็ยังชอบแต่งเพลงสนุกๆ ขำๆ
“เรียกพี่ได้ไหม แล้วพี่จะให้กินขนมหมื่นห้า ถ้าเรียกอา ลดมาห้าพัน เรียกลุงเลิกพลัน ไม่ให้สักพันแน่นอน”
ชื่อเพลงก็ตรงกับเนื้อหาคือ เรียกพี่ได้ไหม
นักร้องอีกคนหนึ่งที่ ชลธี ธารทอง ปั้นคือ ยอดรัก สลักใจ
ยอดรัก สลักใจ (ชื่อจริง นิพนธ์ ไพรวัลย์) ชาวพิจิตร เรียนจบชั้น ป. 4 ก็ออกจากโรงเรียน เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย แต่รักเรียน และรักร้องเพลง
เขาสมัครร้องเพลงในคณะรำวงเกตุน้อยวัฒนา ได้ค่าเหนื่อยมาครั้งละ 5 - 10 บาท ระหว่างนั้นก็ซื้อหนังสือมาศึกษาเอง แล้วสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ปี 2534 เขาเรียนที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน และยังเรียนจนจบปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.บ.) สาขาศิลปศาสตร์ สายดนตรีและศิลปะการแสดง วิทยาลัยครูธนบุรี
1
ยอดรักหาเงินโดยร้องเพลงในห้องอาหารที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ วันหนึ่งขณะร้องเพลงในร้านอาหาร เด็ดดวง ดอกรัก นักจัดรายการของสถานีวิทยุ ท.อ. 04 ตาคลี ได้ฟังเสียงร้องของเขา เกิดความประทับใจ พาไปฝากฝังกับครูชลธี ธารทอง
ชลธี ธารทอง ตั้งชื่อเขาว่า ยอดรัก ลูกพิจิตร ต่อมาเปลี่ยนเป็น ยอดรัก สลักใจ อัดแผ่นเสียง 3 เพลงคือ สงกรานต์บ้านนา น้ำสังข์หลั่งน้ำตาริน เต่าหมายจันทร์
เพลงที่ทำชื่อเสียงให้ชุดแรก เช่น จดหมาย​จากแนวหน้า น้ำสังข์หลั่งน้ำตาริน ห่มธงนอนตาย ทหารเรือมาแล้ว หลังจากนั้นมี เพลงอีกมากมาย
เพลงฮิตที่สุดคือ สามสิบยังแจ๋ว
ยอดรัก สลักใจ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับปี 2551 วัย 52 ปี
เพลงสุดท้ายที่ยอดรักขับร้อง คือเพลง ยอดรัก แต่งโดย บอย โกสิยพงษ์
โฆษณา