Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Money Halal
•
ติดตาม
5 มิ.ย. 2023 เวลา 01:58 • ธุรกิจ
ทำไมการจำนำกับ ธ.อิสลามหรือสหกรณ์อิสลาม จึงไม่มี “ดอกเบี้ย” เหมือนการจำนำทั่วไป
การจำนำ - จำนอง Mortgage or Pledge หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า “อัรเราะห์นู” คือการนำ “ทรัพย์สิน” หนึ่ง
เป็นประกันให้กับ “หนี้” และทรัพย์สินนี้จะ “ชำระหนี้ให้” เมื่อผู้จำนำ-จำนอง “ไม่สามารถชำระหนี้ได้”
ส่วนในด้านกฎหมาย จำนำ หมายถึง “สังหาริมทรัพย์” ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา เป็นต้น
จำนอง หมายถึง “อสังหาริมทรัพย์” ทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการจำนำ-จำนอง คือการนำทรัพย์ไปเป็น “หลักค้ำประกัน” สำหรับ “การเป็นหนี้” หรือการกู้ยืมนั่นเอง
นั่นหมายความว่า การจำนำ-จำนอง จะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่จะมีการ “กู้ยืมกัน” เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การจำนำ-จำนอง มักจะอยู่พร้อมกับ “สถาบันการเงิน” ทั้งที่เป็นธนาคาร
และไม่ใช่ธนาคาร เช่น โรงรับจำนำ สถานธนานุเคราะห์ ร้านทอง หรือสหกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งต่อไปผู้เขียนจะขอแบ่งระหว่าง “สถาบันการเงินอิสลาม” และ “สถาบันการเงินทั่วไป” เพื่อให้ทุกท่านเห็นข้อแตกต่างชัดขึ้น
- สถาบันการเงินทั่วไป
ตัวอย่างที่ 1 โรงรับจำนำหรือสถานธนานุเคราะห์ มักจะรับจำนำสิ่งของมีค่าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
เช่น ทอง เพชร นาก เงิน นาฬิกา แว่นตา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือช่าง และของใช้เบ็ดเตล็ด ทุกชนิด
ส่วนการคิดอัตราดอกเบี้ยก็จะเริ่มตั้งแต่ 0.25% - 2% ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินต้น
และแน่นอนว่าหากไม่สามารถผ่อนชำระหรือไถ่ถอนได้ตามวันเวลาที่กำหนด ทรัพย์นั้นก็จะถูกผู้รับจำนำยึดไป
ตัวอย่างที่ 2 บริษัทลิสซิ่ง สินเชื่อ “จำนำเล่มทะเบียนรถ” ซึ่งเล่มทะเบียนก็คือตัวแทนของรถนั่นเอง
ยอดเงินที่สามารถกู้ได้นั้น ก็จะถูกประเมิณราคาจากสภาพของรถเป็นหลัก
การคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้จะอยู่ที่ 24% ต่อปี คิดแบบลดต้นลดดอก
หรือ 0.49% - 1.5% ต่อเดือน คิดแบบคงที่ ทั้งนี้ จะมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท
ตัวอย่างที่ 3 การจำนองโฉนดที่ดินไว้กับธนาคาร เพื่อกู้ยืมสินเชื่อ
ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องจ่าย “ดอกเบี้ย” เงินกู้ให้กับธนาคารอย่างแน่นอน
ฉะนั้น รูปแบบการจำ-จำนองทั้งสามตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น
มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ดอกเบี้ย” อย่างชัดเจน และถือเป็นสิ่ง “ต้องห้าม” (ฮารอม) อย่างไม่ต้องสงสัย
- สถาบันการเงินอิสลาม
กรณีการจำนองโฉนดที่ดินกับธนาคารอิสลามหรือสหกรณ์อิสลาม ก็ใช้วิธีการเหมือนกับธนาคารทั่วไป
เนื่องจากการจำนองต้องทำ ณ สำนักงานที่ดิน เท่านั้น และรูปแบบต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
แต่จะต่างตรงที่รูปแบบสัญญาให้กู้ยืมเงินที่ใช้ เช่น อาจจะใช้หลัก ก้อรดุ้ลฮะซัน อัลมุรอบาหะฮ์ หรือบัยอุ้ลอีนะห์ เป็นต้น
กรณีการจำนำในธนาคารอิสลามและสหกรณ์อิสลาม เช่น สินเชื่อ “จำนำทอง”
โดยธนาคาร-สหกรณ์อาจจะให้กู้ยืม 80% ของมูลค่า ณ ปัจจุบัน และมีสัญญากู้ยืมแบบ “ก็อรดุ้ลฮะซัน”
หรือการให้ยืมโดยไม่คิดผลตอบแทน (สหกรณ์อิสลามส่วนใหญ่จะใช้หลักการนี้)
และจะรับจำนำหรือรับฝากทรัพย์สินโดยใช้หลักการ “วะดีอะห์ ยัด ฎอมานะห์”
ซึ่งธนาคาร-สหกรณ์ต้องดูแลทรัพย์สินอย่างดีและจะต้องรับผิดชอบหากทรัพย์สินเกิดความเสียหาย
และธนาคาร-สหกรณ์ จะเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” หรือ “ค่าดูแลทรัพย์สิน” จากผู้รับฝากได้ด้วย
โดยใช้หลักการ “อัล-อัจรุ” หรือการว่าจ้าง โดยคิดจากมูลค่าของทรัพย์สิน
สรุป ธุรกรรมที่เกิดขึ้น
1. การจำนำ (อัร-เราะห์นู) นำทองไปจำนำเพื่อค้ำประกันหนี้
2. การกู้ยืมโดยไม่คิดผลตอบแทน (ก้อรดุ้ลฮะซัน)
3. การฝากทรัพย์สิน (วะดีอะห์ ยัด ฎอมานะห์)
4. การว่าจ้างให้ดูแลทรัพย์สิน (อัล-อัจรุ)
ส่วนกรณีที่ผู้จำนำหรือผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้นั้น ธนาคาร-สหกรณ์ก็สามารถนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายได้ แต่จะต้องแจ้งให้ผู้จำนำทราบก่อน
หากผู้จำนำไม่อนุญาตให้ขายทรัยพ์นั้น ผู้จำนำก็จะต้องนำเงินส่วนอื่นมาชำระหนี้แทน
ส่วนสิ่งที่จะเป็นรายได้ให้ธนาคาร-สหกรณ์ คือ “ค่าจ้างในการรับฝากทรัพย์สิน” ไม่ใช่การคิด “ดอกเบี้ย” จากการให้กู้ยืมนั่นเอง
ดังนั้น สิ่งดังกล่าวนี้สามารถทำได้ (อนุญาต) ตามหลักการอิสลาม
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านก็คงจะตอบคำถามได้แล้วใช่ไหมว่า
ทำไม การจำนำ-จำนองกับสถาบันการเงินอิสลามถึง “ไม่มีดอกเบี้ย” เหมือนสถาบันการเงินทั่วไป
วัลลอฮุอะลัม
เขียนโดย Money Halal
#ใหการเงินอิสลามเป็นเรื่องง่าย
Ref. หนังสือธนาคารอิสลามและหลักชะรีอะห์ หน้าที่ 207 - 210
___________________________________________
#หลักฐานจากอัลกุรอ่าน
قوله تعالى: {وَإِنْ كُنْتُمْ عَلَى سَفَرٍ وَلَمْ تَجِدُوا كَاتِبًا فَرِهَانٌ مَقْبُوضَةٌ..} الآية:283
ความว่า และถ้าเจ้าอยู่ในระหว่างเดินทางและไม่พบผู้เขียนคนใดก็ให้มีสิ่งค้ำประกันยึดถือไว้ (อัล-บะกอเราะห์ 283)
#หลักฐานจากอัซซุนนะห์
توفي رسول الله صلى الله عليه وسلم ودرعه مرهونة عند يهودي في ثلاثين صاعاً من شعير
ท่านรอซูล (ซ.ล) เสียชีวิตไปโดยเสื้อเกราะของท่านถูกจำนำไว้กับชาวยาฮูดี เป็นประกันหนี้ที่เกิดขึ้นจากข้าวบาเลย์ 30 ซออ์
"رهن رسول الله صلى الله عليه وسلم درعًا عند يهودي بالمدينة، وأخذ منه شعيرًا لأهله"
ท่านนบี (ซ.ล) ได้จำนำเสื้อเกราะ ณ เมืองมะดีนะห์ ให้กับครอบครัวชาวยะฮูดี และท่านนบี (ซ.ล) ได้เอาข้าวบาร์เลย์จากเขาให้ครบครัวนบี (ซ.ล)
لا يَغْلَقُ الرَّهْنُ من صَاحِبِهِ الذي رَهَنَهُ ، لهُ غُنْمُهُ وعليهِ غُرْمُهُ
จะไม่มีการยึดหลักทรัพย์ที่จำนำ หลักทรัพย์จะยังเป็นของผู้จำนำ เขายังจะได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นของมัน และเขาจะต้องรับผิดชอบความเสียหายของมัน
1 บันทึก
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย