7 มิ.ย. 2023 เวลา 08:02 • ข่าว

ยุคทอง “อินฟลูเอนเซอร์” ตัวช่วย…ดึงลูกค้า-ฐานเสียง

“อินฟลูเอนเซอร์” (influenser) หรือผู้นำทางความคิด (key opinion leader) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนการสื่อสารของทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้า-การบริการ ไปจนถึงการเมืองในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา
ล่าสุดแม้แต่งานสหพัฒน์แฟร์ ครั้งที่ 27 ที่จะจัดช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ยักษ์วงการค้าปลีกประกาศนำทัพอินฟลูเอนเซอร์จากประเทศต่าง ๆ มาไลฟ์ขายสินค้าในงาน หวังเป็นทางลัดขยายฐานลูกค้าของงานไปยังตลาดต่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อประเมินว่า สภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ดในปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันความนิยมใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ เนื่องจากความได้เปรียบเหนือสื่อเก่าและสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย ความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมาย และความยืดหยุ่น
โดยเม็ดเงินที่ธุรกิจใช้ไปกับอินฟลูเอนเซอร์อาจคิดเป็นเพียง 20% ของเม็ดเงินที่ใช้กับสื่อออนไลน์ทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอย่างแน่นอนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
เสาหลักการตลาดการเมืองยังใช้
“ยุทธิพงศ์ จิว” Digital PR Marketing Director ของ MBCS Thailand เอเยนซี่ในเครือ IPG Mediabrands เจ้าของรางวัล Southeast Asia Influencer Marketing Agency of the Year ระดับ Silver จาก Campaign Asia ปี 2022 ย้ำว่า ขณะนี้อินฟลูเอนเซอร์ กลายเป็นเสาหลักของการสื่อสาร และการทำตลาดไปแล้ว โดยมีการใช้งานจากทุกวงการ
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่าย ไปจนถึงสินค้าที่ต้องอาศัยข้อมูลหลายด้านในการตัดสินใจ อย่างธุรกิจโรงพยาบาลที่ให้อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวพาทัวร์สาขา หรือให้มาใช้บริการต่าง ๆ หวังย้ำบรรยากาศที่แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป-สร้างการจดจำในกลุ่มฐานแฟนคลับ
ล่าสุดแม้แต่วงการการเมืองยังมีการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์อย่างกว้างขวาง เห็นได้จากช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายพรรคพยายามชิงพื้นที่บนโซเชียล อาทิ ติ๊กต๊อก ด้วยการปั้นให้ผู้สมัครเป็นอินพลูเอนเซอร์ของพรรคด้วยการผลักดันให้สร้างตัวตนและแสดงความสามารถเพื่อฉายแสงออกมาให้เป็นที่จดจำของประชาชน
กระแสการใช้งานที่แพร่หลายนี้ เนื่องจากผลของการใช้อินฟลูเอนเซอร์ไม่จำกัดเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือวัยเริ่มทำงานอีกต่อไป แต่เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม สะท้อนจากแม้แต่แม่บ้านวัยกลางคนจำนวนไม่น้อยทั้งถ่ายทำและดูคอนเทนต์บนติ๊กต๊อก ดูดาวติ๊กต๊อกมาเล่าเรื่องต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน อินฟลูเอนเซอร์ยังมีความสามารถในการจูงใจสูงกว่าสื่อชนิดอื่น ๆ เนื่องจากภาพลักษณ์ของการเป็นเสียงจากผู้บริโภค มีความสมจริง และใกล้ชิดคล้ายเพื่อนทำให้ผู้ฟังเปิดรับได้ง่ายกว่า
สะท้อนจากปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่ใช้สินค้าหรือทานอาหารตามอินฟลูเอนเซอร์ เช่น หม้อทอดไร้น้ำมันที่กลายเป็นของใช้ประจำครัวเรือนไทยในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ด้านจำนวนอินฟลูเอนเซอร์นั้น คาดว่ามีประมาณ 3-4 แสนคน สะท้อนจากผลสำรวจของบริษัท นีลเส็น ซึ่งไทยเป็นตลาดที่มีอินฟลูเอนเซอร์มากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย ด้วยจำนวนประมาณ 2 แสนคน จากแพลตฟอร์ม TikTok, อินสตาแกรม และอื่น ๆ ทำให้หากรวมเฟซบุ๊กที่เป็นฐานใหญ่ของไทยแล้วน่าจะเพิ่มอีก 1-2 แสนคน
เศรษฐกิจฝืดหนุนอินฟลูเอนเซอร์
โฆษณา