25 พ.ย. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง

เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 13

ขโมยชีวิตมาแต่งเพลง ขโมยเพลงมาแต่งชีวิต
เล่าถึงเพลงแปลงของ นคร มงคลายน แล้ว ก็ต้องพูดถึงเพลงแปลงของ สรวง สันติ
นอกจากแต่งเพลงเก่งแล้ว สรวง สันติ ยังแปลงเพลงเก่งด้วย
สรวง สันติ เป็นนักแต่งเพลงมากความสามารถ แต่งเพลงได้หลายแนว และมีอารมณ์ขันสูง ดังนั้นเขาจึงเหมาะมากที่ทำงานในด้านแปลงเพลง
1
เขาแปลงเพลงต่างประเทศจำนวนหนึ่ง มาเป็นเพลงรสชาติไทยๆ มีกลิ่นไทย เป็นเพลงล้อเลียน มีอารมณ์ขันสูง และเป็นหมุดหมายบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างหนึ่ง
ยกตัวอย่าง เช่น เพลง เมาจนนึกไม่ออก แปลงมาจาก Lightnin Bar Blues ของ Brownsville Station เรื่องของคนเมาเพราะรัก (หรือเพราะรักจึงต้องเมา?)
"เมาจนแปล้ เมาจนซึม ดื่มเอาดื่มเข้าไป เราคือใคร ใครคือเรา เมาจนนึกไม่ออก เมาจนนึกไม่ออก
เมากลางวันยันกลางคืน ตื่นพอตื่นเป็นเมา เมาทำไม ใครทำเรา เมาจนนึกไม่ออก เมาจนนึกไม่ออก
คนใจดำทำลงคอ ก่อเรื่องก่อให้เมา ลวงทำไม ใครลวงเรา เมาจนนึกไม่ออก เมาจนนึกไม่ออก โอ๊ย! เมาซี
เมาชนหลัง เมาจนงง ดื่มเลี้ยงส่งให้แฟน เรามีแฟน ใครแฟนเรา เมาจนนึกไม่ออก เมาจนนึกไม่ออก
กินเพียวๆ เมาเพลินๆ เดินเรื่อยเฉื่อยทำใจ ดูซิใคร ใครมองเรา เมาจนนึกไม่ออก เมาจนนึกไม่ออก
คนรวนเร เมาอำลา อย่าจงอย่าห่วงใย ลาทำไม ใครลาเรา เมาจนนึกไม่ออก เมาจนนึกไม่ออก...
เมาจนนึกไม่ออก เป็นเพลงสนุกๆ ก็จริง แต่ก็สะท้อนความคิดบางอย่าง
เราดื่มเพราะความผิดหวังจากใครคนหนึ่ง ท้ายที่สุดก็จำไม่ได้ว่า เราเมาเพราะใครกันแน่"
โลกของความรักก็คือโลกของความเมามาย
เพลง ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพลงแปลงโดยตรง แต่ใช้ดนตรีประกอบหนังคาวบอยสปาเกตตี A Fistful of Dollars ผสมเสียงปืน เสียงควบม้า เสียงผิวปากตามต้นฉบับ แล้วแต่งเพลงเสียบเข้าไปแบบขำๆ
"ดูซิดู นั่นดู ดูใครมา เขาขี่ม้าคาดปืนมายืนเด่น ทีแรกนึกสังหรณ์ว่า จอห์น เวย์น หรือต้องเป็นนักล่าน่ากลัวเกรง
ดูซิดู นั่นดู ดูใครมัน หุ่นเหมือน ชาร์ลส์ บรอนสัน ยอดคนเก่ง เอาไว้หนวดมีเคราเจ้านักเลง แม้คนเก่งมอนต์โก ริงโก้ยังอาย
แรกเห็นนึกว่า อเลน เดอลอง ยิ่งมองยิ่งดู สู้ไม่ได้ ไอ้ปืนโต สตีฟ ยังนึกอาย คลินต์ อีสต์วูด ร้องไห้ ถ้าดวลกัน
อยู่ๆ เขาก็มาปรากฏกาย เขาเป็นใครมาจากไหนกันเล่านั่น ท่าทางเขาคงเป็นคนสำคัญ มาปราบพวกอันธพาลให้บางเบา
แปลกใจๆๆ เที่ยวถามใครๆ ก็ไม่รู้จักเขา เขาเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบ เขาเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบ
นั่น เอาข้าวเหนียวให้ซักบาท ลาบสองบาท แล้วเหล้าขาวสองก๊ง"
1
จบด้วยประโยค "ฮ่วย คิดคนใหญ่คนโตมาจากไหน ที่แท้ก็หมู่เดียวกัน ลาวครือกัน ภาษาครือๆ กัน จึงทราบว่าเป็นลาว"
เพลงนี้สะท้อนวัฒนธรรมต่างประเทศที่เข้ามาไทยในยุคนั้นคือหนังคาวบอยสปาเก็ตตีที่เข้ามาวาดลวดลายบนจอหนังในบ้านเรา จนคนไทยคุ้นเคยกับชื่อ ชาร์ลส์ บรอนสัน ริงโก้ (มอนต์โกเมอรี คลิฟต์) อเลน เดอลอง สตีฟ แม็คควีน คลินต์ อีสต์วูด ล้วน ในหนังคาวบอยหลายเรื่อง
หนังคาวบอยที่ใช้ฉากทะเลทรายแห้งแล้ง ก็มีส่วนคล้ายกับแผ่นดินแห้งแล้งของอีสานบ้านเราในยุคนั้น
หนังคาวบอยสปาเก็ตตีก็ยังส่งอิทธิพลต่อนิยายภาพไทยในยุคนั้น นักดาบในนิยายภาพหลายเรื่องแต่งตัวเหมือนคาวบอยอย่างประหลาด
อีกเพลงหนึ่งที่ สรวง สันติ แปลงคือ ขึ้นขึ้นลงลง แปลงจาก Iron Man ของ Black Sabbath
1
"ขึ้นขึ้นลงลง ลงลงขึ้นขึ้น ไม่ยั่งไม่ยืน ขึ้นขึ้นลงลง บางคืนใจเย็นไม่ลงก่อนแจ้ง ขอบฟ้าไม่แดง ก็ไม่ยอมลง ถึงใครจะห้ามมันก็ไม่ฟัง มันขึ้นมายังถึงใครไล่ส่ง รู้หรือเปล่าว่าอะไรกัน รู้หรือเปล่าว่าอะไรกัน มันคือพระจันทร์ มันขึ้นมันลง"
เพลงท่อนที่ 2 พูดถึงพระอาทิตย์ มีขึ้นมีลง
ท่อนที่ 3 พูดถึงบางสิ่งที่มีแต่ขึ้นไม่มีลง
"ขึ้นขึ้นลงลง ลงลงขึ้นขึ้น ไม่ยั่งไม่ยืน ขึ้นขึ้นลงลง ไอ้อย่างที่สามเลวทรามร้ายกาจ มันขึ้นพรวดพราดขึ้นเเล้วไม่ลง ทำไมจึงขึ้น ขึ้นจริงไม่รู้ ได้แต่ยืนดู เห็นขึ้นโจ้งๆ รู้หรือเปล่าว่าคืออะไร รู้หรือเปล่าว่าคืออะไร ก็สินค้าเมืองไทย ขึ้นไม่ยอมลง"
เพลงนี้เสียดสีราคาสินค้าที่ขึ้นแล้วไม่ลง เป็นประเด็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
1
เป็นเพลงน่าขำ แต่ขำไม่ค่อยออก
อีกเพลงหนึ่งชื่อ เซ็นสิ แปลงจาก Free Me ของวง Uriah Heep
"เซ็นสิ เซ็นสิ บอกมาต้องเซ็นสิ มีเราเป็นขาประจำ ใครบอกว่ากินฟรี ใครบอกว่ากินฟรี ก็บอกให้เซ็นเอาไว้สิ เราเป็นขาประจำ"
เพลงนี้สะท้อนวัฒนธรรม เซ็นในร้านอาหาร ของเรา
เพลง 900 โรงจำนำ แปลงมาจากเพลง 9,999,999 Tears ของ Dickey Lee
ลองฟังดู
"900 โรงจำนำ มันมากมายจนเกินจำเลยนั่น ฉันเห็นมันเก็บเอามาจำนำเสียเกลี้ยง เอาเงินมาเลี้ยงเพื่อให้ชื่นในอก
จำนำคราวแรก ฉันเหนียม ใจกระเดียมที่นอนจำนำลุก ดูตัวเราดังลูกนก ชื่นอกชื่นใจได้อาหาร ที่รักเธอเป็นคนดี ดีที่ช่วยกันผลาญ มาซิมา เดี๋ยวให้สนุกสนาน ของที่บ้านจำนำได้อีกนะ
1
900 โรงจำนำ มันมากมายจนเกินจำเลยนั่น ฉันเห็นมันเก็บเอามาจำนำเสียเกลี้ยง เหลือแต่เขียงจะจำนำได้มั้ย ถ้าไม่ได้ก็แย่
เคยคุยถึงเรื่องอนาคต ถ้าฉันหมดสิ่งของจะจำนำ เธอเคยบอกจะช่วยค้ำ จะจำนำของของเธอบ้างละ
มาวันนี้ดูเธอทำเฉยเมยหน้างอ เพราะฉันบ่จี๊ใช่ไหมจ๊ะ เธอเลยยอมพรากจากไปไกลเลยนะ ถึงฉันจะหมดตัวไม่แล้ว
900 โรงจำนำ มันมากมายจนเกินจำเลยนั่น ฉันเห็นมันเก็บเอามาจำนำเสียเกลี้ยง เหลือแต่เขียงจะจำนำได้มั้ย ถ้าไม่ได้ก็แย่..."
1
เมื่อพูดถึง 900 โรงจำนำ ก็ต้องเล่าถึง เก้าล้านหยดน้ำตา ร้องโดย ดอน สอนระเบียบ
เก้าล้านหยดน้ำตา แปลงมาจากเพลง 9,999,999 Tears ของ Dickey Lee เหมือนกัน แต่เป็นคนละเวอร์ชั่น คนละอารมณ์
เวอร์ชั่นของ สรวง สันติ เป็นเวอร์ชั่นเสียดสีสังคมอย่างเจ็บคัน ด้วยอารมณ์ขัน
ส่วนเวอร์ชั่น ดอน สอนระเบียบ แปลงเนื้อเพลงค่อนข้างตรงกับชื่อต้นฉบับคือ เก้าล้านหยดน้ำตา
"เก้าล้านความระกำ ช้ำชอกใจที่เธอทำไว้นั่น ฉันเค้นมันกลั่นออกเป็นน้ำตาล้นหลั่ง ให้ผิดหวังที่มันคั่งในอก"
เพลงดังระเบิด ทำให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง เก้าล้านหยดน้ำตา ดอน สอนระเบียบ แสดงคู่กับ เศรษฐา ศิระฉายา
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ เพลงนี้เขียนภาษาไทยโดย จงรัก จันทร์คณา
จงรัก จันทร์คณา ก็เป็นนักแต่งเพลงชั้นเซียนคนหนึ่ง เขาเป็นคนแต่งเพลงดัง จงรัก ทำไมถึงต้องเป็นเรา หนึ่งหญิง สองชาย ทำไมทำฉันได้ เก้าล้านหยดน้ำตา
จงรัก จันทร์คณา เป็นบุตรชายของ พรานบูรพ์ หรือจวงจันทน์ จันทร์คณา นักแต่งเพลงและนักสร้างละครชั้นครู
เขาเริ่มงานแต่งเพลงเมื่อ มนัส ปิติสานต์ ขาดเพลงที่จะอัดให้กับห้างแผ่นเสียงอยู่หนึ่งเพลง จึงมาขอเพลงจากเขา เพราะเขาแต่งเพลงจดไว้ในสมุด
เพลงนั้นชื่อ เหมือนคนละฟากฟ้า
"มีประโยชน์อื่นอันใด ที่หัวใจเรารักกันปานจะกลืน แต่กายต้องห่างดั่งอาทิตย์ไกลกลางคืน มืดมนทนฝืน ฝืนโชคชะตา
ได้แต่หลอกปลอบใจกัน ว่าสักวันความรักสมจินตนา จนสิ้นใจจาก ได้ครองรักเพียงอุรา เกินเอื้อมมือคว้า วิวาห์ดูหมดทาง
1
ต่างกันทุกฐานันดร ดั่งมีสิงขรปิดประตูกั้นขวาง ถึงเราสัญญารักกันว่ามั่นจีรัง แต่ดูเหมือนดังอยู่คนละฟากฟ้า
คิดสลัดตัดใจไกล สุดฝืนใจด้วยรักแรกตรึงอุรา จำฝืนใจข่มอยู่กับรักอย่างทรมาน รอวาสนาชี้ชะตาจนกว่าจะตาย"
เพลงนี้จงรักได้รับแรงบันดาลใจจากความผิดหวังเรื่องรักของเพื่อนที่เรียนช่างกลมาด้วยกัน แต่งแล้วนำเอาไปให้ครูมนัส ปิติสานต์ช่วยแก้ไข บันทึกแผ่นเสียงเมื่อ พ.ศ. 2506
จงรัก จันทร์คณา เล่าว่า ตั้งใจให้ สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นผู้ร้อง แต่สุเทพอ่านเนื้อเพลงแล้วบอกว่า เพลงนี้ถ้าให้พี่ร้อง มันก็งั้นๆ เพราะพี่เคยผ่านเพลงเด็ดๆ มาเยอะแล้ว ถ้าร้องอีก คนฟังก็เห็นเป็นธรรมดา พี่ว่าเพลงดีๆ อย่างนี้ เหมาะจะสร้างนักร้องได้เกิดมากกว่า
เขาถามว่า "แล้วควรให้ใครร้อง"
คำตอบคือเด็กใหม่ ธานินทร์ อินทรเทพ
1
สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นคนใจกว้างและมีเมตตา เขายอมทิ้งโอกาสทอง เปิดทางสร้างนักร้องรุ่นใหม่ให้ได้เกิด
ผลก็คือ ธานินทร์ อินทรเทพ เดินเข้าห้องอัดเสียงแบบกลัวๆ ร้องอยู่หลายทีก็ไม่เข้าทาง จนนักดนตรีเริ่มหน่าย
คนเป่าคาลิเน็ตชาวฟิลิปินส์บ่นว่า "มันร้องแบบนี้ จะดังได้ไงว้า"
ธานินทร์ อินทรเทพ ยิ่งเกร็ง ร้องเสียงสั่น แต่กลายเป็นว่าเสียงสั่นแบบนี้กลับทำให้เพลงดัง ใครๆ ก็ชอบเพลงนี้ และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1
เพลงแรกในชีวิตที่ได้บันทึกเสียง กลายเป็นเพลงดัง ทำให้เขาเกิด และทำให้ห้างแผ่นเสียงมีใบสั่งเพลงของเขามาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากแต่งเพลงอัดเสียงแล้ว ดังแล้ว รับรางวัลพระราชทานแล้ว พรานบูรพ์ พ่อของเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเขาแต่งเพลง
พรานบูรพ์ชอบไปนั่งดื่มเหล้ากับ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ช่อง 4 บางขุนพรหม ขณะดื่มเหล้า อาจินต์มักฮัมเพลง เหมือนคนละฟากฟ้าพรานบูรพ์สงสัย ถามว่า "ทำไมลื้อถึงชอบเพลงนี้นัก"
อาจินต์งง บอกว่า "ทำไมไม่รู้จักเพลงที่ลูกชายตัวเองแต่งแท้ๆ"
กลับถึงบ้าน พรานบูรพ์ถามจงรัก "ไอ้แดง แกแต่งเพลงแล้วหรือ ทำไมไม่บอกพ่อ?"
"อ้าว! ผมนึกว่าพ่อรู้แล้ว วิทยุเค้าประกาศกันให้เซ็งแซ่"
พรานบูรพ์ไม่พูดต่อ แต่นึกดีใจที่ลูกชายเป็นไม้หล่นไม่ไกลต้น
จงรัก จันทร์คณา แต่งเพลงไปราวสี่พันเพลง เช่น น้ำตาซื้อน้ำตา นักแสดงบทเศร้า เพื่อความรัก ศักดินากับยาจก ลั่นคำรัก จงรัก คนพิการรัก คืนทรมาน ทำไมทำฉันได้ เทพเจ้าแห่งความระทม กฎแห่งกรรม ยิ่งกว่าการฆ่า หัวใจกระดาษ ได้โปรดเถิดที่รัก ฉันทนไม่ได้ ไม่รักไม่ว่า โลกลวง บุญเหลือเกิน ฐานันดรรัก หัวใจร้อยรัก รักนี้ไม่มีอีกแล้ว ฯลฯ
แต่เพลงดังที่สุดของเขาก็น่าจะเป็นเพลงที่ตั้งชื่อเขา - จงรัก
เพลง จงรัก ได้รับบันทึกเสียงครั้งแรกในปี 2517 คนร้องคือ สุเทพ วงศ์กำแหง
"โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต และโปรดอย่าถาม ว่าอดีตฉันเคยรักใคร รู้ไว้อย่างเดียว เดี๋ยวนี้รักเธอและรักตลอดไป รักมากเพียงไหน กำหนดวัดได้เท่าดวงใจฉัน"
เพลงดัง และกลายเป็นเพลงคลาสสิก
ในหนังสือ เล่าเบื้องหลังเพลงดัง จงรัก จันทร์คณา เขียนว่า คนเขียนเพลงหรือเขียนนิยาย เขาว่าอีกนั่นแหละ ว่าต้องรู้มาก เห็นมาก ฟังมาก จึงจะมีวัตถุดิบมาป้อนงาน ดังนั้น ต้องเป็นคนชอบเที่ยว ชอบเตร็ดเตร่ ชอบพเนจร ชอบซอกแซกชีวิต ต้องขยับรู้จักคนให้มาก รู้มาก เห็นมาก ฟังมาก ก็มากด้วยข้อมูล เพราะข้อมูลชีวิตคนไม่มีในตำรา ไม่มีครูคนไหนมาคอยสอน ต้องดั้นด้นค้นควานเอาเอง โรงหนัง โรงละคร โรงเหล้า ศูนย์การค้า สโมสร แม้กระทั่งบนรถเมล์ และตามบาทวิถี มีเรื่องราวดีๆ ให้เราดู ให้เราเก็บเกี่ยวทั้งสิ้น
เราต้องเป็น-นักขโมยที่เก่งกาจ
ขโมยชีวิตคน-มาเขียนเพลง
แต่บางครั้ง เราก็ขโมยเพลงมาแต่งชีวิต
โฆษณา