11 มิ.ย. 2023 เวลา 10:00 • ความคิดเห็น

ไม่วางแผนส่งต่อมรดก “ตายแล้ว” เงินฉันจะไปไหน?

หากไม่มีการวางแผนจัดการมรดก เมื่อเราเสียชีวิตไป ทรัพย์สินที่มีอยู่อาจจะไม่ส่งต่อถึงทายาท ตามความประสงค์คำถามคือ แล้วทรัพย์สินเหล่านั้นหายไปไหน
1
“อิสระ” นักวางแผนการเงิน มาเยี่ยมลูกค้า ชื่อคุณภาษนัย นักธุรกิจ วัย 40 ปี ที่กำลังรับการรักษาเต้นผิดจังหวะ ซึ่งพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังคงต้องดูอาการที่โรงพยาบาลอีกสักระยะ
ภาษนัยเล่าให้อิสระฟังข้อกังวลเกี่ยวกับการวางแผนส่งต่อมรดก เพราะตอนนี้ ยังไม่เคยมีการวางแผนใดๆ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ประกอบกับอายุก็ยังไม่มาก จึงคิดว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องวางแผน
แต่เมื่อเข้ารับการักษาโรคหัวใจทำให้ รู้ว่าความตายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและไม่ควรประมาทกับการใช้ชีวิต จึงต้องการวางแผนการส่งต่อมรดกให้เรียบร้อย จะได้ไม่มีความกังวล หากตัวเองต้องจากไปในวันใดวันหนึ่ง
ในเรื่องของการวางแผนส่งต่อมรดกเป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยอิสระได้แนะนำว่าหากโชคร้ายเสียชีวิตกระทันหันในขณะที่ยังไม่มีการวางแผนการส่งต่อมรดก สินทรัพย์ของภาษนัยจะถูกส่งต่อไปไหนบ้าง
ภาษนัยแต่งงานอยู่กินกับภรรยาวัยห่างกันเกือบ 10 ปี มีบุตรชาย 1 คนอายุ 4 ขวบ ส่วน คุณพ่อยังมีชีวิตขณะที่คุณแม่เสียชีวิตแล้ว โดยคุณพ่อกับคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมีพี่ชาย น้องชาย ร่วมบิดามารดา รวม 2 คน
หากไม่ได้มีการวางแผนการส่งต่อมรดกด้วยพินัยกรรม ทรัพย์มรดกทั้งหมดจะตกเป็นของทายาทโดยธรรม ตามหลักการนี้
ทายาทโดยธรรมมี 2 ประเภท คือ ประเภทคู่สมรส และประเภทญาติ 6 ลำดับ จะแบ่งมรดกไปยังทายาทโดยธรรมก็ต่อเมื่อ ผู้ตายตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำไว้แต่พินัยกรรมนั้นไร้ผล ซึ่งการแบ่งทรัพย์มรดกกองนี้ระหว่างทายาทโดยธรรมประเภทญาตินั้นต้องแบ่งตามลำดับชั้น ดังต่อไปนี้
1. ผู้สืบสันดาน คือ ลูก (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย, บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม) หลาน เหลน ลื้อ ไปจนสุดสาย
2. บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
สำหรับคู่สมรสของเจ้ามรดกที่ถือเป็นทายาทโดยธรรม จะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกับเจ้ามรดก และก็จะได้รับมรดกตามสัดส่วน ซึ่งทายาทโดยธรรมประเภทญาติทั้ง 6 ลำดับข้างต้นนั้นไม่ได้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันหมดทุกคน แต่หากทายาทลำดับต้นยังมีชีวิตอยู่ ก็เฉพาะแต่ทายาทลำดับดังกล่าวเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก ซึ่งทายาทลำดับต้นได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดา มารดา เท่านั้น หากมี 2 ลำดับนี้ลำดับใดลำดับหนึ่งแล้ว ลำดับ 3 ถึง 6 ก็จะไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดก
1
สัดส่วนการแบ่งมรดกให้คู่สมรสและทายาท
1. ผู้สืบสันดาน แบ่งเท่ากันกับ คู่สมรส
2. บิดา มารดา คู่สมรสได้รับ 1:2 หรือ ผู้สิบสันดาน/บิดา มารดา แบ่งเท่ากันกับ คู่สมรส
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คู่สมรสได้รับ 1:2
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน คู่สมรสได้รับ 2:3
5. ปู่ ยา ตา ยาย คู่สมรสได้รับ 2:3
6. ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสได้รับ 2:3
หากไม่มีทายาทโดยธรรมทั้งญาติและคู่สมรส และไม่มีการทำพินัยกรรมไว้มรดกจะตกเป็นของแผ่นดิน
กรณีของภาษนัยทรัพย์สินมรดกจะตกเป็นของบุตรชายแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจาก ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส และคุณพ่อไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับคุณแม่ จึงไม่ถือว่าคุณพ่อเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงภาษนัยมีความต้องการจะส่งมอบทรัพย์สินให้กับครอบครัวทุกคน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- บ้านที่อยู่อาศัยปัจจุบันและเงินสด 5 ล้านบาท มอบให้ภรรยา
- ที่ดิน 3 แปลง และเงินสด 10 ล้านบาทในบัญชีธนาคาร มอบให้บุตรชาย
- เงินสด 5 ล้านบาท ให้กับบิดา
- กิจการที่ดำเนินการอยู่ต้องการส่งมอบให้กับน้องชาย
อิสระ จึงแนะนำภาษนัยว่าการจัดทำพินัยกรรมเพื่อวางแผนส่งต่อมรดกโดยการเขียนพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่สามารถจัดทำได้สะดวกที่สุด โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
- ต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ใช้พิมพ์ไม่ได้
- จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้
- ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
- ต้องลงลายมือชื่อ จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือหรือเครื่องหมายอื่นไม่ได้
เขียนโดย: วิไล รักต้นตระกูล นักวางแผนการเงิน CFP®
#aomMONEY #สมาคมนักวางแผนการเงินไทย #CFP #มรดก #ทายาท #ทรัพย์สิน #พินัยกรรม
โฆษณา