8 มิ.ย. 2023 เวลา 16:01 • ข่าว

บริษัทรับจ้างลาออกไม่จำกัดตำแหน่ง

Start Up ญี่ปุ่นมาแรงรับงานลาออกแทนพนักงานมาแล้วนับหมื่นตำแหน่ง
ต้องยอมรับว่า ญี่ปุ่นมักมีวิถีชีวิตบางอย่างที่ทำให้เราได้ว้าวได้เสมอ ซึ่งความ Unique นี้มันก็ทำทีให้เกิดอาชีพ และบริการแปลกๆ แบบ Japan Only ทำได้ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น อย่างเช่น "บริการรับจ้างลาออก" ตัวแทนที่เข้าไปลาออกแทนคุณ ในวันที่ไม่ออกแม้แต่จะไปเจอหน้าเจ้านายเก่า
2
บางคนอาจจะนึกในใจว่า กะอีแค่ลาออกจากงาน ถึงขนาดต้องจ้างบริษัทตัวแทนไปทำเลยเหรอ 🤔
สำหรับบ้านเรา คงไม่ชินกันบริการลักษณะนี้ เพราะโดยมาก การลาออกของคนไทยถ้าไม่ "จากแบบอาลัย" ก็มักจะ "จากแบบไม่เผาผี" อย่างมากก็ใช้โทรไปลาออก ถึงจะดูไม่ค่อยโปร แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปจ้างใคร เพราะถือคติ ลาออกเอง ก็ยื่นซองเอง นักเลงพอ🙂
แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น ประเทศที่มีวัฒนธรรมองค์กรเข้มงวด การลาออกมีระเบียบวิธีที่ค่อยข้างซับซ้อน ต้องเตรียมเอกสารมากมาย และ บางครั้ง เจ้านายก็มีสิทธิ์ไม่รับจดหมายลาออกก็ได้ และอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการลาออกของหนุ่ม-สาวญี่ปุ่น คือ ค่านิยมที่ต้องทำงานที่เก่าให้ได้นานเกิน 5 ปี ซึ่งหากใครที่ต้องการลาออกก่อน จะถูกมองว่า "ไม่อดทน" "ไม่ซื่อสัตย์" "ไม่รักองค์กร" หรือไม่ก็อาจทำงานบกพร่อง ที่ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก 🥲
2
ดังนั้น หลายครั้งที่หนุ่ม-สาว วัยทำงานชาวญี่ปุ่นรู้สึกกดดันจากสังคมในองค์กร เมื่อต้องเตรียมที่จะลาออก ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ที่ทำให้พวกเขารู้สึกกระอักกระอ่วนใจ จนไม่อยากไปยื่นใบลาออกด้วยตัวเอง
1
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ โทชิยูกิ นีอิโต เคยเจอมาในวันที่เขาตัดสินใจลาออกจากงาน และผ่านสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมการลงโทษทางสังคมองค์กร" มาแล้วอย่างหนักหน่วง จนทำให้เขาเกิดไอเดียที่จะเปิดบริษัทรับจ้างลาออก เพื่อรับหน้าเจ้านายเก่าแทนเรานั่นเอง
3
Senshi S LLC จึงเกิดขึ้นในปี 2017 โดย โทชิยูกิ นีอิโต และ ยุอิจิโร โอคาซากิ เพื่อนในวัยเด็กของเขาอีกคน โดยคิดค่าบริการดำเนินเรื่องลาออกให้ในราคา 20,000 เยน ต่อเคส (ประมาณ 5000 บาท)
2
ปรากฏว่ากิจการของพวกเขามีผู้ที่สนใจเยอะมาก ในแต่ละปี มีผู้คนเข้ามาติดต่อขอคำปรึกษาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเคส และมีหลายเคสที่ลูกค้ายอมเสนอเงินค่าจ้างสูงกว่าปกติเกือบ 3 เท่า เพื่อจ้างใครสักคนไปยื่นใบลาออกแทนตนในที่ทำงาน
2
เลยทำให้ Senshi กลายเป็นธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ที่ทำเงินได้เป็นกอบ เป็นกำอย่างไม่น่าเชื่อ บ่งบอกว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย มีทัศนคติในแง่ลบต่อการลาออก และมักทำให้พนักงานรู้สึกผิดต่อองค์กรที่ต้องจากกัน
3
โทชิยูกิ นีอิโต ที่ปัจจุบันกลายเป็นเทพเจ้าซองขาวในวงการไปแล้ว เล่าว่าส่วนใหญ่ลูกค้าขอบริษัทเป็นผู้ชาย เหตุผลในการลาออกมักเกิดจากบรรยากาศในที่ทำงาน เช่น ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม อาการหมดไฟ การกลั่นแกล้งกันในที่ทำงาน หรือแม้แต่ทำงานจนผูกพันนานเกินสิบปีจนเกรงใจที่ต้องลาออก หรือต้องการย้ายไปทำงานบริษัทอื่นที่ได้เงินเดือนดีกว่า
5
แต่ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีกฎหมายว่าลูกจ้างต้องยื่นจดหมายลาออกล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่ก็มีหลายกรณีที่ลูกค้าประสงค์ที่จะลาออกทันทีที่ยื่นจดหมาย โดยให้บริษัทเป็นผู้รับหน้าไกล่เกลี่ย โทชิยูกิยอมรับว่า เขาเคยถูกนายจ้างของลูกค้าด่าใส่หน้าอย่างรุนแรง เมื่อเห็นจดหมายลาออกผ่านตัวแทน เจ้านายบางคนถึงขั้นตามไปเช็คถึงบ้านเกิดเพื่อเค้นถามเจ้าตัวว่าลาออกทำไมก็มี
4
การเติบโตของธุรกิจรับจ้างลาออกของ Senshi สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นทีละน้อย จากเดิมที่บริษัทญี่ปุ่นเคยชูวัฒนธรรมการจ้างงานตลอดชีวิต ดูแลพนักงานกันถึงระดับครอบครัว เริ่มหดหายไป การลื่นไหลของแรงงานหนุ่ม-สาวยุคใหม่ ที่ต้องการอิสระในการไขว้คว้าโอกาส และการใช้ชีวิต โดยไม่ยึดติดกับองค์กร
1
เพียงแต่กับสังคมญี่ปุ่นที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง จึงเกิดบริการรับจ้างลาออกที่เป็นเหมือนสะพานในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมแรงงานสมัยใหม่ที่มองการลาออก หมุนเปลี่ยนบุคลากร ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กรเช่นกัน
1
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา