9 มิ.ย. 2023 เวลา 09:16 • การศึกษา

เงินได้จากการให้เช่าที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมต้องเสียภาษีเงินได้อย่างไร ??

การถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินประเภทที่ดินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ อาจมีกรณีที่บุคคลหลายคนร่วมกันครอบครอง โดยปรากฏชื่อบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน เช่น นายไก่ นายเป็ด และนายหมู เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โฉนดเลขที่ 12345 เป็นต้น
ซึ่งการครอบครองในลักษณะดังกล่าวมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ดังนั้น เมื่อ นายไก่ นายเป็ด และนายหมู ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกัน และได้นำที่ดินดังกล่าวออกให้เช่าหรือขายที่ดินดังกล่าวจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของผู้ใด
กรมสรรพากรได้วางแนวทางในการพิจารณาเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกรณีดังกล่าวไว้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่
แนวที่ 1 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมนั้นต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของแต่ละบุคคลตามส่วนของตนแยกต่างหากจากกัน
แนวที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมไม่อาจเสียภาษีในนามของแต่ละบุคคลได้ แต่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ
ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาของกรมสรรพากร จึงขอสรุป
แนววินิจฉัยของกรมสรรพากรไว้ ดังนี้
1. กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมต้องเสียภาษีในนามของแต่ละบุคคล
หากเจ้าของที่ดินถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน แต่ได้มีการบรรยายส่วนของที่ดินที่เจ้าของแต่ละคนถือกรรมสิทธิ์ไว้แยกต่างหากจากกันอย่างชัดเจน โดยมีการระบุว่าส่วนของใครอยู่ตรงไหน หรือบุคคลใดถือครองที่ดินส่วนใดหรือแปลงใดไว้เป็นการเฉพาะมีกรรมสิทธิ์เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด อยู่ตรงไหนตามรูปแผนที่แสดงแนวเขตของแต่ละส่วนอย่างชัดแจ้งในโฉนดที่ดิน
เช่น นายไก่ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ 1 จำนวน 73 ตารางวา นายเป็ดถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ 2จำนวน 92 ตารางวา นายหมูถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ 3 จำนวน 96.5ตารางวา และนายปลาถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ 4 จำนวน 93.5 ตารางวา ซึ่งแต่ละส่วนได้ระบุชัดเจนว่าส่วนของใครอยู่ตรงไหน ดังรูปแผนที่
แบ่งชัดเจน
กรณีนี้กรมสรรพากรได้วางแนวทางการพิจารณาไว้ว่าที่ดินดังกล่าวมีการแบ่งแยกการครอบครองอย่างชัดแจ้งแล้ว
และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามส่วนของตนแยกต่างหากจากกัน
ดังนั้น เมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวนำที่ดินนั้นออกให้เช่า และมีการกำหนดค่าเช่าตามส่วนของแต่ละคนไว้อย่างชัดแจ้งในแต่ละสัญญา เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนต้องนำเงินค่าเช่าที่ได้รับตามส่วนของตน ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามเจ้าของที่ดินแต่ละคนตามมาตรา ๕๖ แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมต้องเสียภาษีในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญกรณีเจ้าของที่ดินถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน โดยไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนว่า ส่วนของใครอยู่ตอนไหนและมีเนื้อที่เท่าใด และรวมถึงกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินนั้น ได้บรรยายส่วนหรือกำหนดส่วนของเจ้าของแต่ละคนไว้ในสารบัญจดทะเบียน (หลังโฉนดที่ดิน แต่ไม่ได้ระบุในรูปแผนที่ว่าส่วนของใครอยู่ตรงไหน เช่น กำหนดแบ่งที่ดินออกเป็น 5,736ส่วน เป็นของนายไก่ 2,400 ส่วน ของนายเป็ด 1,600 ส่วน และของนายหมู 1,736 ส่วน เป็นต้น
ตัวอย่างหลังโฉนด
กรณีนี้กรมสรรพากรได้วางแนวทางการพิจารณาไว้ว่าถือว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินนั้นไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองกันอย่างชัดแจ้ง
ดังนั้น เมื่อเจ้าของที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันดังกล่าวนำที่ดินนั้น ออกให้เช่า ถือว่าเป็นการนำทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมออกให้เช่าเพื่อประสงค์แบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เจ้าของที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงต้องนำรายได้ค่าเช่าที่ได้รับไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา ๕๖ แห่งประมวลรัษฎากร
โฆษณา