10 มิ.ย. 2023 เวลา 06:13 • ข่าวรอบโลก

ใครได้ประโยชน์จากเขื่อนคาคอฟก้าแตก

เหตุการณ์ระเบิดเขื่อนเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 6 มิถุนายน ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างกล่าวว่าอีกฝ่ายเป็นคนทำ แน่นอนว่าเราไม่มีทางทราบได้แน่ชัดว่าใครทำ คงตามหาหลักฐานกันยาก แต่การวิเคราะห์ว่าใครได้ใครเสียประโยชน์จากการระเบิดเขื่อน อาจมีประโยชน์มากกว่า
สภาพที่ตั้งของเขื่อน
เขื่อนโนวา คาคาฟก้า ตั้งอยู่ในเมืองเคอร์ซอนฝั่งที่รัสเซียยึดครองอยู่ และเป็นจุดเชื่อมเดียวของเมืองเคอร์ซอนฝั่งยูเครนและรัสเซีย เขื่อนโนวา คาคาฟก้านี้กั้นแม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำสายหลักที่แบ่งยูเครนออกเป็นสองฝั่งคือฝั่งตะวันตกและตะวันออก จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงคราม ได้พยายามยึดเมืองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ ซึ่งมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ที่สำเร็จคือการยึดเมืองเคอร์ซอน ซาโปริสเซีย ที่ล้มเหลวคือยึดได้ในระยะแรกและต้องถอนตัวได้แก่เมืองมิโคลาเยฟ และเคอร์ซอนในทางฟากซ้ายของแม่น้ำ
แต่ความสำเร็จจากการยึดเมืองฝั่งขวาดนีเปอร์ทางตอนใต้คือ การสร้างระเบียงเชื่อมต่อจากแหลมไครเมียไปยังแคว้นโดเนสต์และลูฮันก์ และทำให้รัสเซียสามารถครอบครองห้าจังหวัดได้เป็นส่วนใหญ่คือ ไครเมีย เคอร์ซอน ซาโปริสเซีย ลูฮันก์ และโดเนสก์ จนนำไปสู่การทำประชามติผนวกเอาดินแดนเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียปลายปีก่อน นอกจากนั้นยังทำให้ยูเครนไม่มีทางออกสู่ทะเลอาซอฟอันเป็นเส้นทางการค้าสำคัญอีกด้วย
ความสำคัญของเขื่อน
รัสเซียได้ทำการยึดเขื่อนโนวา คาคาฟก้า ตั้งแต่วันแรกๆ ของสงคราม เนื่องด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเขื่อนเขื่อนสามประการคือ 1) เป็นสะพานเชื่อมเพียงแห่งเดียวระหว่างเคอร์ซอนฝั่งเหนือและใต้ 2) เป็นเขื่อนที่ส่งน้ำเข้าระบบคลองไครเมียเหนือที่ส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงภูมิภาคไครเมีย 3) เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ที่เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร การบริโภคและควบคุมน้ำท่วม 4) เขื่อนส่งน้ำให้ระบบทำความเย็นของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริสเซีย
2
ความสำคัญของเขื่อนลำดับแรกที่สุดสำหรับรัสเซียคือ เขื่อนผันน้ำเข้าคลองไครเมียเหนือ (North Crimean Canal) ความยาว 400 กิโลเมตร ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงจังหวัดเคอร์ซอนทิศตะวันตกที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม และหล่อเลี้ยงแหลมไครเมียทางใต้ของเคอร์ซอนที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2015
ในปี 2015 เมื่อรัสเซียบุกยึดไครเมีย ยูเครนได้ตัดน้ำไม่ให้ไหลเข้าคลองไครเมียเหนือ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำภาคการเกษตรในไครเมีย ดังนั้นเมื่อรัสเซียบุกยูเครน จึงรีบเร่งในการยึดเคอร์ซอนและเขื่อนคาคอฟก้าให้ได้ เพื่อเปิดระบบน้ำส่งเข้าคลองไครเมียเหนืออีกครั้ง
เขื่อนคาคอฟก้า ผันน้ำเข้าสู่คลองไครเมียเหนือความยาว 400 ก.ม. ซึ่งหล่อเลี้ยงจังหวัดเคอร์ซอนและไครเมียที่รัสเซียยึดครอง
ผลกระทบจากเหตุการณ์เขื่อนแตก
• เส้นทางเชื่อมจังหวัดเคอร์ซอนสองฝั่งแม่น้ำตัดขาดทั้งหมด
• เขื่อนแตกทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมในวงกว้าง ประชาชนนับหมื่นที่อยู่อาศัยใต้เขื่อนต้องอพยพหนีน้ำท่วม
ต่างโทษกันไปมา
• Mykhailo Podolyak ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน กล่าวหารัสเซียว่าเป็นผู้ทำลายเขื่อนเพื่อชะลอปฎิบัติการโต้กลับของยูเครน
• ในขณะที่รัฐบาลรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนตั้งใจทำลายเขื่อนเพื่อเบนความสนใจจากความล้มเหลวของปฏิบัติการโจมตีกลับของยูเครน และทำลายระบบส่งน้ำผ่านคลองไครเมียเหนือที่หล่อเลี้ยงแหลมไครเมียซึ่งอยูทางตอนใต้ของเคอร์ซอน
ใครได้ประโยชน์
คำถามว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ อาจตอบได้ยาก เพราะคงหาหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ยาก และแน่นอนว่าทุกฝ่ายย่อมปฏิเสธต่อหลักฐานใดๆ ดังนั้นการวิเคราะห์ว่าใครได้มากกว่าเสียประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ อาจพอไขคำตอบข้างต้นได้
รัสเซียได้ประโยชน์
• เขื่อนแตก สะพานขาด ยูเครนหมดหนทางยกพลข้ามแม่น้ำ เขื่อนที่แตกได้ทำลายสะพานเชื่อมเดียวที่มีอยู่ระหว่างจังหวัดเคอร์ซอนทั้งสองฝั่ง ดังนั้นจะเป็นอุปสรรคแก่ยูเครนในปฏิบัติการโจมตีกลับที่หวังยึดคืนพื้นที่ที่รัสเซียยึดครอง หากข้ามแม่น้ำดนีเปอร์มาได้และสามารถยึดเคอร์ซอนตอนใต้กลับไปได้ กองทัพยูเครนก็จะประชิดแหลมไครเมีย
ยูเครนได้ประโยชน์
• เขื่อนแตก กระทบต่อคลองส่งน้ำไปไครเมีย เขื่อนโนวา คาคอฟก้า นั้นสำคัญกับระบบชลประทานของภูมิภาคไครเมียเป็นอันมาก แม้ปากคลองไครเมียเหนือจะอยู่เหนือเขื่อน แต่จากเดิมที่เขื่อนทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำเหนือเขื่อน เมื่อเขื่อนแตก ย่อมกระทบต่อระบบส่งน้ำเข้าคลองไครเมียเหนือ รายงานของเดอะการ์เดียน (1) ระบุว่าได้ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในระบบชลประทานของเคอร์ซอน ร้อยละ 94 ซาโปริสเซีย ร้อยละ 74 และ ดนีปรอแปตร็อวสก์ ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่รัสเซียยึดครองนั่นเอง
• ระเบียงที่เชื่อมไครเมียไปถึงแคว้นดอนบาสนั้นคือพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย หากยูเครนต้องการเอาชนะรัสเซียต้องทำลายระเบียงนี้ให้ได้ เพื่อตัดไครเมียออกจากดอนบาส ซึ่งการจะทำได้นั้น ยูเครนต้องยึดคืนจังหวัดเคอร์ซอนและซาโปริซเซีย เขื่อนที่แตกสร้างความเสียหายต่อจังหวัดเคอร์ซอนในฝั่งที่รัสเซียยึดครองมากกว่าฝั่งของยูเครน
1
• น้ำท่วมได้ทำลายระบบป้องกันและส่งกำลังของรัสเซียในจังหวัดเคอร์ซอน น้ำได้ท่วมพื้นที่ 600 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดเคอร์ซอนทางใต้ที่รัสเซียยึดครองร้อยละ 68 และจังหวัดเคอร์ซอนฝั่งยูเครนร้อยละ32
สรุป
• ในระยะสั้น รัสเซียได้ประโยชน์มากกว่า ทำให้ปฏิบัติการโจมตีกลับของยูเครนนั้นเป็นอัมพาตในทิศใต้
• ในระยะยาว ยูเครนได้ประโยชน์มากกว่า ทำให้ระบบส่งน้ำผ่านคลองไครเมียเหนือที่หล่อเลี้ยงไครเมียนั้นเสียหาย คลองไครเมียเหนือคือเส้นเลือดใหญ่ที่เลี้ยงหัวใจของรัสเซียคือไครเมีย ดังนั้นหากทำให้เส้นเลือดอุดตัน ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นยูเครนต้องสร้างความเสียหายต่อคลองไครเมียเหนือให้ได้ หากต้องการยึดคืนไครเมีย คลองไครเมียเหนือนั้นรับน้ำจากเขื่อนโนวา คาคอฟก้า เมื่อเขื่อนแตกย่อมสร้างปัญหาต่อการส่งน้ำเข้าคลอง (2)
โฆษณา