14 มิ.ย. 2023 เวลา 10:03 • ข่าวรอบโลก

ยูเครนวิ่งเข้าชนกำแพงอย่างนี้ เข้าทางรัสเซียสิ

ยุทธวิธี counter-offensive ของยูเครนที่ได้เปลี่ยนรัสเซียจากผู้เล่นแนวรุกเป็นผู้เล่นแนวรับนั้น 'เข้าทาง' รัสเซีย ยุทธวิธีทางทหารของรัสเซียนั้นเน้นเกมรับไม่ถนัดเกมรุก ประวัติศาสตร์การทหารได้ย้อนให้ถึงการกองทัพนาซีเยอรมันที่บุกโซเวียตรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1941-42
กองทัพนาซีและพันธมิตรภายใต้ 'ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา' ได้ยกพลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกกว่าสิบล้านคน กองทัพนาซีได้ตีแนวรบทางตะวันตกของโซเวียตแตก เป็นผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครน เบลารุส ดินแดนรอบทะเลบอลติก รวมถึงภูมิภาครัสเซียตะวันตกที่มอสโกปกครองอยู่ ถูกกองทัพนาซียึดครอง คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร
ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซาของนาซีเยอรมนี เครดิต: legallegacy
สุดท้ายโซเวียตรัสเซียได้ถอยแนวตั้งรับลึกกว่าพันกิโลเมตรมาถึงกรุงมอสโก กองทัพโซเวียตได้สร้างแนวป้องกันทางลึกสามชั้นก่อนถึงมอสโก เยอรมนีประสบปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุงจากระยะทางที่ยาวเกินพันกิโลเมตร อากาศหนาว และสูญเสียชีวิตทหารไปเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก็พ่ายแพ้แก่กองทัพโซเวียตในยุทธการที่มอสโก และต้องถอยร่นจนรัสเซียยกทัพไล่บี้รุกโต้กลับในฤดูหนาว ตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซีในศึกแห่งสตาลินกราดและศึกแห่งเคิร์สก์ จนทำให้ผลของปฏิบัติการบาร์บาร็อสซานั้นล้มเหลวอย่างสมบูรณ์
แผนที่แนวป้องกันทางลึกสามชั้นของโซเวียตนอกกรุงมอสโก credit: wikipedia
นอกจากบทเรียนจากปฏิบัติการบาร์บาร็อสซาของนาซีเยอรมันแล้ว โลกยังเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงครามที่รัสเซียใช้ยุทธวิธี 'ล่อให้ศัตรูถลำลึก' จนทำให้กองทัพของนโปเลียนพ่ายแพ้อย่างยับเยินในปี 1812 ยืนยันถึงความช่ำชองในเกมตั้งรับมากกว่าเกมรุกของรัสเซีย
แผนที่การบุกรัสเซียของนโปเลียน เครดิต: HupPages
ภายหลังจากกองทัพนโปเลียนกรีธาทัพเข้าสู่ภาคตะวันตกของรัสเซีย ฝรั่งเศสรุกคืบได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแปลกใจกับยุทธวิธีของรัสเซียที่เลี่ยงการปะทะ เอาแต่ถอยลึกเข้าไปในดินแดน ทำให้แผนที่จะบดขยี้กองทัพรัสเซียไม่ได้ผล กลับต้องไล่ตามกองทัพรัสเซียลึกเข้าไป ฝ่ายรัสเซียสร้างความตกตะลึงครั้งที่สอง เพราะไม่ได้ถอยลึกอย่างเดียว แต่เผาทำลายเมืองและทุ่งข้าวโพดของตนเองในระหว่างที่ถอยอีกด้วย ทำให้กองทัพที่เดินได้ด้วยท้องต้องหวังพึ่งการส่งกำลังบำรุงเพียงเดียว
เมื่อนโปเลียนกรีธาทัพถึงมอสโกกลับต้องตะลึงเป็นครั้งที่สาม เพราะพบว่ามอสโกเป็นเมืองร้างและยังตกอยู่ในกองเพลิง กลายเป็นฝรั่งเศสที่เสียเวลาต้องมานั่งดับไปเมืองหลวงของรัสเซียเสียเอง นโปเลียนเมื่อยึดเมืองหลวงได้ก็หวังว่ารัสเซียจะประกาศยอมแพ้ แต่ก็พบว่ากำลังติดหล่มฤดูหนาวอันแสนโหดร้ายเกินกว่าทหารฝรั่งเศสจะทนไหวเข้าให้แล้ว
ยึดมอสโกอยู่หนึ่งเดือน กองทัพนโปเลียนต้องเผชิญกับอากาศหนาว ขาดแคลนที่พักและเสบียง จนทัพเริ่มอ่อนแอ นโปเลียนตัดสินใจถอยทัพไปยังเมืองคาลูกาทางตะวันตกเฉียงใต้ รัสเซียซึ่งรอจังหวะที่ทัพนโปเลียนอ่อนแอถึงขีดสุด ไล่ตีโต้กลับกองทัพฝรั่งเศส จนกำลังรบฝรั่งเศสเหลือเพียง 27,000 คน ตายไป 380,000 คน ตกเป็นเชลย 100,000 คน และต้องถอยร่นจนออกจากแผ่นดินรัสเซียในเดือนธันวาคม 1812 ปิดฉากความยิ่งใหญ่ของนโปเลียนที่มาพ่ายแพ้ทัพพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1
ปฏิบัติการ counter-offensive ของยูเครนทุกวันนี้ ได้เปลี่ยนสภาพรัสเซียจากผู้รุกเป็นผู้รับ รัสเซียเปลี่ยนมาเล่นในเกมที่ตนถนัด สร้างแนวรับสามชั้นลึกกว่า 30 กิโลเมตร และยาวกว่า 900 กิโลเมตร เมื่อยูเครนบุกเข้ามาในหน้าแนบรับชั้นแรก รัสเซียจะระดมยิงปืนใหญ่ จากตำแหน่งตั้งรับที่ดีกว่า พร้อมกับใช้ความเหนือกว่าทางกำลังอากาศ ส่งเฮลิคอปเตอร์และโดรนเข้าทำลายระบบป้องกัน รถถัง ยานเกราะของยูเครน จนมีผู้เปรียบเทียบว่ายุทธวิธีของยูเครนนี้ไม่ต่างอะไรจากวิ่งเข้าหาโรงงานบดเนื้อของรัสเซีย
แนวรับสามชั้นของรัสเซียในยุทธการ counter-offensive ของยูเครน ในแนวรบซาโปริซเซีย
ต้องรอดูว่ากองทัพยูเครนภายใต้การบัญชาการของนาโต้จะเจาะไปได้ถึงแนวรบไหน แต่ตัวแปรที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ ระดับความเสียหายต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังทหาร ขวัญกำลังใจ และเวลา จะบอกว่ายุทธการ counter-offensive ของยูเครน จะเอาชนะรัสเซียจนต้องถอยจากดินแดนยึดครอง ล้มหมียักษ์รัสเซีย หรือจะพ่ายแพ้ดังเช่น ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ของนาซี หรือการบุกรัสเซียของนโปเลียน หากเป็นเช่นนั้นอาจนำไปสู่การถูกนาโต้ทอดทิ้งภายหลังความพ่ายแพ้หรืออาจไปถึงการสูญสิ้นชาติของยูเครนก็เป็นได้
แต่ถ้ารัสเซียพ่ายแพ้นอกจากสถานะมหาอำนาจทางทหารจะป้นปี้ ปูตินเองอาจต้องสิ้นอำนาจเช่นกัน สงครามนี้เดิมพันนั้นสูงเกิดคาด
โฆษณา