15 มิ.ย. 2023 เวลา 12:01 • สุขภาพ

ประกันสุขภาพ แบบมี OPD คืออะไร?

ถ้ามีประกันสังคมอยู่แล้ว ควรทำเพิ่มไหม?
ก่อนหน้านี้หลายคนมักจะคิดว่า การทำประกันสุขภาพคือสิ่งที่ไม่จำเป็น และเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ แต่สมัยนี้ที่มีโรคต่างๆที่เข้ามารุมเร้าให้เราป่วยได้ง่ายๆ ทั้ง PM 2.5 ภูมิแพ้ ไข้หวัด หรือ โควิด เราก็เริ่มเห็นความสำคัญของประกันสุขภาพกันมากขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะป่วยเมื่อไหร่...จริงไหมครับ ถ้าวันหนึ่งเราเกิดแจ็กพ็อตป่วยหนักขึ้นมา หากไม่มีประกันสุขภาพ ก็คงต้องหมดค่ารักษาหลักหมื่น-หลักแสนแน่นอน
การทำประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะจากการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุก็ตาม แต่ก่อนจะเลือกซื้อประกันสุขภาพได้ ก็มี 2 คำที่เราควรรู้จัก นั่นคือ “OPD” และ “IPD” มันหมายความว่าอะไรกันนะ?
📣 ความแตกต่างระหว่าง OPD และ IPD
“OPD” มาจากคำว่า Out Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยที่รับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัว หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยนอก”
ส่วน “IPD” มาจากคำว่า In Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยใน” นั่นเอง
📣 ประกันสุขภาพที่คุ้มครองกรณี OPD คืออะไร?
“ประกันสุขภาพที่คุ้มครองกรณี OPD” คือประกันสำหรับผู้ป่วยนอก โดยให้ความคุ้มครองเมื่อเราไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แล้วไม่ต้องนอนพัก ไม่ว่าจะป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือหมอนัดดูอาการ พูดง่ายๆ ก็คือไปหาหมอ ตรวจเสร็จ รับยา แล้วกลับบ้านเลย โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่ต้องจ่ายส่วนต่างกรณีที่ค่าใช้จ่ายเกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์
📣 ถ้ามีประกันสุขภาพ OPD ต้องเจ็บแค่ไหนถึงจะจ่าย?
ปกติแล้วประกันสุขภาพ OPD จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าธรรมเนียมปรึกษาแพทย์ ค่าวินิจฉัยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยก็ตาม (ขอแค่ไม่ต้องนอนพัก)
📣 มีประกันสังคมอยู่แล้ว ควรทำประกันสุขภาพ OPD เพิ่มอีกไหม?
คำตอบก็คือ “ได้อยู่ครับ” ได้อยู่ ...แปลว่าได้ ก็คือถ้าเราเจ็บป่วยทั่วไป แล้วมีเวลาว่างมากพอที่จะรอคิวในโรงพยาบาลได้ทั้งวัน แบบนี้แค่มีประกันสังคมก็โอเคแล้วครับ
แต่ถ้ามีกำลังพอจ่ายไหว aomMONEY แนะนำว่าควรทำประกันสุขภาพที่มี OPD ไว้สักตัวดีกว่า เพราะ 2 ข้อดีต่อไปนี้
✅ 1.เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากประกันสังคม
เผื่อช่วยคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ หรือถ้าวันไหนมีเวลาน้อย ก็เดินเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่สะดวกรวดเร็วกว่าได้เลย เพราะยังไงประกันสุขภาพ OPD ก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้อยู่แล้ว
แต่การเลือกซื้อ ต้องแน่ใจว่าดูเงื่อนไขความคุ้มครองที่ครอบคลุม คุ้มค่า มีหลายกรณีที่เราจะเจอว่า ความคุ้มครองที่ได้มีข้อจำกัด เช่น ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 12 ครั้ง ถ้าเงื่อนไขเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เวลาที่ต้องใช้ เราต้องออกส่วนต่างเองเพิ่มเติม ทำให้อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรจะเป็น
✅ 2.นำไปลดหย่อนภาษีได้
📣 ทำไมประกันสุขภาพ OPD ถึงสำคัญกับเงินออม?
เพราะไม่มีใครรู้อนาคต วันหนึ่งเราอาจเจ็บป่วย ถึงแม้จะเป็นโรคเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าบ่อยครั้งมันก็จะรบกวนเงินออมของเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าอยากวางแผนการเงินให้มั่นคง ก็ควรทำประกันสุขภาพ OPD เพื่อลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน และเป็นเหมือนการลงทุนกับสุขภาพนั่นเอง
ตอนนี้เพื่อนๆ คงได้คำตอบกันแล้วว่า “ถ้ามีประกันสังคมอยู่แล้ว ควรทำประกันสุขภาพ OPD เพิ่มอีกไหม?” ในมุมมองของ aomMONEY ก็คือ “ควรอย่างยิ่ง” เพราะถ้าเราเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็จะทำให้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้นครับ
#aomMONEY #ประกันOPD #ประกันสุขภาพ
โฆษณา