16 มิ.ย. 2023 เวลา 00:30 • ธุรกิจ

กำไรของบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ ปี 2566 ไตรมาส 1 รายอุตสาหกรรม

ปี 2566 (ไตรมาส 1) ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเติบโตลดลงเล็กน้อย
1
เนื่องจากต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายที่ใช้เพื่อการฟื้นตัวของธุรกิจสูงกว่ายอดขายที่เกิดขึ้น
โดยหลังจากที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ทยอยออกงบการเงินในปี 2566 ไตรมาส 1 ออกมาครบแล้ว ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้นักลงทุนได้อ่านกัน
💰 SET และ mai มี P/E Ratio สูงขึ้นเล็กน้อย ในปี 2566 ไตรมาส 1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อ้างอิงข้อมูลจาก SET พบว่า ดัชนี SET ปิดตลาดเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 1,609.17 ลดลงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ลงมา -5.1%
ขณะที่ดัชนี mai ในปีเดียวกันอยู่ที่ 538.10 ลดลงจากเดือนมีนาคม ปี 2565 ลงมา -18.8%
โดยมีอัตราการซื้อขายกันที่ P/E Ratio 19.6 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับดัชนี SET ปิดตลาดในเดือนมีนาคม 2565 ที่ P/E Ratio 18.4
💰 กำไรในตลาดปี 2566 ไตรมาส 1 เติบโตจากอะไร
จากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 591 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 2.62 แสนล้านบาท หดตัวลง 7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ไตรมาส 1
โดย 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีกำไรสูง ได้แก่ ทรัพยากร ธุรกิจการเงิน และ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
โดยหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวสูง ได้แก่
  • 1.
    อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (26%)
  • 2.
    เทคโนโลยี (18%)
  • 3.
    ธุรกิจการเงิน (18%)
ซึ่ง 5 อันดับบริษัทที่กำไรสุทธิสูงสุดในปี 2566 ไตรมาส 1 ในแต่ละอุตสาหกรรม มีดังนี้
  • อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท SCC CPN SIRI AP และ AWC
  • อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท ADVANC DELTA INTUCH TRUE และ MFEC
  • อุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน ได้แก่ บริษัท SCB KBANK BBL KTB และ BAY
💰 ความแข็งแกร่งของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ตามหมวดธุรกิจ
หมวดธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง คือหมวดธุรกิจที่เติบโตทั้งด้านรายได้และกำไร ซึ่งหมวดธุรกิจที่มีรายได้และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งคู่ในปี 2566 (ไตรมาส 1)
และ Leverage (D/E) ลดลง ได้แก่ หมวดพาณิชย์ ประกันภัยและประกันชีวิต ขนส่งและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและสันทนาการ และ สื่อและเทคโนโลยี
ขณะที่หมวดธุรกิจที่ผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก คือหมวดธุรกิจที่มีรายได้และกำไรสุทธิลดลงไปใน 2566 (ไตรมาส 1) และ Leverage (D/E) เพิ่มขึ้น ได้แก่
หมวดปิโตรและเคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ แฟชั่น และ ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์
💰 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อความผันผวนด้านการลงทุน
กล่าวโดยสรุป ทิศทางผลการดำเนินงานในบาง
อุตสาหกรรมมียอดขายในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงปีก่อน สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ การวางกลยุทธ์ในลงทุนยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดมาจากด้านต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก
ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ความผันผวนของสินทรัพย์จะส่งผลให้ SET Index ผันผวนตามได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ผลประกอบการมีทิศทางขาขึ้นและมีปัจจัยสนับสนุนอื่นที่ดี เพื่อเพิ่มโอกาสให้คุณได้ลงทุนได้ถูกจังหวะและได้กำไรในช่วงเวลาเช่นนี้
ผู้เขียน : ธนัชญา ปิยวรไพบูลย์, Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Source : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์โดย Economics Data Analytics
โฆษณา