18 มิ.ย. 2023 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อีก 2 ปี มีกำไร

‘Robinhood’ เริ่มต่อจิ๊กซอว์ ‘สร้างรายได้’ ก้าวสู่หมุดหมายเริ่มทำ ‘กำไร’ ในปี 68
📌ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ประเทศไทยต้องประกาศล็อกดาวน์ปิดเมืองหยุดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้อ เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
แน่นอนว่า ถึงแม้จะปิดเมือง ปิดห้างร้าน แต่ทุกชีวิตต้องกินต้องใช้ ธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery จึงเปรียบเสมือนพระเอกขี่ม้าขาว ที่เข้ามาช่วยทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหารต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในวันที่ลูกค้าที่จะมาซื้อที่ร้านกลายเป็นศูนย์
และในช่วงนั้นเองที่ได้เกิด แพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทย ในชื่อสุดเท่ว่า ‘Robinhood’ ภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือ SCB X
และสิ่งที่สร้างความแตกต่างจากแพลตฟอร์ม Food Delivery อื่น ๆ ที่ให้บริการในขณะนั้น ก็คือ ‘ไม่เก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ’ ไม่ว่าจะเป็นค่าสมัคร, ค่า GP (Gross Profit) กับร้านอาหาร และช่วงแรกเน้นไปที่ ‘ร้านอาหารขนาดเล็ก’ ด้วยเป้าประสงค์ของบริษัทแม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่ต้องการให้ Robinhood เป็นแพลตฟอร์มที่ ‘ช่วยคนตัวเล็ก’ เป็นหนึ่งในภารกิจตอบแทนสังคมของธนาคารนั่นเอง
หลังใช้ระยะเวลาเปิดให้บริการไม่นานนัก ผลปรากฏว่าแอปฯ Robinhood สามารถแจ้งเกิดได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเลขสถิติเมื่อช่วงปลายปี 2565 มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มแล้วกว่า 3.2 ล้านคน ร้านค้ากว่า 2.7 แสนร้าน ไรเดอร์กว่า 3 หมื่นคน และมีการสั่งซื้อมากกว่า 3 ล้านทรานเซกชันต่อเดือน และคาดว่าปี 2566 จะมีผู้ใช้บริการแตะ 5 ล้านราย
หลังจากแจ้งเกิดบริการ Food Delivery ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงได้ขยายสู่บริการ ‘Robinhood Travel’ โดยใช้โมเดลเดียวกับบริการ Food Delivery คือไม่เก็บค่าธรรมเนียมกับโรงแรมที่พักที่จะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ขยายบริการ Robinhood Mart, Robinhood Express, Robinhood Ride Hailing จากบริการที่ Robinhood มีอยู่ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า กำลังก้าวขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม Super App เช่นเดียวกับ แพลตฟอร์มข้ามชาติรายใหญ่ที่เข้ามาหากินอยู่ในเมืองไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยโมเดลที่ออกแบบมาให้ ‘Robinhood Food Delivery’ เป็นเหมือนกับ CSR ของ SCB ด้วยการไม่เก็บค่า GP จึงทำให้ธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้ด้วยตัวเอง แม้จะขยายบริการไปในหลากหลายรูปแบบแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ในส่วนของผลประกอบการของ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ยังคงขาดทุนต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุน 1,335 ล้านบาท และ ปี 2565 ขาดทุนสูงถึง 1,986 ล้านบาท
ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจ จะปล่อยให้ขาดทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ๆ คงไม่ได้ ทาง เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จึงเริ่มมองหาโมเดลสร้างรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ และตั้งเป้าว่าจะเริ่มทำกำไรได้เป็นครั้งแรกในปี 2568
ก่อนหน้านี้ ทางเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ได้วางโมเดลหารายได้มาบ้างแล้ว เริ่มด้วยการหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาบนแอพพลิเคชั่น หรือ ‘Robinhood Advertising’ เป็นการนำ Data ที่มี มาต่อยอดสู่การเป็นพื้นที่โฆษณาให้กับแบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด เป็นการใช้ฐานข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีรายได้จาก ‘ปล่อยกู้สินเชื่อ’ ให้กับคนในระบบนิเวศ ซึ่งตัวเลขในส่วนนี้ยังไม่สูงมากนัก
ขณะที่โมเดลสร้างรายได้ในสเต็ปต่อไปของ Robinhood จะมาจากบริการ Mart, Express ที่จะเก็บค่า GP และค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ เช่น Mart กับ Express เก็บค่า GP 10% ส่วนบริการ Ride-hailing เก็บค่า GP กับคนขับรถ 10 - 15% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่เก็บอยู่ 20-25%
และอีกหนึ่งโมเดลสร้างรายได้ของ Robinhood ที่วางไว้ในอนาคต คือ การให้เช่าและผ่อนชำระจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้า ให้กับไรเดอร์ และพาทเนอร์แทกซี่ - รถยนต์รับจ้าง ที่ต้องการยานพาหนะในประกอบอาชีพที่ประหยัดพลังงานและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ธุรกิจการให้เช่ารถไฟฟ้า อาจจะต้องรอความเห็นชอบจากบอร์ดบริหารของ SCB ว่าจะเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ เพราะต้องใช้งบประมาณราว 4 - 5 พันล้านบาท
แต่หาก Robinhood สามารถต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจได้ครบตามแผนที่วางไว้ เป้าหมายที่วางไว้ว่าจะสามารถพลิก ‘ทำกำไร’ ได้เป็นครั้งแรกในปี 2568 รวมไปถึงการก้าวขึ้นไปสู่ Super App อาจจะเกิดขึ้นจริงก็เป็นได้
โฆษณา