19 มิ.ย. 2023 เวลา 14:30 • ความคิดเห็น

4 ขั้นตอนสร้างแผนการเงินสู้วิกฤติ

จากหนังสือ “Money Mindset” ของ “โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์”
เชื่อว่าใครก็ตามที่กำลังสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินคงเคยได้ยินชื่อของ “โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์” หรือ “Money Coach” กันมาบ้างพอสมควร ด้วยลีลาการเขียน การพูดที่แสบ ๆ คัน ๆ และประสบการณ์ด้านการเงินที่โค้ชหนุ่มเองผ่านมาแล้วอย่างโชกโชน ทำให้นอกจากข้อมูลที่โค้ชหนุ่มนำเสนอนั้นมีทั้งความรู้ที่เอาไปปรับใช้ได้จริง และที่สำคัญคืออ่านสนุกด้วย
วันนี้เลยอยากนำเอาบางส่วนของหนังสือ “Money Mindset” ของโค้ชหนุ่มมาแชร์กันครับ เป็น “4 ขั้นตอนของการสร้างแผนการเงินเพื่อสู้วิกฤติ” ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ หลายคนในช่วงนี้เลยทีเดียว
สำหรับคนที่กำลังเจอวิกฤติการเงิน (มีช่วงไหนที่ไม่วิกฤติบ้าง?) รายได้หด หนี้ท่วม เงินไม่พอใช้จ่าย ลองทำตามนี้กันดูครับ
1. ทำงบการเงินล่วงหน้า 6-12 เดือน
งบการเงินคือสิ่งที่จะช่วยทำให้เราวางแผนได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แม้จะไม่มีทางรู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่การวางแผนรับมือเอาไว้ก่อนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โค้ชหนุ่มบอกว่า “อย่าปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ตั้งสติ โดยการมองชีวิตไปข้างหน้าว่าจะเจอกับอะไรบ้าง”
หลังจากนั้นก็นั่งเขียนเลยครับ หาเวลาว่าง ๆ สัก 2-3 ชั่วโมง ลงข้อมูลให้ละเอียด รายรับรายจ่ายมีอะไรบ้างที่จะเข้ามาแล้วออกไป
จะมีการจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ไหม ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ ติดลบตรงไหนรึเปล่า ขาด-เหลือเท่าไหร่
ถ้าเหลือก็ควบคุมให้ดี ถ้าขาดก็รีบหาทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อย่าหวังให้ใครมาช่วย
2. ลดรายจ่าย
ถ้าการเงินติดลบ ให้ดูตรงส่วนของ “รายจ่าย” ก่อนเลยเพราะมันคือสิ่งที่เราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง
เพราะรายได้เราไม่รู้หรอกว่าจะทำแล้วจะมีผลแค่ไหน แต่รายจ่ายเรารู้อยู่แล้วว่าจะจัดการตัดตรงไหนออกไปได้ หยิบมาทีละตัว ตัวไหนที่ไม่จำเป็นก็ตัดก่อน (สตรีมมิ่งทั้งหลาย ทานข้าวนอกบ้าน ฯลฯ)
รายจ่ายพวกนี้ถ้าคุยกันกับครอบครัวด้วยก็ดี ปรึกษากันครับว่าจะลดยังไง
โค้ชหนุ่มบอกว่า “ถ้าเครดิตยังดีอยู่ก็หาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กู้มาโปะหนี้ดอกเบี้ยแพง รวมหนี้เป็นก้อนเดียว ช่วยลดค่าผ่อนต่อเดือน” หรือ “รีไฟแนนซ์ดูเพื่อให้ผ่อนน้อยลง”
หนี้ตัวไหนที่ไม่ไหวจริง ๆ เป็นบ้านก็อาจจะตัดใจขายก่อน หรือไม่ก็ขอลดค่างวดผ่อน ถ้าเป็นรถก็คืนเขาไปก่อนผิดชำระหนี้ และถ้าเป็นหนี้บริโภคก็ต้องเจรจากับสถานบันการเงินขอจ่ายเฉพาะดอกไปสักระยะหนึ่ง หนี้สั้นเป็นหนี้ยาว ผ่อนให้น้อยลงให้หายใจได้สบายมากขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่าการเจรจาอาจจะได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าไม่เจรจาก็ไม่ได้แน่นอน
สิ่งสำคัญที่โค้ชหนุ่มเน้นย้ำคือ “ให้วางแผนกันเงินกินให้ท้องอิ่ม”
ถ้ามีเงินก้อนเข้ามาก็ตัดใช้หนี้ส่วนหนึ่ง กันสำรองไว้ส่วนหนึ่ง
เงินน้อย สติต้องเยอะ
3. หารายได้เพิ่ม
เราอาจจะรู้สึกว่าการหาเงินเพิ่มนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่อยากจะขอให้มองชีวิตในหลาย ๆ มุม ทุนชีวิตที่สะสมมา ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ชีวิตที่ สิ่งที่เคยทำ ความสัมพันธ์ต่าง ๆ กับคนรอบตัว
ลองค้นหาช่องทางเหล่านี้ดูว่าอันไหนพอจะเป็นไปได้บ้าง ดูว่าอันไหนที่พอจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะการหารายได้ในมุมหนึ่งคือเราไปช่วยแก้ไขปัญหาให้คนอื่น ๆ แล้วได้ค่าตอบแทนมา เพราะฉะนั้นหาทักษะที่พอจะเป็นประโยชน์แล้วก็ใช้มันอย่างเต็มที่
เริ่มจากสิ่งที่เรามี โซเชียลมีเดีย อย่าใช้เป็นที่บ่นระบายอย่างเดียว ใช้มันให้เกิดประโยชน์ ให้เพื่อนลองแนะนำงานหรือช่วยกระจายข่าวออกไปว่าเรากำลังหารายได้เพิ่ม
โค้ชหนุ่มบอกว่า “อย่าไปกลัวว่าเหนื่อยแล้วจะไม่ได้อะไร โลกนี้ไม่มีอะไร ‘ฟรี’ ดังนั้น ‘เหนื่อยฟรี’ ก็ไม่มีเช่นเดียวกัน”
4. เงินน้อยต้องรักษาให้ดี อย่าให้ใครหลอก
ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะช่วงเวลาวิกฤติในชีวิต ที่กำลังตกต่ำ มักจะตัดสินใจผิดพลาด คนที่จะหาประโยชน์จากการล้มของคนอื่นมีมากมาย
อย่าไปตกบ่วงของแชร์ลูกโซ่ การพนัน รวดลัด รวยเร็ว ชีวิตจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม
สุดท้ายคือ ยืนหยัด มุ่งมั่นที่จะมีชีวิตที่ดี แม้เราไม่รู้ว่าปลายทางจะดีขึ้นเมื่อไหร่ “สู้ให้เต็มที่ สู้ให้สุดกำลัง ท้อเมื่อไหร่ก็พักบ้าง”
ที่สำคัญอีกอย่างคืออย่าซ้ำเติมตัวเอง ให้ชีวิตตกต่ำไปมากกว่าเดิม อย่าด่าทอตัวเอง ทำเหมือนกับตัวเองไร้ค่า แม้จะมีทุกข์ ก็ต้องมีความสุขให้เป็นด้วย
#aomMONEY #MoneyMindset #หนังสือ #MoneyCoach #โค้ชหนุ่ม #จักรพงษ์เมษพันธุ์ #จัดการเงิน #วางแผนการเงิน #งบการเงิน #แก้ไขวิกฤติการเงิน
โฆษณา