22 มิ.ย. 2023 เวลา 07:29 • ไลฟ์สไตล์

สุนัขกับจิตวิเคราะห์: ความสัมพันธ์ของหมากับคนในมุมมองของ Stefano Bolognini

.
เมื่อหลายวันก่อนที่ผมได้โพสทวิตของ Dr. Aron Balick ที่พูดถึงมุมมองของ Freud ต่อสุนัขในแง่บวกมากกว่ามุมมองที่เขามีต่อมนุษย์ ผมเลยนึกถึงงานเขียนนึงที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้วเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์และน้องหมา เลยอยากมาเล่าให้ฟังครับ
งานที่ว่านั้นมีชื่อว่า 'My dog doesn’t know Descartes: The disenchanted analysis of the ‘interpsychic’man–dog' ซึ่งเขียนโดย Stefano Bolognini นักจิตวิเคราะห์ชาวอิตาลี
.
Bolognini เชื่อว่าความสัมพันธ์ของหมากับคนมีจุดเชื่อมโยงกันบางอย่างอยู่ในจิตไร้สำนึก เรียกว่ามีจิตร่วมกันหรือ interpsychic ระหว่างสุนัขกับเจ้าของ
เขายกตัวอย่างเจ้าสุนัขพันธ์เชาเชาของ Frued ที่ชื่อ Jo-fi ขึ้นมาเพื่อพูดถึงมนเรื่องนี้ด้วย
โดยจากคำบอกเล่าของ Martin (ลูกชายของ Freud) บอกไว้ว่า เวลาที่เจ้าสุนัขตัวน้อยพันธ์เชาเชาชื่อ Jo-fi นี้อยู่ตรงหน้า Martin แทบไม่ต้องมองนาฬิกาเลยว่าเวลาบำบัดจบลงแล้ว เพราะเวลาที่เจ้า Jo-fi ลุกขึ้นยืนและหาวออกมา มันเป็นสัญญาณว่าชั่วโมงบำบัดมาถึงช่วงสรุป และ Jo-fi ก็มักจะอยู่ข้างๆ เจ้านายของมันเสมอ
.
Bolognini คิดว่ามันมี 2 คีย์เวิร์ดสำคัญที่เราใช้เข้าใจสถานการณ์แบบนี้ได้ นั่นคือ Cohabitation (การอยู่ด้วยกัน) และ Collaboration (การร่วมมือกัน) ที่เกิดขึ้นมนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมา
สำหรับ 'Cohabitation' หรือ การอยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ Bolognini เชื่อว่าคือฟังก์หนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัข มันหมายความได้ถึงการที่สุนัขจะนั่งอยู่ตรงนั้นกับเจ้าของเสมอ และอดทนอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
แต่อย่างที่เรารู้กันดีว่าสุนัขสามารถใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์ได้ในหลายๆ แง่จนรวมไปถึงกรณีที่ ในบางครั้งมันสามารถถูกฝึกให้ช่วยงานเช่นการล่าสัตว์ได้อีกด้วย
ดังนั้นอีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่ Bolognini สังเกตเห็นคือ การร่วมมือกัน หรือ 'Collaboration' ระหว่างคนกับสุนัข
.
จากตัวอย่างของ Jo-fi กับ Freud ในมุมมองของ Bolognini เชื่อว่ามันพิสูจน์ให้เห็นทั้ง 2 ฟังก์ชั่นนี้ในความสัมพันธ์
งานของ Jo-fi คือการอยู่ตรงนั้น รอคอยอย่างอดทนกับแขกที่มามี่บ้าน (cohabitation) และในเวลาต่อมางานที่มีความชัดเจนที่สุดก็ปรากฏขึ้นในตอนท้าย นั่นคือการส่งสัญญาณว่า ‘พอแล้ว’ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดในทุกๆ วัน (collaboration)
.
Bolognini มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขนี้ไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ระหว่างแม่และเด็ก
ในปัจจุบันผมก็มักพบว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่หลายคนจะเลี้ยงหมาเหมือนลูก
Smiley Blanton เคยเขียนในหนังสือชื่อ Diary of My Analysis with Sigmund Freud ว่า ‘Freud คิดว่าความรู้สึกที่มีต่อสุนัขมันเหมือนความรู้สึกเดียวกันที่เราเก็บไว้ให้กับเด็กๆ แต่รู้มั้ยว่ามันต่างกันตรงไหน? ก็ตรงที่แบบนึงคือเราจะไม่รู้สึกสองจิตสองใจเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่อีกแบบนึงเราจะรู้สึกถึงการต่อต้านภายในใจ’
.
ยิ่งไปกว่านั้น Bolognini ยังเชื่ออีกด้วยว่าสิ่งที่คล้ายกันคือการที่เจ้าของมักจะโยนหรือ project ทัศนคติบางอย่างไปให้กับสุนัขที่เลี้ยงเหมือนกับเวลาที่แม่คาดหวังกับลูก
แต่สำหรับความไม่สอดคล้องกันที่เกิดขึ้นในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขดูจะมีทางออกที่ง่ายดายกว่าเมื่อเขาได้ยกเอากรณีคนไข้คนหนึ่งขึ้นมาเล่าให้ฟัง
.
คนไข้คนหนึ่งของ Bolognini เป็นผู้ชายที่มีภาวะหลงตัวเองและยึดมั่นในตัวเองอย่างมาก เขามักจะด้อยค่าหมาตัวน้อยของเขาเสมอ เพราะมันเป็นหมาที่น่ารัก ซุกซน และเป็นมิตร ซี่งสำหรับคนไข้รายนี้เขามองว่ามันคือความอ่อนแอ
คนไข้รายนี้มักฝันถึงการได้เลี้ยงหมาที่ดูสง่าและไม่ไว้ใจคนง่ายมากกว่า ซึ่งหมาที่เขาพูดถึงคือหมาพันธ์ Mali greyhound ในแถบแอฟริกาตะวันตก
คนไข้เล่าว่าหมาพันธ์ดังกล่าวอาศัยอยู่ในทะเลทราย และเดินตามชนเผ่าเร่ร่อนเพื่อร่วมมือกันล่าเหยื่อ แต่สิ่งที่น่าดึงดูดใจสำหรับคนไข้คือการที่มันไม่ใช่หมาที่เชื่องอย่างแท้จริง เพราะมันยังเว้นระยะห่างตัวเองกับคนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงทุกรูปแบบ
ในเวลาต่อมา ความคิดพวกนี้ยังคงอยู่ในหัวของคนไข้หนักมาก และหลังกลับจากเที่ยวในช่วงซัมเมอร์ คนไข้คนนี้ก็ได้ลูกหมาพันธุ์ Mali greyhound มาวิ่งเล่นรอบบ้านจนได้ ซึ่ง Bolognini เชื่อว่าคนไข้มีความคาดหวังกับลูกหมาตัวนี้เพื่อให้ตอบสนองความปรารถนาของเขา ทั้งด้านความสัมพันธ์ ความหยิ่งทะนง และการต่อต้านปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ทุกรูปแบบที่คนไข้ภูมิใจกับมัน
ยังไงก้ตาม คนไข้ยังไม่ทันรู้จักสุนัขของตัวเองดีพอ เพราะภายในไม่กี่สัปดาห์ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร เมื่อคนไข้ได้เล่นและนอนหลับด้วยกันกับเจ้าหมา Mali greyhound ไม่นานนักเจ้าหมาตัวนี้ก็ทำตัวตามสบายอยู่บนเตียงกับเจ้าหมาอีกตัวหนึ่งในบรรยากาศอันน่ายินดีซะอย่างงั้น
คนไข้ของ Bolognini ต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่สงบใจและผิดหวังอย่างมาก แต่ในเวลาต่อมาไม่กี่ปีจนถึงวันสุดท้ายการบำบัด คนไข้คนนี้ก็พาหมาของเขามาที่ออฟฟิศของ Bolognini ด้วย โดยเจ้าหมาพันธุ์ทางแสนใจดีก็ได้เดินตรงมาหา Bolognini พร้อมส่ายหางและดมมือเพื่อแสดงสัญญาณของความไว้ใจคน
และในทางตรงข้าม เจ้าหมาพันธุ์ Mali greyhound จะทิ้งระยะห่าง คอยสำรวจรอบๆ และเข้าใกล้เพียงไม่กี่ครั้งด้วยสีหน้าที่ยากจะเข้าใจ
Bolognini เชื่อว่าเจ้าหมาทั้ง 2 ตัวทำหน้าที่ของมันในฟังก์ชั่นบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการบำบัด โดยในก่อนที่คนไข้จะเอาเจ้าหมาพันธุ์ Mali greyhound มาเลี้ยงและเอาแต่พูดถึงความไม่ไว้วางใจผู้คนของมัน ก็เป็นสิ่งที่ Bolognini คิดว่านั่นคืออุปมาอุปมัยบางอย่างสะท้อนแผนภาพความสัมพันธ์ในจิตไร้สำนึกระหว่างตนเองกับคนไข้ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานั้น
ยังไงก็ตาม เมื่อถึงวันที่การบำบัดครั้งสุดท้ายมาถึง (ครั้งที่หมามาในออฟฟิศด้วย) เจ้าหมาพันธุ์ Mali greyhound ก็อยู่กับพวกเขาอย่างสงบจนหมดชั่วโมง โดย Bolognini สังเกตว่าขณะที่คนไข้ต้องเผชิญบาดแผลในอดีตครั้งนี้ คนไข้สามารถเกิดการตระหนักรู้ในตัวเองได้มากและทนอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เหล่านี้ไปพร้อมกับนักบำบัดได้มากขึ้น จนสุดท้ายในเวลาต่อมาคนไข้คนนี้ก็ไม่ตกเป็นเหยื่อของความคาดหวังที่ทำร้ายตัวเองอีก (ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาหลงตัวเองอย่างมากและพยายามปกป้องตัวอย่างที่สุด)
*ผมคิดว่าที่ Bolognini พยายามจะสื่อก็คือการที่คนไข้ได้เลี้ยงหมา 2 ตัวนี้ทำให้เขาได้พบว่าหมาทั้ง 2 ตัวทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี ตัวหนึ่งคือหมาที่เป็นตัวตนด้านที่อยากใกล้ชิดของเขาแต่มันอ่อนแอมนมุมของคนไข้ หมาอีกตัวจึงเข้ามาเสริมให้เขาเห็นตัวตนอีกด้านของตัวเองที่ไม่ไว้ใจผู้คนมากนัก แต่ก็สามารถทนอยู่มนสถานการณ์ที่น่าอึดอัด รวมทั้งยังเข้ากันกับหมาอีกตัวหนึ่งได้ด้วย (ราวกับว่าคนไข้สามารถนำเอาสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกออกมาฉายเป็นภาพความสัมพันธ์ที่มองเห็นได้ตรงหน้ามากขึ้น)
.
ยังไงก็ตาม เราไม่สามารถเข้าใจจิตใจของหมาได้จริงๆ แต่ Bolognini ก็ได้พูดถึงสาเหตุของจิตไร้สำนึกที่คนเราเลือกจะเลี้ยงหมาไว้อีกด้วย
โดยในท้ายงานเขียนนี้ Bolognini ได้พูดถึงข้อสังเกตที่เห็นผ่านกลุ่มเด็กพังก์วัยรุ่นเร่ร่อนในอิตาลี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นหนีออกจากบ้าน ใช้ชีวิตอยู่กับการเลี้ยงหมา และชอบจับกลุ่มอาศัยอยู่ตามถนนหรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เรียกว่าพวก Punkabbestia หรือ Punk a beast
โดยการเจาะร่างกายและรอยสักของคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่ Bolognini เชื่อว่ามันสะท้อนให้เห็นบาดแผลในใจของคนเหล่านี้ที่แสดงออกมาผ่านกลไกป้องกันตนเองทางจิตในรูปแบบของการหมกมุ่นกับความหลงตัวเองหรือสนใจแต่ตนเองเกินกว่าเหตุ (Bolognini เชื่อว่าพวกเขาปกป้องตนเองด้วยการให้ความสำคัญโลกในอุดมคติ เชื่อมั่นในการพึ่งพาความสามารถตัวเอง และโยนหรือ project ความต้องการกับตัวตนพึ่งพิงไปให้พวกหมา)
ดังนั้น Bolognini จึงเชื่อว่าการที่คนจะเลี้ยงหมามันมีจุดประสงค์ 2 อย่างที่ช่วยเติมเต็มในจิตไร้สำนึกของผู้คน ได้แก่
1. หมาช่วยสะท้อนและคอนเฟิร์มตัวตนในอุดมคติ (ideal self) ของเรา ซึ่งมักเป็นตัวตนที่ไม่ตามกระแสสังคมและไม่ทุกข์ร้อนอะไรกับความอับอายเมื่อถูกต้องล่ามโซ่ (ถูกจำกัดกรอบ)
และในขณะเดียวกัน
2. หมาสามารถแสดงบทบาทหรือเลียนแบบตัวตนพึ่งพิง (dependent self) ของเราได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ มันจะทำให้เจ้าของรู้สึกว่าคนที่กลัวการอยู่คนเดียวและรู้สึกถูกทิ้งไม่ใช่เขาหรือเธอ แต่เป็นตัวมันเองต่างหาก
.
สำหรับผม เมื่อได้อ่านงานของ Bolognini แล้วก็ถือว่ามีความน่าสนใจพอสมควร และทำให้เราเห็นว่าทำไมเราถึงรู้สึกรักหมาได้มากมายขนาดนั้น นั่นเพราะมันทำให้เราเห็นภาพของนิยามความรักที่เรามีได้มาขึ้น ซึ่งหลายครั้งมันมักเป็นความรักที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไรเนื่องจากความคาดหวังของตัวเราเอง
บางที การได้เลี้ยงหมาซักตัว นอกจากจะช่วยเติมเต็มความปรารถนาเรื่องความรักในจิตไร้สำนึกของเราได้แล้ว ยังอาจช่วยสอนเราให้เรียนรู้การรักอย่างไม่มีเงื่อนไขได้อีกด้วย เพราะอย่างที่รู้กันว่า หมามันพูดไม่ได้ และเราก็บังคับธรรมชาติของพวกเขาแทบไม่ได้เลยอีกด้วย
ปล. ในภาพประกอบคือ 'เจ้าเมลโล่' หมาของผมเองครับ
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
.
อ้างอิง
Bolognini, S. (2010). My dog doesn’t know Descartes: The disenchanted analysis of the ‘interpsychic’man–dog. In Secret Passages (pp. 109-120). Routledge.
โฆษณา