24 มิ.ย. 2023 เวลา 22:34 • ท่องเที่ยว

อาหารทิเบตส่งท้าย .. Good bye Shangri La

อาหารทิเบต .. เป็นอาหารที่ผู้จัดการทริปสั่งมาให้เราลองรับประทานเป็นอาหารเย็นมื้อสุดท้ายก่อนที่จะ โบกมือ บ๊าย บาย แชงกรี-ล่า
ร้านอาหารทิเบตในเมืองแชงกรี-ล่า อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักมาก สามารถเดินไปได้สบายๆ .. ดูการตกแต่งหน้าร้าน ไม่แตกต่างจากร้านอาหารจีนเลย
“โอ้โห .. เลิศมาก” .. เป็นคำอุทานเมื่อเราเห็นการตกแต่งเวทีดนตรีด้านใน ซึ่งเป็นภาพวาดสีสันสดใสที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมทิเบต แต่ดูสนุกๆดี
ที่นี่มีดนตรีทิเบตเล่นสดให้ฟังถึงราวสองทุ่ม ..
แต่วันที่เราไป การเดินทางที่ยาว ทำให้เรามาถึงราวสามทุ่ม แต่ทางร้านยังใจดี ให้นักดนตรีรอเล่นให้เราชมเป็นกรณีพิเศษอยู่หลายเพลง .. เยี่ยมจริงๆ
ว่ากันว่า .. อาหารทิเบตค่อนข้างมีลักษณะแตกต่างจากอาหารของเพื่อนบ้านตั้งแต่มีพืชผลไม่กี่ชนิดที่ปลูกได้ที่ระดับความสูงของทิเบต แม้ว่าบางพื้นที่ในทิเบตมีที่ราบพอที่จะปลูกพืชไร่เช่นข้าว ส้ม กล้วย และเลมอน
พืชที่สำคัญที่สุดคือข้าวบาเลย์ แป้งโม่จากข้าวบาร์เลย์คั่วที่เรียก แซมปา (tsampa) เป็นอาหารหลักของทิเบต .. Balep เป็นขนมปังทิเบตที่รับประทานเป็นอาหารเช้าหรือมื้อกลางวัน
ทุกปา (Thukpa)เป็นอาหารที่นิยมบริโภคเป็นอาหารค่ำ ประกอบด้วยก๋วยเตี๋ยวรูปทรงต่างๆ คล้ายพาสตา ผักและเนื้อสัตว์ในน้ำซุป
อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่เป็น จามรี แพะหรือแกะ ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้งหรือเป็นสตูว์เนื้อกับมันฝรั่งรสเผ็ดร้อน มัสตาร์ดเป็นพืชที่ปลูกได้ในทิเบตจึงมักจะใช้ปรุงในอาหาร
โยเกิร์ตจากนมจามรี เนยและเนยแข็งแบบทิเบตเป็นอาหารที่รับประทานบ่อยและโยเกิร์ตอย่างดีจะเป็นหน้าเป็นตาของรายการอาหาร นอกจากนี้อาหารแบบทิเบตยังมีการบริโภคในลาดัก สิกขิมและอรุณาจัลประเทศ ในประเทศอินเดีย
... จุดเด่นของอาหารทิเบตคือความเรียบง่าย สไตล์ Comfort Food รสเครื่องเทศติดปลายลิ้นและกลิ่นที่ไม่แรงมากจนเกินไป แม้ชื่อเมนูจะมีความแปลกใหม่ ที่เราแทบไม่เคยได้ยินมาก่อน .. และชุดอาหารทิเบตแท้ ๆ มีการใช้เนื้อจามรี แพะ หริอแกะเป็นส่วนประกอบด้วย ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้งหรือเป็นสตูว์เนื้อกับมันฝรั่งรสเผ็ดร้อน
คาร์โบไฮเดรตหลักของคนทิเบตคือ ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว แบบเดียวกับคนไทย
ส่วนเครื่องดื่มหลักของชาวทิเบต คือ ชา .. “ชาทิเบต” (Himalayan Salt Butter Tea) ชาใส่นม หนักเนย และปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อย ชาเนยเค็มในแถบภูเขาหิมาลัยนิยมดื่มเพราะให้พลังงานสูง เกลือเพื่อให้ทนงานหนัก และความตื่นตัว รสชาติชานุ่มเบามีกิมมิคที่ฟองนมตีฟูเพิ่มความหรูหรา .. การดื่มชาเนยแบบนี้จะช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับคนเมืองหนาวนั่นเอง
นั้นคือ ความรู้ที่เรามีสำหรับอาหารทิเบต .. ตอนนี้มาดูว่าเมนูที่เรารับประทานมีอะไรบ้าง
ในเมืองใหญ่ที่มีคนทิเบตทำธุรกิจร้านอาหาร ...มักจะให้บริการอาหารจีนเสฉวน อาหารตะวันตกและอาหารลูกผสม เช่นจามรีทอดและมันฝรั่งทอด ร้านอาหารขนาดเล็กที่ให้บริการอาหารทิเบตแบบดั้งเดิมยังคงมีอยู่ในเมืองและชนบทเท่านั้น
“อาหารทิเบตจะเป็นอาหารจีนก็ไม่ใช่ หรือเป็นอาหารอินเดียก็ไม่เชิง” .. คำกล่าวนี้ อาจจะเหมาะสมที่สุดในการอธิบายถึงอาหารที่เราทานวันนี้ ที่ดูแล้วน่าจะไม่ใช่อาหารทิเบตแท้ และอาจจะเป็นอาหารที่ดัดแปลงให้เป็นแบบ “ฟิวชั่น” ที่มีการลดทอนบางสิ่ง เพื่อให้ถูกปากคนที่ไม่ชินกับอาหารทิเบตแท้
เริ่มจากอาหารของชาวตะวันตกที่เราคุ้นเคย .. สลัดผัก รสชาติอร่อยมาก
โมโม่ .. เกี๊ยวหรือเสี่ยวหลงเปา ที่เราคาดหวังอยู่แล้วว่าต้องเป็นหนึ่งในเมนูที่ถูกนำมาเสริฟ .. ข้างในจะเปลี่ยนไส้เป็นผัก ชีส ไก่ แพะ อะไรก็ได้
อาหารทิเบตที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ .. เนื้อจามรี มาในแบบของหม้อไฟร้อนๆ .. แพะตุ๋น และผัดต่างๆ
.. บางเมนู อยากจะมี “ทิงโม” (Tingmo) หรือหมั่นโถวเลเยอร์ ที่มีความกรอบบาง ๆ ตรงชั้น ๆ ส่วนเนื้อตรงกลางนุ่มเหนียวกว่าหมั่นโถวนิดหน่อย นำมาจิ้มทานกับอะไรก็ได้ มีความอร่อย
โรลที่มีไส้เป็นเนื้อสัตว์เล็กน้อย และผักชนิดต่างๆ ..ซอสที่ใช้จิ้มก็รสดี อาจจะดีกว่าซอสหรือจิ๊กโฉ่วที่ใช้จิ้มติ่มซำที่คนไทยคุ้นเคย
แกง .. น่าจะเป็น “โจล โมโม่” (Jhol Momo)?? โดยโจลในภาษาเนปาลีแปลว่าแกง (Curry) หรือซุป น้ำสีเหลืองข้น มีรสพริกไทยอยู่ปลายลิ้นและมีเครื่องเทศบาง ๆ
โรล .. หน้าตาเหมือนปอเปี๊ยะทอด รสชาตไม่เลว แต่ทำไมคิดถึงน้ำจิ้มบ๊วยหวานๆจัง?
เห็ดทอด .. ไก่ย่าง (หากมีน้ำจิ้มแบบบ้านเรา จะเลิศรสไปเลยล่ะ) .. ผักบนน้ำซุป
ไก่ย่าง .. ไม่แน่ใจว่าเป็น Honey Chicken Chilli หรือ "Chicken Chilli" ไก่ส่วนสะโพกเนื้อฉ่ำๆชุบแป้งทอดกรอบคลุกกับซอสรสชาติหวานเผ็ดกลมกล่อม เพิ่มความอูมามิด้วยหอมแขกผัดลงไปในซอสผสมน้ำผึ้งเข้มข้น ไว้ทานเป็นกับข้าว .. รสชาติเค็มเผ็ดคล้ายกับอาหารจีนเสฉวน
เต้าหู้ และเห็ดทรัฟเฟิล??? .. อร่อยมากค่ะ
ปกติเวลาทานอาหารทิเบต จะปิดท้ายด้วย "Lassi" โยเกิร์ตปั่นแบบสมูทตี้รสหวานอมเปรี้ยวดื่มง่ายๆ และ "Indian Tea" .. แต่วันนี้เราไม่ได้สั่งค่ะ
ในช่วงเวลาสุดท้าย ก่อนที่จะ Say good bye Shangri La .. มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางรอนแรมหลายวันในดินแดนที่ฉันไม่คุ้นเคย ผ่านเข้ามาในห้วงคำนึง
.. ธงมนต์ผืนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ร้อยยาวเป็นสายเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างรอยต่อของมนุษย์และความเชื่อที่มองไม่เห็น เหมือนสายใยของความศรัทธา ความดีงาม ความบริสุทธิ์ ที่โอบกอดโลกให้อบอุ่น
ที่ปลายฟ้า แสงสีส้มยามเย็นกำลังอาบทายอดเขาสูง ดูงดงามและเปี่ยมมิติมากมาย … ความอบอุ่นของลำแสงสีทองค่อยๆไล่ความสว่างทีละน้อยๆ
เพื่อนๆต่างทยอยเดินลงมาตามเนินเขา …
มุมหนึ่งของห้วงคำนึง ความคิดแทรกผ่านความเหนื่อยอ่อนของร่างกาย เข้ามาในจิตใจว่า ..
ฉันได้เดินทางมายังดินแดนทุรกันดารและแสนไกลมาหลายวัน ได้สัมผัสกับพุทธศาสนาในอีกหน้าหนึ่งที่แตกต่างอยู่บ้างจากความคุ้นเคย ได้เรียนรู้เงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรมที่แปลกไป
แต่ .. ทุกการเดินทาง ย่อมมีจุดสิ้นสุด
“บ้าน” มีความหมายต่อสรรพสัตว์ไม่ต่างไปจากคน แม้หัวใจจะรักอิสระและพึงใจกับการรอนแรมไปไหนต่อไหน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ทั้งสัตว์และคนก็ต้องกลับบ้าน … เพื่อพักพิงและฝันถึงการเดินทางครั้งต่อไป
การได้รับมิตรภาพระหว่างการเดินทางนับว่าเป็นความอบอุ่นอย่างยิ่งสำหรับฉัน ซึ่งช่วยทดแทนความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย
ขอบคุณเพื่อนร่วมทางทุกคนจริงๆที่ทำให้ทุกๆวัน .. เป็นวันที่ดีอีกวันหนึ่งในชีวิตของฉัน
โฆษณา