เจ้าของเรือและผู้สร้างเรือ ไททานิก คือ บริษัท ‘White Star Line’ ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1845 เป็นบริษัทเดินเรือที่มีชื่อเสียงในเส้นทางที่เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเรือพาณิชย์ของบริษัทได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร เนื่องจากจุดเด่นที่มีการให้บริการที่สะดวกสบายและมีความปลอดภัยสูง เดิมที White Star Line เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ต่อมาเปลี่ยนมือขายให้กับ เจพี มอร์แกน บริษัทอเมริกันแทน แต่ยังคงจ้างพนักงานและลูกเรือชาวอังกฤษทำงาน
จุดเริ่มต้นแนวคิดสร้างเรือไททานิก มาจาก ‘เจ.บรูซ อิสเมย์’ กรรมการผู้จัดการของ White Star Line ผู้บริหารสูงสุดในเวลานั้น ต้องการสร้างเรือขึ้นมาแข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทเดินเรือสัญชาติอังกฤษเจ้าใหญ่ที่เป็นคู่แข่งที่ชื่อ ‘Cunard Lines’ ซึ่งโดดเด่นในเรื่องนวัตกรรมและได้รับการยอมรับอย่างมากอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ในแง่การลงทุนทางธุรกิจ บริษัท White Star Line ได้ประเมินต้นทุน และวางแผนทางธุรกิจไว้แล้วว่า การเดินเรือพาณิชย์ด้วยเรือไททานิกจะสร้างรายได้ทำกำไรมากมายในระยะยาวให้กับบริษัท
ก่อนหน้าที่จะมีการเดินทางเที่ยวแรกของเรือไททานิกในปี 1912 เรือไททานิกเป็นข่าวโด่งดังกับความใหญ่โตหรูหราและเทคโนโลยีที่ทันสมัยของเรือ และการส่งสารผ่านสังคมขนานนามว่า ‘เรือที่ไม่มีวันจม’ ซึ่งบริษัท White Star Line ยังเรียกเรือไททานิกว่า ‘The Millionaire Special’ ซึ่งมาพร้อมกับราคาตั๋วชั้นหนึ่งที่มอบประสบการณ์ระดับเฟิร์สคลาส ที่พักบนหรือหรูหรากว้างขวาง พร้อมบริการสระว่ายน้ำบนเรือ สนามสควอช โรงยิม โรงอาบน้ำสไตล์ตุรกี ร้านตัดผม ฯลฯ
หลังโศกนาฎกรรมผ่านพ้นเหล่าผู้รอดชีวิต ครอบครัวของเหยื่อ และเจ้าของสินค้าหลายร้อยคนได้ยื่นคำร้องต่อบริษัท White Star Line ทั้งเรื่องการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บต่อเนื่อง รวมทั้งการสูญเสียทรัพย์สินด้วย โดยคำร้องระบุว่าพวกเขาต้องได้รับเงินคืนตามมูลค่าสิ่งของที่สูญหาย รวมทั้งต้องได้ค่าชดเชยจากการที่สิ่งของที่แม้ไม่ได้มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่าทางใจสูญหายไปด้วย การเรียกร้องคิดเป็นมูลค่ารวม 16.4 ล้านดอลลาร์
บริษัท White Star Line ได้ประกันเรือไททานิก ไว้ประมาณ 133 ล้านดอลลาร์ (เทียบค่าเงินปัจจุบัน) หลังจากโศกนาฎกรรม กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าครอบคลุมการเรียกร้องทรัพย์สินเกือบทั้งหมด แต่ก็มีบางสินค้าที่ไม่ได้รับการชดเชย เช่น รถยนต์ที่นำขึ้นมาบนเรือ เพราะในเวลานั้นระบบกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ยังไม่มี
เหตุการณ์เรือไททานิกจม ทำให้บริษัท White Star line ถูกตั้งคำถามจากสื่อและสังคม เพราะก่อนหน้าบริษัทได้ประกาศจะสร้างเรือที่ไม่มีวันจม ผู้คนต่างเชื่อมั่น แต่เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมเรือชนภูเขาน้ำแข็งและจมลงทำให้ผู้คนสงสัยถึงระบบความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางสังคมที่มีการตั้งคำถามถึงความแตกต่างทางชนชั้นอย่างมากบนเรือลำนี้ ซึ่งส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิตของผู้โดยสารบนเรือ
เมื่อดูจำนวนผู้รอดชีวิตในเรือไททานิกพบว่าเป็นกลุ่มผู้โดยสารชั้นหนึ่งถึง 60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือตั๋วชั้นสอง รอดมา 44 เปอร์เซ็นต์ ตั๋วชั้นสามรอด 25 เปอร์เซ็นต์ และลูกเรือรอด 24 เปอร์เซ็นต์ โดย เจ.บรูซ อิสเมย์ ผู้บริหารของ White Star Line หนีลงเรือกู้ชีพรอดมาได้
หลังเหตุการณ์ไททานิก บริษัท White Star line ยังดำเนินธุรกิจต่อไป โดยเดินหน้าสร้างเรือรุ่นใหม่ตามมาอีก 23 ลำ บทเรียนจากไททานิก ทำให้คำนึงเรื่องความปลอดภัยสูงขึ้น มีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนเดินทาง
เมื่อย้อนมาดูเรือกลุ่มหรูหราขนาดใหญ่โต 3 ลำตามแผนการ ที่ White Star line สร้างขึ้นมาสู่้กับบริษัท Cunard Lines มีเพียงเรือ ‘โอลิมปิก’ เท่านั้นที่ทำกำไรได้ ส่วนเรือ ‘ไททานิก’ จมลงในการเดินทางครั้งแรก และเรือ ‘บริแทนนิก’ ถูกนำไปใช้เป็นเรือพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
ในปี 1933 การแข่งขันอันยาวนานระหว่างบริษัท White Star line และ Cunard Lines ลงเอยที่ควบรวมกิจการกัน เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักทั้งคู่ เมื่อรวมกันแล้วได้ใช้ชื่อว่า Cunard White Star Limited หลายปีต่อมาก็ปรับกลับไปใช้เหลือแค่ชื่อ Cunard ซึ่งปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการทำธุรกิจเรือสำราญ ที่มีเรือสำราญ อาทิ RMS Queen Mary 2, RMS Queen Victoria, RMS Queen Elizabeth เป็นต้น
โดยในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเรือไททานิก เรือของบริษัท Cunard ทุกลำจะชักธงสัญลักษณ์ของ White Star Line ที่เป็นรูปดาวสีขาวบนพื้นธงสีแดงขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อรำลึกและเป็นเกียรติให้แก่เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิกที่จมอยู่ส่วนที่ลึกลงไปของมหาสมุทรแอตแลนติก