26 มิ.ย. 2023 เวลา 11:37 • ไลฟ์สไตล์

8 สกิลการเงินที่ควรลงมือก่อนอายุ 30 ป้องกันคำว่า "สายเกินไป"

ถ้าลองถามวัย 20 ปีต้น ๆ เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกี่ยวกับการเก็บออม มักจะได้คำตอบว่า “ขอใช้เงินก่อน” “จะรีบเก็บเงินไปทำไม ยังมีเวลาเก็บเงินอีกหลายปี” “อายุ 40 ปีค่อยเก็บ”
ไม่ผิดที่จะได้คำตอบแบบนี้ เพราะหลายคนมองว่าตอนเรียนปริญญาก็ต้องใช้ความพยายาม อ่านหนังสือดึก ไม่ได้เที่ยว ดังนั้น เมื่อเรียนจบและสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเอง ก็ขอใช้เงินเพื่อสนองความต้องการของตัวเองก่อน เช่น ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจเรื่องเงินของคนวัยเริ่มต้นทำงาน อาจส่งผลต่อการเงินของตัวเองในอนาคตข้างหน้า หากเชื่อข้อสังเกตนี้ สิ่งสำคัญ คือ ควรสร้างแผนการเงินที่ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ
ในขณะที่มีอายุ 20 ปีต้น ๆ หรืออย่างมากก่อนอายุ 30 การเรียนรู้และมีวินัยที่ดีด้านการใช้จ่ายและการเก็บออม เรียนรู้การทำงบประมาณส่วนตัว จะสามารถช่วยป้องกันการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น ประกอบกับการเริ่มต้นลงทุนและใช้ประโยชน์จากผลตอบแทนแบบทบต้น จะทำให้มีอิสรภาพการเงินเร็วยิ่งขึ้น สำหรับทักษะการเงินของคนวัยนี้ เริ่มต้นได้ง่าย ๆ
✅ 1. ทบทวนงบประมาณรายวัน
ก่อนเข้านอน ใช้เวลา 5 นาทีเพื่อทบทวนว่าวันนี้ใช้จ่ายตามงบประมาณที่วางเอาไว้หรือไม่ เช่น ตั้งเป้าใช้เงิน 200 บาท ดูว่าจริง ๆ ทั้งวันใช้เงินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการทบทวนเป็นประจำจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าบรรลุเป้าหมายการใช้จ่ายในเดือนหรือไม่
การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรายวันอาจดูน่าเบื่อ เพราะต้องทบทวนก่อนเข้านอนทุกวัน แต่ถ้ามีวินัยจะช่วยให้การติดตาม ตรวจสอบเส้นทางการเงินในวันข้างหน้า เป็นไปอย่างราบรื่น
✅ 2. อย่าใช้เงินเกินเงินเดือน
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนที่ได้รับอาจยังไม่มาก จึงอาจค่อนข้างลำบากกับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน แล้วเหลือติดบัญชี แต่การใช้จ่ายให้น้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้เป็นวินัยตั้งแต่เนิ่น ๆ
✅ 3. เก็บออมเผื่อฉุกเฉิน
เงินออมเผื่อฉุกเฉิน เป็นปราการด่านแรกของการป้องกันปัญหาทางการเงิน เพราะเงินก้อนนี้จะช่วยรองรับการใช้ชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้ ตกลงาน หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่ทันคาดคิด โดยเงินออมเผื่อฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
✅ 4. วางแผนการเงินเพื่อในอนาคต
หากต้องการมีอิสระภาพทางการเงิน ต้องตั้งเป้าหมายทางการเงิน ด้วยการกำหนดเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น (เช่น เก็บเงินเผื่อยามฉุกเฉิน ซื้อรถยนต์) ระยะกลาง (เก็บเงินซื้อบ้าน เรียนต่อ) และระยะยาว (เก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ) เพราะหากไม่มีการวางแผนการเงิน อาจจะทำให้ไม่มีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต หรือมีแนวโน้มที่จะใช้เงินมากกว่าที่ควร
2
ปัจจุบันมีโปรแกรมคำนวณเงินออมออนไลน์มากมายที่สามารถเข้าไปใช้ได้ฟรี เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละเดือน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในกรอบเวลาที่ตั้งไว้
1
✅ 5. แผนเกษียณต้องมา
วัยเริ่มต้นทำงานหลายคนอาจมองว่าการเก็บออมเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องของคนวัย 40 ปีขึ้นไป แต่ความจริงหากเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่น ๆ จะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไปจนถึงบั้นปลายชีวิต และเมื่อเริ่มต้นเร็วก็จะมีเวลาปรับปรุงแผนการเงินหากเกิดความผิดพลาดในระหว่างเก็บออม ที่สำคัญเมื่อเริ่มต้นเร็วก็จะแบ่งเงินไปเก็บออมในแต่ละเดือนน้อยกว่าผู้ที่เริ่มต้นช้า พูดง่าย ๆ ลดภาระด้านการเงินในแต่ละเดือนลงไปได้
ตัวอย่าง...
1) ปัจจุบันอายุ 25 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 60 ปี (มีเวลาเก็บออม 35 ปี หรือ 420 เดือน) ตั้งเป้าหมายมีเงินเพื่อเกษียณ 4 ล้านบาท แสดงว่าในแต่ละเดือนต้องแบ่งเงินเพื่อมาออม 3,521 บาท (สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี)
2) ปัจจุบันอายุ 40 ปี ตั้งใจเกษียณอายุ 60 ปี (มีเวลาเก็บออม 20 ปี หรือ 240 เดือน) ตั้งเป้าหมายมีเงินเพื่อเกษียณ 4 ล้านบาท แสดงว่าในแต่ละเดือนต้องแบ่งเงินเพื่อมาออม 9,732 บาท (สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี)
✅ 6. วางแผนก่อนช้อปปิ้ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัย 20 ปีต้น ๆ ก็ต้องการใช้เงินเพื่อความสุขให้ตัวเอง ดังนั้น การช้อปปิ้งกับวัยนี้เป็นของคู่กัน แต่ก่อนจะเป็นนักช้อปที่ดี ต้องผ่านการฝึกฝนในการใช้จ่าย โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าข้าวของที่จะซื้อเป็น “ความจำเป็น” หรือ “ความต้องการ” และหากไม่แน่ใจหรือไม่สามารถแยกแยะได้ ทางออก คือ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างน้อย ๆ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นหากยังยืนยันว่าควรซื้อก็สามารถซื้อ แต่เมื่อไม่มีความจำเป็นก็งดซื้อ ที่สำคัญเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการช้อปปิ้ง ไม่ควรดึงเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายเด็ดขาด
✅ 7. จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน
เมื่อเงินเดือนโอนเข้าบัญชี อย่าลืมจ่ายเงินให้ตัวเองก่อน ในที่นี้หมายถึง การแบ่งเงินไปเก็บออมเป็นอันดับแรก ตามสูตร รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย เช่น แบ่งเงิน 15% ของเงินเดือนเพื่อเก็บออม ช่วงแรก ๆ อาจรู้สึกฝืนใจบ้าง แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะก็จะเริ่มคุ้นเคยกับการเก็บออม และยิ่งเห็นเงินเก็บเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ลองเพิ่มสัดส่วนการออมมากขึ้น
✅ 8. การเริ่มต้นลงทุน
เมื่อมีวินัยการเงินและการใช้จ่าย จะพบว่ามีเงินเหลือในบัญชี มาถึงตรงนี้ก็ถึงเวลาต้องแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับสไตล์และความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยก็เน้นตราสารหนี้ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็เน้นหุ้น กองทุนรวมหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ เช่น ทองคำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยเริ่มต้นทำงาน ต้องการช้อปปิ้ง กิน ท่องเที่ยว หรือซื้อรถยนต์ ผ่อนคอนโดมิเนียม แต่หากรู้จักวางแผนการเงิน มองเห็นอนาคตทางการเงินของตัวเองก็จะมีศักยภาพและความคล่องตัวในการเก็บออมและลงทุน เพราะเป็นวัยที่ยังไม่มีภาระทางการเงินมากนัก ดังนั้น หากเริ่มต้นเร็ว ลงมือเป็นขั้นตอน ก็จะประสบความสำเร็จเร็วตามไปด้วย
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #รายได้ #รายจ่าย #ออมเงิน #ลงทุน
โฆษณา