26 มิ.ย. 2023 เวลา 15:30 • ประวัติศาสตร์

สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี

สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ที่ได้นำแบบอย่างมาจากการปกครองคณะสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ได้อารธนาพระเถระผู้ใหญ่จากลังกาเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย นอกจากนั้น ยังได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชครั้งกรุงสุโขทัยเช่นเดียวกัน อย่างจารึกสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ที่กล่าวว่าพระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนา “พระมหาสวามีสังฆราชมาแต่ลังกาทวีป”
ต่อมาในสมัยอยุธยา ได้มีการเพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น “สกลมหาสังฆปรินายก” มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง มีการแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา หรือคณะเหนือและคณะใต้ มีพระพนรัตน์ หรือสมเด็จพระพนรัตน์ที่ปกติจะไม่ได้เป็นสมเด็จ หากแต่พระมหากษัตริย์จะทรงยกย่องให้เป็นสมเด็จเพียงบางองค์ จนต่อมาได้กลายเป็นสมเด็จพระวันรัตมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 อยู่ในฐานะเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี หรือพระในป่า เป็นพระสังฆราช (ต่อมาได้ใช้เป็น “สมเด็จพระสังฆราช”) ฝ่ายซ้าย
และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสี หรือพระในเมือง เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา (ซึ่งมีในอีกคำอธิบายหนึ่งระบุว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายขวาก็มี) แล้วหากสมเด็จพระราชาคณะรูปใดมีพรรษายุกาลมากกว่าก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราช
ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระอริยมุนีได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนายังลังกาทวีป เมื่อเดินทางกลับมาก็ได้รับความดีความชอบอย่ามากจากการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าว จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับจนถึงตำแหน่งพระสังฆราชเป็นที่สุดนั้น สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงได้โปรดให้คงราชทินนามที่ “พระอริยมุนี” ไว้ สำหรับตำแหน่งพระสังฆราช โดยเรียกว่า “สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี” แล้วต่อมาก็ได้กลายมาเป็น “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” ในสมัยธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปรับปรุงและเพิ่มเติมเป็น “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” อันหมายถึง สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า ถือเป็นพระนามสำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชาติกำเนิดเป็นสามัญชน ทรงเศวตฉัตร 3 ชั้น (ฉัตรขาว 3 ชั้น) ประกอบเป็นพระเกียรติยศ เทียบเท่ากับชั้นพระองค์เจ้า ซึ่งจะมีการวงเล็บชื่อเดิม พร้อมด้วยสมณฉายาไว้ตอนท้าย สืบมาจนถึงปัจจุบัน
พระแท่นเศวตฉัตร 3 ชั้น ของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณสังวร (ภาพ: เพจ เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ)
นอกจากพระนามสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณแล้ว สูงขึ้นไปอีกก็เป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชาติกำเนิดเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าและหม่อมราชวงศ์ หรือเทียบเท่าพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้นกรมหลวง ทรงฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้นประกอบเป็นพระเกียรติยศ และมีพระนามโดยเฉพาะ
ฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น กางกั้นเหนือพระโกศพระศพ สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณสังวร (ภาพ: เพจ Aksorn Pichai)
และถึงที่สุดของฐานะ “ประธานาธิบดีสงฆ์” แห่งสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักรนั้น ก็คือ “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชาติกำเนิดเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูง ระดับพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์หรือพระโอรสของพระมหาอุปราช ทรงเบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 5 ชั้น) ประกอบเป็นพระเกียรติยศ เทียบเท่าสมเด็จเจ้าฟ้า
เบญจปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 5 ชั้น (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554)
ปรากฏการสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าครั้งแรกและครั้งเดียวในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีเพียง 3 พระองค์ที่ได้ใช้พระอิสริยยศดังกล่าว คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระรูปเขียน (รูปที่ 1) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (รูปที่ 2) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และ (รูปที่ 3) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ภาพ: ลานธรรมจักร)
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก บัญชาการคณะสงฆ์ และตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์รูปหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช จากที่มีการเสนอรายชื่อพร้อมกับให้ความเห็นชอบ โดยมีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เมื่อได้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่สมควรแก่การ “รับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศซึ่งพระราชทาน” ในฐานะสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้น ท่ามกลางสังฆมณฑล อันประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัดต่าง ๆ ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
แต่เดิมไม่พบว่ามีระเบียบการปฏิบัติที่เด่นชัดมากเท่าไร บ้างก็ว่า ถ้าเป็นสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นพระราชวงศ์จะมีการจัดพระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ เรียกว่า “มหาสมณุตมาภิเษก” บ้าง แต่หากเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นสามัญชนจะไม่มีแบบแผนตายตัวแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
หมอนมหาสมณุตมาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดการพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 (ภาพ: เพจ พิกุลบรรณศาลา)
รวมถึงวันประกอบพระราชพิธี ที่เด่นชัดสุด คือตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจัดรวมกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล
จนมาถึงการสถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฎฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นการเฉพาะ เพื่อถวายพระเกียรติในตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญและเชิดชูพระพุทธศาสนาสืบไป โดยอนุโลมตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 (ภาพ: เพจ เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ)
สำหรับแบบแผนพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นั้น ประกอบด้วย
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 10.49 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรากูร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เป็นผู้แทนพระองค์ ในการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) หลั่งน้ำเทพมนต์ลงในพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระสังฆราช (ภาพ: Khaosod Online)
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 18.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรากูร เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์ ซึ่งดํารงตําแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อพระสงฆ์ทั้งนั้นออกไปครองผ้า กลับเข้ามานั่งยังอาสน์สงฆ์ตามลําดับเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย
จากนั้น ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะถวายศีล จบแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านประกาศกระแสพระราชโองการสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จบแล้ว สมเด็จพระราชาคณะนําสวดคาถา “สงฆราชฏฺฐปนานุโมทนา”
สำหรับบท “สงฺฆราชฏฺฐปนานุโมทนา” (สังฆราชัฏฐปนานุโมทนา) นั้น พระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เรียบเรียงขึ้น เพื่อให้พระมหาเถระผู้มีอาวุโสรองลงมา นำสวดอนุโมทนาและถวายพระพรแด่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/Pramahamint/photos/a.710479045700013/1287685221312723/?paipv=0&eav=Afb3Otck__HeZnZu6t8GBObR4jNsFmC5H0qszIpkHoxK1JBdrt_IKyXp96Htz1qhrvg&_rdr)
แล้วไม่น่าเชื่อเลยว่า พระสาสนโสภณ ซึ่งในกาลต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ ชั้นสุพรรณบัฏในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” จะได้รับการอนุโมทนาและถวายพระพรด้วยบทดังกล่าว ในคราวที่ได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 ด้วยเช่นกัน
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 (ภาพ: Khaosod Online)
จบแล้ว พระสงฆ์ กรรมการมหาเถรสมาคมนําสวด “โส อตฺถลทโธ” แล้วสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับที่อาสน์สงฆ์ พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม ณ ท่ามกลางสังฆมณฑล ซึ่งมีเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด
จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรตแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และถวายพระสุพรรณบัฏ พระตราตําแหน่ง พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ ขณะนั้น พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ตามพระอารามทั่วราชอาณาจักร ซึ่งชุมนุมในพระอุโบสถเจริญชัยมงคลคาถาและย่ำระฆัง
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 (ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
สำหรับเครื่องประกอบพระอิสริยยศของสมเด็จพระสังฆราช ประกอบด้วย
1. พระแท่นเศวตฉัตร 3 ชั้น
2. พระสุพรรณบัฏ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพานแว่นฟ้า พร้อมใบกำกับพระสุพรรณบัฏ
3. ไตรแพร
พระแท่นเศวตฉัตร 3 ชั้น พานแว่นฟ้าประดิษฐานพระสุพรรณบัฏ และใบกำกับพระสุพรรณบัฏ ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร, ภาพ: เพจ Aksorn Pichai)
ไตรแพรของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณสังวร (ภาพ: เพจ Aksorn Pichai)
4. พระตราตำแหน่ง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นดวงตราทรงกลม ทำด้วยงา กลางดวงตราเป็นรูปจักร (หมายถึงธรรมจักร) มีกำใหญ่ 4 ซี่ ในระหว่างนั้นมีกำเล็กช่องละ 2 ซี่ เป็น 8 ซี่ เข้ากันเป็น 12 ซี่ ที่ดุมมีอักษร ธ ตัวขอม ข้างบนมีอุณาโลมอยู่ในบุษบก ตั้งบนบัลลังก์ปลายเรียวอย่างรถรูปเหมือนพระที่นั่งบุษบกมาลา มีฉัตร 5 ชั้น 1 คู่ ตาลปัตรแฉก 1 คู่อยู่ข้าง พื้นตราผูกลายกระหนกนกคาบ
หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักรปฐมเทศนาด้วยกำลังพระปัญญา มีอักษรที่ขอบว่า “สกลคณาธิเบศร์ มหาสังฆปริณายก” และล้อมรอบด้วยเส้นวงกลม 3 ชั้น
พระตราตำแหน่ง “สกลคณาธิเบศร์ มหาสังฆปริณายก” สำหรับสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ภาพ: จดหมายเหตุงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม 2556)
5. พัดยศ สำหรับพัดยศสมเด็จพระสังฆราช มีที่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุของสมณทูตชาวลังกาที่เดินทางเข้ามายังอยุธยาในช่วงนั้น ได้กล่าวถึงพัดยศสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่ามีอยู่ 2 เล่ม เล่มหนึ่งทำด้วยงา ส่วนอีกเล่มหนึ่งเป็นพื้นกำมะหยี่สีแดง ประดับด้วยลายทองและเงิน
ในเวลาต่อมาก็ได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความเหมาะสม ตามพระชาติกำเนิด กล่าวคือ ถ้าเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าและสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พัดยศประจำพระองค์จะมีลักษณะเป็นพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ พื้นตาดเหลืองสลับตาดขาว ปักด้วยดิ้นเลื่อม ใจกลางเป็นตราพระราชลัญจกร หรือพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลนั้น ๆ แล้วมีการสลักส่วนยอดของพัดเป็นรูปฉัตร 5 ชั้นตามพระเกียรติยศ
ส่วนสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชาติกำเนิดเป็นสามัญชน ไม่ว่าจะเป็นราชทินนามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ หรือราชทินนามพิเศษอะไรก็ตาม ลักษณะของพัดยศประจำพระองค์จะเป็นพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ พื้นตาดเหลืองสลับตาดขาว ปักดิ้นเลื่อม ใจกลางเป็นช่อใบเทศแฉก 9 กลีบ หรือตราพระราชลัญลักษณ์ หรือตราพระราชโองการ และสลักส่วนยอดเป็นรูปฉัตร 3 ชั้นตามพระเกียรติยศ
(ซ้าย) พัดยศสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร (ขวา) พัดยศสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ภาพ: เพจ พิกุลบรรณศาลา)
นอกจากพัดยศสมเด็จพระสังฆราช ยังมีพัดพิเศษอีก 2 เล่ม ซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดที่จะถวายในโอกาสพิเศษสำหรับพระองค์สมเด็จพระสังฆราช หรือเพื่อเป็นการฉลองพระราชศรัทธาโดยส่วนพระองค์ ได้แก่ พัดแฉกลายงาประดับพลอย
มีลักษณะเป็นพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แกะสลักด้วยงาช้าง ประดับพลอย และตัวด้ามสร้างขึ้นด้วยงาช้างเช่นกัน โดยเป็นพัดที่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี บุรณศิริ) ต้นสกุลบุรณศิริ สร้างขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ในฐานะสมเด็จพระสังฆราชและเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
แล้วนับแต่นั้นมา สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงเป็นพระสงฆ์สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย นอกจากจะเป็นสกลมหาสังฆปริณายกแล้ว ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตอีกด้วย โดยจะมีการใช้พัดเล่มดังกล่าว เฉพาะในงานพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
พัดแฉกลายงาประดับพลอย สำหรับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต (ภาพ: เพจ พิกุลบรรณศาลา)
รวมถึงพัดรัตนาภรณ์ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพนับถือและคุ้นเคย อนุโลมตามเหรียญรัตนาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ถือเป็นพัดรองประเภทหนึ่ง ใช้ได้เฉพาะพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทาน และเมื่อถวายอนุโมทนาในพระราชพิธีฉัตรมงคลเพียงงานเดียวเท่านั้น
มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง ใจกลางปักเป็นรูปเหรียญรัตนภรณ์ตามแต่ละรัชกาล ประกอบลวดลายโดยรอบ รวมถึงพัดจะมีสีพื้นที่แตกต่างกันไปตามลำดับชั้น
โดยเฉพาะพัดรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 1 ถ้าอิงตามที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชแล้ว เป็นพัดหน้านางมีพื้นทำด้วยผ้าต่วนสีน้ำเงิน ต่อมาทำด้วยไหมสีน้ำเงิน กลางพัดมีอักษรพระปรมาภิไธยอยู่ในวงกลมมีรัศมีแบบเหรียญรัตนาภรณ์ ซึ่งอักษรพระปรมาภิไธยและรัศมีประดับด้วยพลอยสีขาว (แทนเพชร) เดิมมิได้ประดับพลอย รอบพัดเป็นแถบแพรสีเหลือง มีริ้วขาว 2 ข้าง
ด้านบนพัดปักดิ้นเป็นรูปหน้ากาล กลางหน้ากาลมีรูปจักรี ด้านข้างพัดซ้าย-ขวาปักดิ้นเป็นลายประจำยาม นมพัดปักดิ้นเป็นลายกระหนก ตรงกลางลายกระหนกเป็นรูปกลีบบัว ภายในกลีบบัวมีพระมหาพิชัยมงกุฎ
พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 ที่ถวายแด่พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2501 (ภาพ: เพจ พิกุลบรรณศาลา)
พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 1 ประดับเพชร (ภาพ: เพจ พิกุลบรรณศาลา)
พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 ประดับเพชร ที่ถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566 (ภาพ: เพจ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช)
6. เครื่องสมณศักดิ์ ได้แก่ พานพระศรี หีบตราจักรี (หีบหลังเจียด) พระสุพรรณศรี หรือกระโถนทรงกระทายเล็ก พระสุพรรณราช หรือกระโถนปากแตรใหญ่ คนโท บาตรพร้อมฝาเชิง ขันน้ำพานรองมีจอก พร้อมคลุมตาดรูปฝาชี ถาดสรงพระพักตร์ กาทรงกระบอก หม้อลักจั่น หีบพระโอสถหลังนูน และปิ่นโตทรงกลม 4 ชั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องถมปัด
โดยเครื่องถมปัด คือ ภาชนะที่ทำด้วยทองแดง เคลือบน้ำยาผสมด้วยลูกปัด ซึ่งป่นให้เป็นผงสีและลวดลายต่างๆ ทำนองอย่างการลงยาสีเครื่องทอง เหตุที่ไม่ใช้เครื่องสมณศักดิ์ ซึ่งทำด้วยวัสดุต่าง ๆ ที่มีค่า เช่น ทองนั้น นั่นก็เพราะว่า เพื่อให้ต้องกับหลักพระธรรมวินัยที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์จับต้องสิ่งที่เรียกว่า “วัตถุอนามาส” เช่น ทอง เงิน อัญมณีต่าง ๆ เพราะล้วนเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ และโมหะ อันจะทำให้ความเป็นสมณะแปรเปลี่ยนไป จนไม่มีเวลาได้ประพฤติพรหมจรรย์ ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่
เครื่องสมณศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ภาพ: จดหมายเหตุงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม 2556)
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ในสังฆมณฑลตามลําดับแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
จบแล้ว สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปประทับ ณ อาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ พระมหาเถระฝ่ายคณะธรรมยุตและฝ่ายมหานิกาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานศาลฎีกา ถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แล้วสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จออกจากพระอุโบสถทางพระทวารกลาง ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวนและจีน ส่วนพระสงฆ์นอกนั้นออกจากพระอุโบสถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินกลับ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร, ภาพ: เพจ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช)
ภายหลังเสร็จการพระราชพิธี สมเด็จพระสังฆราชก็จะเสด็จกลับยังพระอารามที่พระองค์ประทับอยู่ ซึ่งต่างจากธรรมเนียมเดิมที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสมเด็จพระสังฆราชได้รับการสถาปนาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะได้มีการอัญเชิญจากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
เนื่องจากเป็นพระอารามหลวงใหญ่ของราชธานี เพื่อจะได้เป็นประธานแก่คณะสงฆ์แห่งพุทธจักร อันเป็นการสอดคล้องตามพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย โดยฝ่ายขวา ปรากฏข้อมูลว่า “พระสังฆราชา อยู่วัดมหาธาตุ” นั่นเอง
อย่างไรก็ดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ก็ได้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาอย่างต่อเนื่องถึง 4 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) สมเด็จพระสังฆราช (มี) สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) และสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อสถาปนาสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) แล้ว ขณะนั้นวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์อยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์ จึงไม่สะดวกต่อการเชิญเสด็จมาสถิต ทำให้ธรรมเนียมดังกล่าวต้องเป็นอันสิ้นไปในที่สุด
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (ภาพ: วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร)
ถึงแม้ว่า เราจะมีสมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงศีลาจารวัตรมากเพียงใดก็ตาม ย่อมต้องอาศัยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและดำรงอยู่ในสมณเพศอย่างมั่นคงของบรรดาพระภิกษุเป็นตัวอย่างให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เจริญรอยตาม สมกับที่เป็น “สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า” ถือ “เป็นเนื้อนาบุญอันไพ ศาลแด่โลกัย และเกิดพิบูลย์พูนผล สมญาเอารสทศพล มีคุณอนนต์ อเนกจะนับเหลือตรา” ถึงจะสามารถจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่คู่กับสังคมไทยได้ต่อไปตราบนานเท่านาน
ขอถวายโพสต์นี้เป็น “สังฆราชนุโมทนา” และวิทยาทานในมหามงคลสมัย
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช
เสด็จสถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร ทรงเจริญพระชนมายุ 8 รอบ เถาะนักษัตร 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ด้วยประการฉะนี้
ขอถวายพระพร
อ้างอิง:
  • พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราชในอดีต โดย โพสต์ทูเดย์ (https://www.posttoday.com/politics/479430)
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๘ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๔ (https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/A/10.PDF)
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๐๑ หมายกําหนดการ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๘(https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1229527.pdf)
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔ ข หมายกําหนดการ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐(https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2098802.pdf)
  • สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๒ โดย กัลยาณมิตร (https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=21235)
  • หนังสือ พระราชพิธีและรัฐพิธีในรัชกาลปัจจุบัน โดย สำนักงานส่งเสริมเสริมเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (2550)
  • หนังสือ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดย กรมศิลปากร (2533)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
 
#สมเด็จพระสังฆราช #พัดแฉกลายงาประดับพลอย #พัดรัตนาภรณ์
โฆษณา