27 มิ.ย. 2023 เวลา 08:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Why Some People Get Sick More Often

ทำไมบางคนถึงป่วยบ่อย
ความอ่อนแอทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการตอบสนองของร่างกายต่อการอักเสบ ล้วนมีอิทธิพลต่อโอกาสที่เราจะล้มป่วย
ทุกคนล้วนเจ็บป่วย ถึงแม้ว่าเราจะกินผักหรือกินวิตามิน ไม่ช้าก็เร็ว เชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตราย จะแทรกซึมเข้าไปในร่างกายของเรา และเราจำเป็นต้องหยุดพัก เพราะถึงเวลาที่เราต้องพักผ่อน และปล่อยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานแทน
เมื่อเราเจ็บป่วย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนดูเหมือนจะป่วยบ่อยกว่าคนอื่นๆ บางทีเราก็สามารถสรุปได้ง่ายๆ ว่าบุคคลเหล่านี้ เช่น ครูที่สอนโรงเรียนประถม หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำงานโรงพยาบาล มักจะสัมผัสกับคนป่วยบ่อยกว่าเท่านั้น แต่ความอ่อนไหวต่อการเจ็บป่วยนั้น มันไม่เหมือนความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับคนที่เป็นไข้หวัด เพราะแต่ละคนมีการเจ็บป่วยที่ไม่เหมือนกัน
นอกจากการเจ็บป่วยที่ต่างกันแล้ว ผู้คนยังมีการฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะกลับไปสู่ระดับสุขภาพพื้นฐานเดิมๆ หลังจากที่ติดไข้หวัดใหญ่หรือติดโควิด ระบบชีววิทยาเบื้องหลังสาเหตุนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ว่าทำไมคนบางคนถึงได้ป่วยบ่อยกว่าคนอื่น
แต่บทความวิจัยที่ได้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ในวารสาร เนเชอร์ คอมมูนิเคชันส์ Nature Communications ได้แสดงให้เห็นถึง ส่วนประกอบในการฟื้นคืนตัวของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นความสามารถในการฟื้นฟูการทำงานของภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันโรค และช่วยควบคุมการอักเสบที่เกิดจากโรคติดเชื้อ ตลอดจนแหล่งที่มาของการอักเสบอื่นๆ
วารสาร Scientific American ได้พูดคุยกับ อะฮูจา Sunil Ahuja หัวหน้าโครงการวิจัย ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเทกซัส เมืองซานอันโตนิโอ และยังเป็นผู้อำนวยการของศูนย์การแพทย์ทหารผ่านศึก Department of Veterans Affairs Center for Personalized Medicine ได้ตอบคำถามและอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุที่บางคนล้มป่วยบ่อย
บทสัมภาษณ์
ทำไมบางคนถึงป่วยง่าย
โดยทั่วไปแล้ว เราจะพิจารณาปัจจัยหลักสามประการคือ ประการที่หนึ่งคือ ความอ่อนแอทางพันธุกรรม นั่นคือ คุณเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางพันธุกรรม ที่จะทำให้คุณติดเชื้อได้ง่ายขึ้น คุณอาจมีข้อผิดพลาดทางพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด เช่น ความหลากหลายในยีนที่อธิบายไว้อย่างดีเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของคนเรา
ประการที่สองคือ สภาพแวดล้อมที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก หากคุณดูที่บรรพบุรุษของเรา จะพบว่าบรรพบุรุษของเราจำนวนมากมักจะเสียชีวิตเมื่ออายุ 50 ปี เนื่องจากว่า พวกเขามีแอนติเจนโหลดสะสมอยู่ในร่างกายมาก แอนติเจนโหลดคือ ปริมาณความเครียดจากการอักเสบที่การติดเชื้อสร้างขึ้น ซึ่งนั่นเป็นช่วงก่อนที่จะมีวัคซีน แต่หลังจากมีวัคซีนแล้ว ได้ทำให้ผู้คนรุ่นหลังมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น และมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาข้างบนทั้งสองปัจจัยเป็นปัจจัยคงที่ แต่ปัจจัยที่สามคือ การตอบสนองต่อความเครียดจากการอักเสบ ร่างกายของผมอาจตอบสนองในทางดีต่อการติดเชื้อหนึ่ง แต่อาจตอบสนองในทางไม่ดีต่อการติดเชื้ออีกตัวหนึ่ง มันเป็นหยินหยาง สิ่งแวดล้อมนั้นมีบทบาทอย่างแน่นอน และพันธุกรรมเดียวกันนั้นที่อาจป้องกันการติดเชื้อหนึ่งให้กับเรา แต่อาจเป็นอันตรายต่อเราถ้าไปรับเชื้ออื่น
ผู้คนมีการตอบสนองต่อเชื้อที่แตกต่างกัน ในการตอบสนองต่อเชื้อโรคเหล่านี้ ซึ่งอาจมีพื้นฐานทางพันธุกรรมด้วย ร่างกายเราเมื่อรับเชื้อโรค ทุกคนจะเกิดการอักเสบ เราทุกคนต้องมีการอักเสบบ้างเป็นธรรมดา แต่การอักเสบนั้นจะต้องเกิดในปริมาณที่เหมาะสม มีการอักเสบในที่ที่เหมาะสม มีการอักเสบในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งบริเวณที่เกิดอักเสบหรือติดเชื้อนั้นจะสังเกตุว่า มีลักษณะบวม แดง และอุ่น
สัญญาณของการอักเสบที่ตำแหน่งนั้นจะบอกว่า "ช่วยด้วย ผมต้องการเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อให้มาแสดงตัว และมาช่วยผมที่ตำแหน่งนั้นโดยด่วน ซึ่งหน้าที่ของเซลล์เม็ดเลือดขาว จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของการอักเสบไม่ให้ลามออกไปมาก และอีกอย่างก็เพื่อจะช่วยให้การอักเสบนั้นทุเลาลงและหายได้" ร่างกายเราจะผลิตสารเคมีเหล่านี้ออกมา ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า คีโมไคน์ “คีโม” ย่อมาจาก คีโมอะแทรคทันท์ “chemoattractant” ซึ่งเป็นสารดึงดูดเซลล์เม็ดเลือดขาว ให้มาที่ตำแหน่งที่เกิดการอักเสบ
บางคนจะเกิดการอักเสบมาก แต่บางคนจะเกิดการอักเสบเพียงเล็กน้อย โดยแต่ละคน จะมีอาการอักเสบมากน้อยแตกต่างกันไป จากผลการวิจัยของเรา คนที่ความสามารถในการควบคุมการอักเสบ และสามารถรักษาระดับของภูมิคุ้มกันไว้ได้สูงนั้น จะไม่แสดงอาการอะไรออกมา บางคนติดเชื้อแต่ยังไม่ป่วย เพราะว่ามีการตอบสนองต่อการอักเสบที่ดีมากมาก
ดูเหมือนว่าคนบางอาชีพ เช่น ครู จะป่วยบ่อย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เหตุผลส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ คุณอยู่กับเด็ก 30 หรือ 40 คน ในระยะใกล้ชิด มันก็คือการเปิดรับเชื้อโดยตรง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะป่วย แต่เป็นเพียงกลุ่มย่อยของคนที่รับเชื้อเท่านั้นที่จะป่วย ความอ่อนไหวต่อการป่วยนี้ เป็นความอ่อนไหวต่อโรคแบบทั้งกลุ่มประชากร ไม่ใช่เป็นรายบุคคล ถ้าพวกเขาเป็นผู้ที่ดูแลกลุ่มเด็กๆ พวกเขาก็ย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่นๆ ถ้ามีการเปิดรับเชื้อโดยตรงมากเท่าใด ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการเสื่อมสภาพได้
ผมบอกคุณเกี่ยวกับการอักเสบ และวิธีที่สามารถจะเพิ่มหรือลดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ ในชีวิตของเราทุกคน เราได้ผ่านวงจรการติดเชื้อและอักเสบดังที่กล่าวมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะมีเพียงบางคนที่ร่างกายพยายามจะฟื้นตัวได้ดี และจะมีบางคนการฟื้นตัวของร่างกายได้เพียงในระดับกลางๆ เพราะระดับการฟื้นตัวของร่างกายขึ้นกับอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับคืนได้ดีดังเดิม
วิธีดั้งเดิมในการทำวิจัยคือการเปรียบเทียบคนชรากับคนหนุ่มสาว สิ่งเดียวที่แตกต่างกันระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนชราคืออายุ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็ไม่เป็นความจริงซะทีเดียว เราอาจต้องแบ่งกลุ่มคนชราออกเป็นระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน นั่นก็เหมือนกับการพูดว่า “ผมอายุ 60 ปี” ซึ่งผมเป็นคนแก่อย่างที่ผมเป็น “และตอนนี้ผมก็เป็นคนแก่แล้ว และผมก็เหมือนกับคนแก่ทุกคน” ซึ่งนั่นอาจไม่เป็นความจริง ยังมีคนแก่ๆ ที่มีอายุ 110 ปีที่ยังทำได้ดี
โดยรวมแล้ว คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าอีกบางกลุ่ม โดยส่วนใหญ่แล้ว การติดเชื้อบ่อยๆ มักเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันน้อย ในกลุ่มใหญ่ของประชากร จะมีกลุ่มย่อยในนั้นที่ติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากพวกเขามีภูมิคุ้มกันลดลงนั่นเอง ถึงแม้ว่าจะมีอายุใกล้เคียงกันก็ตาม เรารู้ว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราจะลดลง ดังนั้นในการติดเชื้อเหล่านี้แต่ละครั้ง จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้สุขภาพของภูมิคุ้มกันของเราเสื่อมลงในทุกช่วงอายุ
การฟื้นคืนตัวของภูมิคุ้มกันจะส่งผลต่ออายุขัยของบุคคลได้อย่างไร
เราสามารถแบ่งคนออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ผู้ที่มีสมรรถภาพทางภูมิคุ้มกันสูง และมีอาการอักเสบต่ำ กลุ่มนี้จัดว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการปกป้องและคุ้มครองมากที่สุด จึงทำให้คนกลุ่มนี้ มีชีวิตยืนยาวที่สุด กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีการอักเสบสูง กลุ่มคนเหล่านี้จะตายเร็วกว่ากลุ่มอื่น เมื่อเทียบกับคนที่มีอายุเท่ากัน
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีสมรรถภาพทางภูมิคุ้มกันสูงซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดี แต่มีการอักเสบสูง ซึ่งถือว่าไม่ดี ทำให้คนกลุ่มนี้มีอายุขัยปานกลาง กลุ่มที่ 4 ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีอาการอักเสบต่ำ กลุ่มนี้จะมีอายุขัยปานกลางเช่นกับกลุ่มที่สาม
ผมขอยกตัวอย่างวัฏจักรเหล่านี้ เช่น ในผู้ที่เคยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามธรรมชาติ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เกี่ยวกับการตายของพวกเขาได้เปิดใช้งาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีกระบวนการกู้คืน นั่นคือมีวัฏจักรของการซ่อมแซมการบาดเจ็บเหล่านี้ ถ้าหากเราบาดเจ็บมากเกินไป และการซ่อมแซมกลับคืนได้ไม่ดีพอ ก็จะมีอาการอักเสบหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น พวกเขาติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็หายดี แต่จะมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่จะยังมีสิ่งเหล่านี้ตกค้างหลงเหลืออยู่ในร่างกาย
มีวิธีป้องกันการติดเชื้อไม่ให้ทำร้ายเราอย่างร้ายแรงได้หรือไม่
นั่นจะคล้ายกับการพูดว่า “ผมแน่ใจได้ยังไงว่า เมื่อผมไปร้านขายของชำ มีคนบ้าหรือคนหลอนบางคนไม่อยากฆ่าผม” ผมไม่คิดอย่างนั้น คนที่แข็งแรงที่สุดบางคนเป็นไข้หวัดใหญ่ และเสียชีวิต ในบรรดาผู้ที่มีสุขภาพภูมิคุ้มกันดี ผมสามารถทำนายเบื้องต้นในระหว่างที่มีการติดเชื้อได้หรือไม่ คำตอบคือ ผมไม่สามารถจะคาดเดาได้เลย นั่นคือปัญหาใหญ่
เราทราบดีว่าผู้คน เช่น คนหนุ่มสาวที่เขามีภูมิคุ้มกันไม่ดี ร่างกายเขาอาจจะแย่หลังจากได้รับวัคซีน ผมสามารถแนะนำพวกเขาว่า พวกเขามีโอกาสที่ร่างกายจะไม่ดีหรือมีโอกาสที่ร่างกายจะแย่ลง ถ้าไปรับวัคซีน เพราะว่าภูมิคุ้มกันของพวกเขาต่ำ
ผมสามารถบอกคุณได้เฉพาะวิธีป้องกันความเสี่ยงที่อาจปกป้องคุณได้
คุณจะลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อโรคได้อย่างไร
ผมยังรู้สึกดีใจเลยที่เห็นทหารผ่านศึกสูงอายุ สวมหน้ากากอนามัยเดินเข้ามาไปในโรงพยาบาล เพราะสิ่งที่เห็นมันบอกผมว่าอย่างน้อยพวกเขายังเข้าใจหลักการพื้นฐานที่ว่า สุขภาพภูมิคุ้มกันของพวกเขาไม่ดี หรือพวกเขาได้รับแจ้งแล้วและพวกเขาก็ปกป้องตัวเอง
ต้องบริโภคอาหารที่ดี และผมคิดว่าที่สำคัญที่สุดคือ การออกกำลังกายก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ผมสงสัยว่าคนที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ออกกำลังกายเป็นระยะ จะได้รับประโยชน์จากภูมิคุ้มกัน ด้านพฤติกรรมก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเช่นกัน โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อลดความเสี่ยง แต่สำหรับผมคิดว่า การจะไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนเรานั้น เป็นเรื่องที่ยากมากมาก
สิ่งสำคัญสองประการที่ผมจะเน้นคือ การป้องกันไว้ก่อน และการเปลี่ยนพฤติกรรม
ผู้เขียน: Elena Spivack
แปลไทยโดย: Wichai Purisa (senior scientist)
โฆษณา