27 มิ.ย. 2023 เวลา 14:00 • ท่องเที่ยว

Vivian James Rigney ชายที่กลัวความสูงแต่เลือกเอาชนะด้วยการพิชิตเอเวอเรสต์

ภารกิจ 14 ปีและเงิน 6.3 ล้าน ปีน 7 ยอดเขาสูงที่สุดใน 7 ทวีป
ถ้ามีคนถามว่า ‘เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร?’
เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะตอบว่า “พิชิต 7 ยอดเขาสูงที่สุดใน 7 ทวีป (Seven Summits) ให้ได้”
และถึงจะมีคนตอบแบบนั้น จากสถิติแล้วมีไม่ถึง 1,000 คนบนโลกนี้ที่เคยทำได้
วิเวียน เจมส์ ริกนีย์ (Vivian James Rigney) เป็นหนึ่งในนั้น
แม้เขาจะ “กลัวความสูง” ก็ตาม
ริกนีย์เป็นโค้ชผู้บริหารและนักพูดที่เดินทางมาแล้วกว่า 80 ประเทศ เกิดและโตที่ประเทศไอร์แลนด์ ชอบดูสารคดีและหลงรักธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อของเป็นนักปีนเขาตัวยง และตัวเขาเองก็คุ้นชินกับการปีนเขามาโดยตลอด
ความฝันในการพิชิต 7 ยอดเขาเริ่มต้นขึ้นในวัย 26 ปี ซึ่งตอนนั้นเขามีโอกาสไปทำงานที่แอฟริกาใต้และเพิ่งพิชิตยอดเขาคิลิมันจาโรสำเร็จ มีโอกาสไปได้ยินคนพูดกันถึงเรื่อง ‘Seven Summits’ หรือ 7 ยอดเขาสูงที่สุดใน 7 ทวีป ที่เป็นเหมือนเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของนักปีนเขา
ไม่ว่าจะด้วยความฮึกเหิมของวัยหนุ่ม ความต้องการอยากเอาชนะความกลัวที่สูงซึ่งเป็นเหมือนยอดเขาในจิตใจที่ต้องการเอาชนะ หรือนิสัยส่วนตัวที่มีความมั่นใจ อีโก้สูง ไม่เคยยอมแพ้ พยายามจะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเขามีความสามารถก็ตาม เส้นทางภารกิจเพื่อจะพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุด 7 แห่งใน 7 ทวีปก็เริ่มต้นขึ้น
ในการสัมภาษณ์กับ CNBC เขาบอกว่ากระบวนการทั้งหมดใช้เวลากว่า 14 ปี และใช้เงินไปราว ๆ 170,000 - 180,000 เหรียญ หรือราว 6.3 ล้านบาท ในการปีนเขาทั้ง 7 ลูก
“เอเวอเรสต์ แพงที่สุดแล้ว” ซึ่งรวม ๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จ่ายไปคือ 80,000 เหรียญ หรือราว 2.8 ล้านบาท ในปี 2010 (ซึ่งตอนนี้ราคาอาจจะแพงกว่านี้ไปแล้ว)
แต่การพิชิตยอดเขาทั้ง 7 แห่ง รวมถึงเอเวอเรสต์ที่ความสูงระดับ 8848 เมตร ต้องมีการวางแผนและเตรียมตัวเป็นอย่างดีด้วย
“ผมต้องเก็บเงินและทำแผนขึ้นมาเลย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงใช้เวลานาน ผมเริ่มปีน หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อสาขาธุรกิจ เงินก็ไปจ่ายค่าโรงเรียนหมด หลังจากนั้นก็เริ่มใหม่ ได้งานให้...ค่อย ๆ ประกอบร่างทีละนิดจนสามารถทำจนสำเร็จได้”
แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้ริกนีย์สามารถบรรลุเป้าหมายได้คือการทำงานกับบริษัทที่ยินดีให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนตัวของพนักงาน มีวันลาหยุดทำตามที่ตัวเองฝัน
“ถ้าคุณทำงานกับบริษัทที่ดี พวกเขาจะเห็นว่าเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับจิตวิญญาณของบริษัทได้ด้วย”
เดือนพฤษภาคม 2010 หลังจากพิชิตยอดเขามาแล้วทั้งหมด 6 แห่ง ริกนีย์กำลังเผชิญหน้ากับเป้าหมายสุดท้ายภูเขาขนาดมหึมาที่อยู่ตรงหน้า เขาใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่า 18 เดือนเพื่อพิชิตเอเวอเรสต์ การปีนครั้งนี้ต้องใช้ทั้งกำลังกายแบบที่เขาไม่เคยรู้สึกมาก่อน และที่สำคัญคือกำลังใจที่ต้องคอยปลุกให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้าให้ได้แม้มันจะอยากยอมแพ้มากแค่ไหนก็ตาม
กระบวนการพิชิตเอเวอเรสต์ใช้เวลาทั้งหมด 2 เดือน เขาบอกว่ามันคือ “การวิ่งอัลตรามาราธอนที่ไม่รู้จักจบสิ้นอันแสนเจ็บปวด”
ระหว่างทางที่ปีนมีจังหวะหนึ่งที่ไกด์นำทางของทีมไปพบศพของนักปีนเขาที่หายตัวไปตั้งแต่ช่วง 60’s นั่นคือจังหวะที่เขาเริ่มตระหนักว่าถึงอันตรายที่อยู่ตรงหน้า​อย่างแท้จริง ความตายอยู่กับเขาทุกขณะ ถ้าเกิดก้าวขาพลาดหรือหลุดโฟกัส ศพต่อไปอาจจะเป็นเขาก็ได้ (จากสถิติแล้วมีคนเสียชีวิตราว ๆ 6-7 คนต่อปี จากนักปีนเขาที่พยายามพิชิตเอเวอเรสต์ 800 คนต่อปี)
“ช่วงวันก่อนจะถึงยอดเขานั้นลำบากมากทั้งร่างกายและจิตใจ มีอันตรายและความเสี่ยงมากมาย นั่นคือตอนที่ผมมีจังหวะที่รู้สึกอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปถึงยอดรึเปล่า และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะกลับลงมาได้ไหม”
ความทรงจำเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ผ่านมาแล่นเข้ามาในหัว ตั้งแต่การเซ็นเอกสารยินยอมให้ทิ้งร่างไว้ระหว่างทางถ้าเกิดเขาเสียชีวิต หรือข่าวหิมะถล่มที่พรากชีวิตนักปีนเขาที่เดินบนเส้นทางเดียวกันนี้ปีแล้วปีเล่า นักปีนเขามากมายที่สูญเสียอวัยวะจากการบาดเจ็บจากหิมะกัด (Frostbite) ฯลฯ
ริกนีย์เล่าว่าตลอดเส้นทางที่ก้าวเดินไปข้างหน้า ความกลัวเหล่านี้ไม่เคยหมดไป เหมือนกับอาการกลัวความสูงของที่เป็นมาโดยตลอดไม่ว่าจะปีนเขามาแล้วกี่ลูกก็ตาม สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือการโฟกัสไปทีละก้าว ทีละก้าว จดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วเสียงอื้ออึงในหัวจะเงียบลงไป
หลังจากช่วงเวลาอันแสนยากลำบากยาวนาน 2 เดือน ในที่สุดเขาก็สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้นก็เปลี่ยนแปลงมุมมองในชีวิตและการทำงานของเขาไปตลอดกาล
แทนที่จะยึดติดกับความสามารถและอีโก้ของตัวเอง เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับว่ามันมีอะไรมากมายบนโลกใบนี้ที่ควบคุมไม่ได้ โลกอันสับสนวุ่นวาย ความรู้สึกว้าวุ่นทั้งหลาย อีโก้ ความยึดมั่นถือมั่น หรือการพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าคุณมีความสามารถ สิ่งเหล่านี้ไม่มีค่าเลยบนเส้นทางอันทรหดนี้
เรากลัวได้ กังวลได้ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ไม่จำเป็นต้องยึดติด เมื่ออ่อนแอหรือพ่ายแพ้ อย่าพยายามแบกทุกอย่างไว้บนบ่า อีโก้หรือความอยากเอาชนะจะทำให้คุณพ่ายแพ้อย่างไม่มีชิ้นดี แต่การแชร์ความรู้สึกและกล้าที่ยื่นมือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีมเป็นหนทางที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้
“บนเอเวอเรสต์ อีโก้จะไม่ทำให้คุณขึ้นไปข้างบนได้ ที่จริงแล้วมันเป็นภาระอันหนักอึ้งด้วยซ้ำ”
นั่นคือตอนที่เขาเริ่มเข้าใจว่า
“การปล่อยวางกลายหนทางเดียวที่คุณทำได้” และ “มันทำให้ผมคนที่กลับลงมาจากยอดเขาเป็นคนที่ถ่อมตัวมากขึ้น”
เราไม่มีทางรู้ว่าโลกจะเป็นยังไง จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้คือตัวของเราเองเท่านั้น
แม้ริกนีย์จะสามารถพิชิตภารกิจ 7 ยอดเขาสูงที่สุดใน 7 ทวีปได้สำเร็จ แต่อาการกลัวความสูงของเขาก็ไม่ได้หมดไปซะทีเดียว ทุกครั้งที่อยู่บนที่สูงมันก็จะกลับมาใหม่ มันคือภูเขาที่ตั้งตระหง่านอยู่ภายในใจและคงไม่มีวันเอาชนะได้อย่างสมบูรณ์
แต่บทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขากล้าที่จะ ‘ยอมรับ’ ความกลัวตรงนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง
การยอมรับไม่ใช่การยอมแพ้ มันต่างกันโดยสิ้นเชิง การยอมรับต้องใช้ความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและความกลัวที่อยู่ตรงหน้า กล้าที่จะเดินต่อไปแม้ยังรู้สึกกล้วแค่ไหนก็ตาม เพราะเมื่อรู้ว่าภูเขาลูกนี้ยังไงมันก็ไม่หายไป และแม้ว่าเราจะไม่มีทางเอาชนะมันได้ แต่เราเรียนรู้ที่จะยอมรับที่อยู่กับมันอย่างมีสติได้
1
ริกนีย์บอกว่า “คนพูดถึงการ ‘เอาชนะ’ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่จริงคุณไม่ได้ ‘เอาชนะ’ ยอดเขาหรอกนะ คุณแค่สงบลงและมีสติกับตัวเองมากขึ้นเท่านั้นเอง
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการเพจ aomMONEY)
#aomMONEY #MoneyStorytelling #SevenSummits #วิเวียนเจมส์ริกนีย์ #NakedattheKnifeEdge #VivianJamesRigney #everest #เอเวอเรสต์ #SevenSummits #ปีนเขา #แรงบันดาลใจ #รับมืออุปสรรคในชีวิต
โฆษณา