28 มิ.ย. 2023 เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Stay Invested : ถือหุ้นจีนอยู่ เอาไงต่อดี?

อึดอัดกับหุ้นจีน
หลายๆ คนโดยเฉพาะนักลงทุนไทย คงรู้สึกอึดอัดกับการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ที่ปรับตัวลงมาตลอดทางกว่า 1-2 ปี จนเริ่มเกิดความไม่มั่นใจ หรือจะทำอย่างไรกับการลงทุนในหุ้นจีนตอนนี้ดี ทั้งข่าวที่ออกมาก็เห็นการกระตุ้นของทางการจีน ไม่ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย เริ่มผ่อนคลายในการเข้มงวดการหาแหล่งเงินทุนของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือ แม้กระทั้งที่ทางการปลอดล็อกให้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ กลับมาระดมทุนได้อีกครั้ง
แต่ทำไมตลาดหุ้นจีนก็ยังดูไม่กลับมาเป็นขาขึ้นเต็มตัวสักที แล้วเมื่อไรที่น่าจะถึงเวลากลับตัว ?
ระยะเวลาในการที่จะหลุดออกมาจากวิกฤต และไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ใช้เวลานานแค่ไหนนั้น หากเรามาเทียบเคียงกับในอดีตกับสิ่งที่เกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันของวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ ในช่วงปี 2008-2009 ที่เกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ และดัชนีลงไปจนเจอจุดต่ำสุด และหลังจากนั้นใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ปี จึงสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ของดัชนี S&P500 ด้วยกรอบระยะเวลาดังกล่าวหากนำมาเทียบเคียงกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ผ่านมา
1
ซึ่งเราเชื่อได้ว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วก่อนหน้านี้ และจุดดังกล่าวกินระยะเวลามาแล้วประมาณ 1.5-2 ปี นั้นก็คือ เรากำลังเดินทางมาได้ครึ่งทางในกรอบของการปรับตัว และการแก้ปัญหาดังกล่าวของวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนแล้ว
1
การแก้ปัญหาและการกระตุ้นของทางการจีน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางการจีนพยายามแก้ไขปัญหาโดยการลดต้นทุนและกระตุ้นผ่านมาตราการลดดอกเบี้ย China 7-Day Reverse Repo Rate และ China Loan Prime Rate ที่เริ่มมีการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาตั้งแต่ปี 2022 มาเป็นระยะๆ
2
China 7-Day Reverse Repo Rate
China Loan Prime Rate
และโอกาสในการที่จะลดดอกเบี้ยต่อของทางการจีนจะสามารถทำต่อได้หรือไม่ คือความท้าทายมาก ๆ เพราะหากกลับไปดูอัตราเงินเฟ้อของจีน เรียกได้ว่าหดตัวลงอย่างมากจนมีนักวิเคราะห์บางคนมองว่ามีโอกาสที่จะเกิดเงินฝืดในจีนได้ในอนาคต ครั้นถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมาจริง ๆ หากทางการจีนจะลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเพื่อกระตุ้น ก็จะกลับไปสร้างความเสี่ยงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่จบดีอีกครั้ง
1
China Inflation Rate
China Core Inflation Rate
แต่มีอีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ การอ่อนค่าของค่าเงินหยวน ซึ่งดูได้จาก USDCNY ซึ่งเป็นอีกตัวแปรที่ โดยปกติแล้วทางการจีนจะคอยควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในช่วง1ปีย้อนหลังที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าค่าเงินหยวนมีการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ มากที่สุดในรอบเกือบ10 ปี ซึ่งหากเราดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวเทียบกับดัชนีหลักของจีน คือ CSI300 จะพบว่า
CSI300 Index เทียบกับ USDCNY เป็นอีกหนึ่งตัวกดดันตลาดหุ้นจีนมาตลอด1-2 ปีที่ผ่านมา และการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนนี้ส่งผลต่อการกระตุ้นการส่งออกของจีนได้อีกทาง ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มบริษัทที่ทำการส่งออก และการรับรู้รายได้นอกประเทศจีนที่จะเกิดขึ้นในอีก 1-2ไตรมาสข้างหน้า
และยังไปกดดันคู่แข่งทางการค้าที่ทำผลิตภัณฑ์ที่คล้ายหรือเหมือนกันในตลาดโลก ที่ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้าจนไปกระทบต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่โดนการแข่งขันทางด้านราคาไปโดยไม่รู้ตัวเข้าไปอีก ซึ่งเราก็อาจจะเห็นยอดขายหรืออัตราการทำกำไรลดลงโดยตรงในกลุ่มบริษัทที่มีคู่แข่งโดยตรงกับสินค้าจีน
ทั้งหมดนี้ กลับมาที่คำถามถือหุ้นจีนอยู่ เอาไงต่อดี ? จังหวะในการเพิ่มการลงทุนในทันทีอาจจะยังไม่ใช่เวลาที่ดีนัก และก็อาจจะยังไม่ใช่เวลาที่จะตัดขาดทุนเท่าไรนัก เพราะอย่างที่สถิติตามกรอบระยะเวลาของการฟื้นตัวของปัญหาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนเมื่อเทียบกับตลาดขนาดใหญ่ด้วยกันในกรณีปัญหาในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ปัจจุบันเราเดินทางมาแล้วกว่าครึ่งทาง และการแก้ปัญหาไม่ว่าจะจากการผ่อนคลายทางการเงิน การคลัง ล้วนแล้วแต่กำลังอยู่ในจุดที่สำคัญ
แล้วทางออกคืออะไร ? คือ การปรับสัดส่วนกระจายการลงทุนไปในกลุ่มหุ้นในเอเชีย ที่จะยังช่วยกระจายการลงทุนไปในทั่วเอเชีย และยังสามารถเกาะการลงทุนไปกับหุ้นจีนได้ เพราะในกลุ่มประเทศเอเชียจะมีสัดส่วนการลงทุนในจีน โดยรวมอยู่ประมาณ 40%-60% หากตลาดหุ้นจีนไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์ คือ พุ่งทยานต่อไปแบบไม่คาดคิด ก็จะทำให้เราสามารถเกาะกระแสหุ้นจีนต่อไปได้ และกลับไปเปิดโอกาสในการหาผลตอบแทนเพิ่มในการลงทุนประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย เกาหลี อาเซียน เป็นต้น
คอลัมน์ Investment Focus by KTAM โดย ชัชพล สีวลีพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ บลจ. กรุงไทย
โฆษณา