Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bangkok Bank SME
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ จากร้านขนมเล็ก ๆ สู่ธุรกิจร้านของฝากเอกลักษณ์เมืองสุพรรณ
หากพูดถึงจังหวัดสุพรรณบุรี เชื่อว่าหลายท่านจะนึกถึงขนมจากร้านของฝาก เอกลักษณ์ของจังหวัดใครผ่านไปเยี่ยมเยือนจะต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านอย่าง ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ แบรนด์ขนมที่ขึ้นชื่อเรื่องความหอม เนื้อนุ่ม รสชาติคุ้นเคย และชื่อเสียงที่คุ้นหู การันตีโดยกูรูอาหารชื่อดัง
บทความนี้ Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับทายาทรุ่นสอง คุณพรพิมล แก้วศรีงาม กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอกชัย สาลี่สุพรรณ จำกัด พร้อมเจาะลึกแนวคิดธุรกิจครอบครัวที่ส่งมอบคุณค่าของขนมไทย จนประสบความสำเร็จให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน
คุณพรพิมล เปิดเผยว่า ตนเป็น Gen 2 ที่รับช่วงต่อธุรกิจจากครอบครัว จุดเริ่มต้นที่เริ่มทำขนมขาย เนื่องจากครอบครัวมีรายได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูก 3 คน เดิมทีคุณพ่อทำกิจการร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาด 1 คูหาอยู่ในตลาดทรัพย์สิน จังหวัดสุพรรณบุรี จนเมื่อปี 2511
คุณแม่เริ่มทำขนมขาย และได้พัฒนาสูตรขนมสาลี่ มีเอกลักษณ์ทั้งรสชาติและความนุ่มเนียนของเนื้อขนม กลายมาเป็นร้านต้นตำรับ ใช้ชื่อร้านว่า ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ ซึ่งเป็นชื่อของคุณพ่อ จนได้รับเครื่องหมายรับประกันคุณภาพความอร่อย “เชลล์ชวนชิม” จาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เมื่อปี 2523 และกลายเป็นแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีจนถึงปัจจุบัน
📌ชื่อขนม ‘สาลี่’ ที่ไม่ได้มาจากผลไม้
หลายคนอาจเคยสงสัยว่า ขนมสาลี่ มีที่มาของชื่อนี้อย่างไร มาจากชื่อผลไม้สีเหลือง กลิ่นหอม ๆ ที่ชื่อสาลี่...หรือไม่? ซึ่ง คุณพรพิมล เฉลยว่า ชื่อขนมมาจากวัตถุดิบหลักคือแป้งสาลี เมื่อเรียกชื่อสาลีหลายครั้งก็เพี้ยนเป็นสาลี่ มาถึงปัจจุบัน
ซึ่งเป็นขนมจากแป้งที่มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม เปรียบเหมือนเค้กแบบไทย ไม่ใช้เตาอบแต่เป็นการนึ่ง ใช้ไข่ แทนเนย ทำให้ขนมขึ้นฟู อีกทั้งเมื่อรับประทานจะได้รับโปรตีนจากไข่ ซึ่งดีกว่าการรับประทานเนยจำนวนมาก
นอกจากนั้นสมัยก่อนที่ทำกันจะใช้ไข่เป็ด แต่คุณแม่มีความชำนาญเรื่องการทำขนมเค้ก จึงลองปรับสูตรมาใช้ไข่ไก่เหมือนการทำเค้กแทนเพื่อลดกลิ่นคาว และช่วยเพิ่มความหอมมากขึ้น
📌ธุรกิจครอบครัว ‘ขนม-ของฝาก’ จากส่วนผสมที่ลงตัวของรุ่นบุกเบิก
คุณพรพิมล เผยว่า หากย้อนไปเมื่อปี 2537 การใช้เงินลงทุนถึง 30 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก แต่เพราะคุณพ่อมีประสบการณ์การทำธุรกิจจากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทำให้มีพื้นความรู้ด้านการค้าขาย เช่น การบริหารจัดการอย่างไรให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ รวมถึงความกล้า และมั่นใจในการลงทุน ขณะที่คุณแม่ชอบทำขนม และเรียนรู้เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ท่านทั้ง 2 จึงตัดสินใจเลือกทำธุรกิจนี้ เริ่มจากร้านขนมเล็ก ๆ กลายเป็นของฝากชื่อดังที่ใครมาต้องแวะซื้อ พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิตเป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ และเปิดร้านศูนย์รวมของฝากอยู่ริมถนนสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ในปัจจุบัน
อีก 1 ไอเดียจากคุณแม่ ที่สร้างเอกลักษณ์ให้ร้าน ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ คือ การออกแบบสไตล์ ‘ทรงไทย’ เพราะท่านมองว่าอาคารทรงไทยเป็นเอกลักษณ์ของเมืองสุพรรณ สามารถสร้างภาพจำให้กับผู้มาเยือน
ขณะเดียวกัน คุณพรพิมลมองว่า ลูกค้ายุคนี้ชอบอะไรใหม่ ๆ เราจึงปรับให้เป็นร้านของฝากกึ่งคาเฟ่ มีบริการอาหาร เครื่องดื่ม และเป็นจุดนัดพบของลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รับบริการมากกว่าแค่แวะมาซื้อของฝากเพียงอย่างเดียว
📌ของดี ‘สุพรรณบุรี’ ไม่ได้มีแค่สาลี่
ที่มาได้ไกล เพราะมีเพื่อน... โดยคุณพรพิมล ขยายความว่า แบรนด์ขนมสาลี่สุพรรณมาไกลถึงวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้มีสินค้าเด่นแค่ตัวเดียว แต่ยังมีขนมอื่น ๆ เช่น กลุ่มขนมลูกเต๋า ขนมเปี๊ยะนมข้น เป็นที่นิยมของลูกค้าด้วยความอร่อยของแป้งและไส้ที่ไม่เหมือนใคร
ขนมลูกเต๋าไส้ถั่วผสมแห้ว โดดเด่นด้วยกลิ่นหอมของแป้งที่ผ่านการย่างและความหอมของกลิ่นกะทิสดที่เป็นส่วนผสมของไส้ รวมถึงแห้วที่ยิ่งโดนความร้อนจะยิ่งหวาน กรอบ อันนี้เป็นสูตรของคุณแม่ซึ่งที่อื่นไม่มี คุณแม่บอกว่าขนมที่ใส่ใส้แห้ว จะเป็นเหมือนผงชูรส คือมีความนัว และเพิ่มความอร่อย
📌Key Success คือ พนักงานคุณภาพ
คุณพรพิมล กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การทำธุรกิจหากไม่คำนวณต้นทุนให้ดี จะมีโอกาสผิดพลาดสูง แต่เนื่องด้วยเราเรียนจบด้านบัญชีมา ทำให้สามารถจัดการด้านนี้ให้กับคุณแม่ได้
เราค่อนข้างใส่ใจเรื่องการดูแลพนักงาน เพราะคนถือเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจของ SME มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ปัจจุบันเรามีพนักงาน 100 กว่าคน อาจเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูง แต่จะเกิดความคุ้มค่าหากเราได้ทีมงานที่แข็งแกร่ง
การทำขนม สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการบริหารครัว ถือเป็นเรื่องยาก ต้องมีการควบคุมต้นทุนพร้อมการรักษารสชาติให้คงที่ เราจะมีการทดสอบแม่ครัวในทุกเดือนเพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของขนม การเป็นเจ้าของร้านถือเป็นความท้าทาย มีความเครียด มีความกดดัน แต่เราเลือกบริหารงานด้วยความสนุก ทำให้พนักงานก็มีความสุขในการทำงานไปด้วย
หากย้อนไปในปี 2525 เราเป็นรายแรก ๆ ที่นำเข้าเครื่องจักรมาจากญี่ปุ่น แต่ธุรกิจ SME จะมีข้อจำกัดคือเครื่องจักรจะเหมาะกับการผลิตในปริมาณที่มาก หรือมีการส่งขายตามโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ แต่กำลังการผลิตของเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น ซึ่งถ้าจะเติบโตโดยที่ยังไม่พร้อมเราคิดว่า..ไม่ดีกว่า
ร้านของฝากในปัจจุบันคู่แข่งมีจำนวนมาก การทำธุรกิจจนอยู่มาเป็นเวลานานต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดอยู่กับที่
“ตอนนี้เราอยู่ช่วงของการถ่ายทอดให้ทายาทธุรกิจรุ่นลูก ซึ่งจะเป็น Gen 3 การส่งมอบธุรกิจเราต้องให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม เด็กรุ่นใหม่จะมีความคิดเป็นของตัวเองสูง ซึ่งเขามาปรึกษาเราว่าอยากทำแบรนด์ของตัวเองเพิ่ม ซึ่งเราเห็นด้วยและอยากสนับสนุน ส่งเสริมให้เขาได้ลองทำ จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โปรเจ็คต์เหล่านี้อาจจะเป็นการต่อยอดในปีถัดไป
📌โลกเปลี่ยนเร็ว ต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา
การจัดการด้านการผลิต เราใช้ระบบ Overall Equipment Effectiveness (OEE) มีการเก็บ Input – Output เช่น หากทำขนม 100 ชิ้น มีส่วนที่ต้องทิ้ง 20 ชิ้น ต้องหาวิธีการเพื่อลดของเสียลง และเพิ่มการควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้น
หรือหากมียอดการคืนสินค้า เราจะส่งฝ่ายขายเข้าไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุและแก้ปัญหาให้ตรงจุดตามขั้นตอน แล้วมาดูว่าเปอร์เซ็นต์ความเสียหายลดลงได้มากน้อยแค่ไหนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เราทำอย่างต่อเนื่อง
ส่วนช่องทางการขาย นอกจากขายผ่านหน้าร้านแล้ว เราได้เริ่มทำออนไลน์ตั้งแต่ก่อนโควิด ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ Food Panda, Grab แพลตฟอร์มออนไลน์ Lazada, Shopee ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขาย และลดปัญหาจากการที่หน้าร้านสะดุดจากสถานการณ์โควิด
แต่คงมีข้อควรระวังคือ เราต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจตามมา เช่น คุณภาพ ความรวดเร็ว ความถูกต้องในการจัดส่ง หรือกรณีลูกค้ารีวิวในเชิงลบ เราจะมีวิธีบริการจัดการได้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์องค์กร
📌‘ครอบครัวที่ลดขนาดลง ส่งผลให้คนซื้อของฝากน้อยลง’
ประเด็นนี้ เรามองว่า สถานการณ์ปัจจุบัน คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งปัจจัยเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจึงเริ่มมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่ม Healthy เช่น ลดการใช้น้ำตาล โดยใช้สารทดแทนความหวาน หรือคิดเมนูอาหารที่ลดคาร์โบไฮเดรตแต่เพิ่มสารอาหารอื่นได้มากกว่า อาจจะเพิ่มการถนอมอาหารจากธรรมชาติมากขึ้น จากขนมอาจพัฒนาให้เป็นขนมที่รับประทานแล้วอิ่มท้องด้วย เช่น ซาลาเปา เป็นต้น
คุณพรพิมล ทิ้งท้ายว่า แนวคิดของเราไม่ใช่แค่ขายของให้ได้เงิน แต่เป็นการคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ ความไว้ใจระหว่างคนขายกับคนซื้อ คิดวิธีการให้ลูกค้าซื้อไปแล้วอยากกลับมาซื้อใหม่ รวมทั้งต้องพยายามต่อยอดสินค้าไปพร้อมกับความต้องการของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าตามช่วงเวลาด้วย
เราจะสอนลูกว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องเรียนรู้อยู่เสมอ หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง อุปสรรคข้างหน้าจะเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ด้วยความสามารถที่มีอยู่ เพราะการบริหารธุรกิจ...ไม่มีสูตรสำเร็จ
รู้จัก บริษัทเอกชัย สาลี่สุพรรณ จำกัด เพิ่มเติมได้ที่
www.ekachai.co.th
https://www.facebook.com/EkachaiSaleeSuphan/?locale=th_TH
ธุรกิจ
ขนม
แนวคิด
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย