3 ก.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จักปรากฏการณ์ ประเทศยิ่งรวย คนยิ่งมีลูกน้อยลง

ปัญหาที่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ แนวโน้มคนเกิดน้อยลง
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ปัญหานี้มักเกิดกับประเทศที่ร่ำรวย มากกว่าประเทศที่ยากจน
โดยปรากฏการณ์แบบนี้ จะถูกเรียกว่า
“Demographic-Economic Paradox” หรือพูดง่าย ๆ คือ ประเทศยิ่งรวย คนยิ่งมีลูกน้อยลง
ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า รายได้ต่อหัวของประชากร กับอัตราการเกิดของประชากรในหลายประเทศ มีทิศทางสวนทางกัน
1
ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรต่ำ คนจะมีลูกกันมากขึ้น
ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูง คนกลับมีลูกกันน้อยลง
ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤติจำนวนประชากรเกิดน้อยลง
- ปี 1981 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่อปี อยู่ที่ 359,000 บาท และจำนวนเด็กเกิดใหม่ 1.8 คน ต่อผู้หญิง 1 คน
- ปี 2021 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่อปี อยู่ที่ 1,400,000 บาท และจำนวนเด็กเกิดใหม่ 1.4 คน ต่อผู้หญิง 1 คน
ทีนี้ เราลองมาดูตัวเลขในช่วงเดียวกันนี้ ของประเทศเอธิโอเปีย หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกันบ้าง
- ปี 1981 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่อปี อยู่ที่ 7,100 บาท และจำนวนเด็กเกิดใหม่ 7.3 คน ต่อผู้หญิง 1 คน
- ปี 2021 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่อปี อยู่ที่ 32,000 บาท และจำนวนเด็กเกิดใหม่ 4.0 คน ต่อผู้หญิง 1 คน
สรุปได้ว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ จะมีลูกกันมากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง
แต่พอรายได้ต่อหัวเริ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะประเทศไหน ก็ต่างมีลูกกันน้อยลง
โดยปรากฏการณ์ลักษณะนี้ จะถูกเรียกว่า“Demographic-Economic Paradox”
2
เมื่อประเทศยิ่งรวย คนยิ่งเกิดน้อยลง และปัญหานี้จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
เมื่อคนมีรายได้สูงขึ้น มีตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับงานมากขึ้นตาม
ซึ่งก็อาจมองว่า การแต่งงานมีลูกนั้น ทำให้เสียโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ เพราะต้องแบ่งเวลาไปให้ลูกมากขึ้น
รวมไปถึงการที่ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมมากขึ้น สามารถหารายได้เลี้ยงดูตัวเองได้ ก็อาจทำให้มีแรงจูงใจในการแต่งงานมีลูกน้อยลงด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันครอบครัวที่มีรายได้สูง มักให้ความสำคัญกับคุณภาพของการเลี้ยงลูกมากขึ้น ทำให้เลือกมีลูกน้อยลงอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจเชื่อกันว่า เมื่อเรามีรายได้มากขึ้น มีกำลังที่จะเลี้ยงดูลูกมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกกันมากขึ้น แต่นั่นอาจไม่เป็นจริงเสมอไป
เพราะสุดท้ายแล้ว การที่สังคมและเศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์
Demographic-Economic Paradox ที่แม้คนจะรวยกันมากขึ้น แต่กลับมีลูกกันน้อยลง..
1
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่า ปี 1974 ดร.คาราน ซิงห์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอินเดีย เคยกล่าวในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติว่า “Development is the best contraceptive.” หรือ การพัฒนาประเทศ ถือเป็นการคุมกำเนิดที่ดีที่สุด..
4
ใครอยากมีความรู้เรื่องตลาดหุ้น ลงทุนแมนแนะนำ หนังสือ BLACK SWAN เล่มนี้ ราคา 380 บาท ที่เล่าถึงความล้มเหลวก่อนที่จะสำเร็จของนักลงทุนในตำนาน 12 คน สามารถสั่งซื้อ ได้ที่
โฆษณา