5 ก.ค. 2023 เวลา 22:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อมิ.ย.โต 0.23% ชะลอตามราคาอาหาร-น้ำมัน ปรับลดเป้าหมายปีนี้เหลือ 1-2%

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน มิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 0.23% จากตลาดคาด 0.0-0.15% โดยเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนตั้งแต่ ส.ค.64 เนื่องจากการลดลงราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานในเดือน มิ.ย.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.66) เพิ่มขึ้น 2.49%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนมิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 1.32% ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.87%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 66 ลดลงมาอยู่ที่ 1-2% จากเดิม 1.7-2.7% ตามสมมติฐานที่เปลี่ยนไปด้วย คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ โด 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 71-81 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับใหม่นี้ ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3/66 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราค่อนข้างต่ำ ที่ 0.77% เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มทรงตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งอาหารบางชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่คาดว่าราคาจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขณะที่ราคาสินค้าบางชนิด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอิทธิพลของภัยแล้ง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ, แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาค และมาตรการภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดได้
พร้อมกันนี้ สนค. ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 4/66 จะอยู่ที่ระดับ 0.62% อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล โดยก่อนหน้านี้ สนค.เคยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของไทยบางเดือนในปีนี้ มีโอกาสจะติดลบ แต่จากที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์เงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง ก็เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อติดลบในปีนี้คงไม่มี
ในภาพรวม เงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เรามีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำมาก ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่ใกล้เคียงกัน จึงถือว่าเราทำได้ดีกว่า-IQ
โฆษณา