6 ก.ค. 2023 เวลา 07:03 • ปรัชญา

ทำวัตรเช้าวันเสาร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๖ (๔/๗)

“ปัญหาคือเรื่องของการให้ทานไม่ได้อยู่ที่ให้มากหรือให้น้อย
บางคนให้มากอาจจะได้บุญน้อย บางคนให้น้อยอาจจะได้บุญมากก็ได้
กวาดวัดไปมีสติรู้สึกตัวไป ล้างจานไปมีสติรู้ตัวไป รดน้ำต้นไม้ไปมีสติรู้ตัวไป
ใครเขาจะทำไม่ทำก็เรื่องของเขา ฉันรักษาจิตของฉันให้สงบมั่นคงอยู่กับการทำงานเฉพาะหน้า บางทีทำน้อยแต่ได้บุญเยอะ บางคนทำจังเลยทีละแสนทีละล้าน ถ่ายรูปโชว์ในโลกออนไลน์ ประกาศบอกให้โลกรู้ว่าฉันนี่เป็นคนทำบุญเยอะนะ เป็นคนที่ไปช่วยสร้างที่นู่นที่นี่ ไปช่วยเด็กนู่นนี้นั่น มีคนชื่นชมสรรเสริญก็เบิกบานแจ่มใส
มีคนยกย่อง ชอบภาวะอย่างนั้น บางคนเป็นอย่างนั้น กลายเป็นคอนเทนต์ตระเวนช่วยคนนู้นคนนี้ไปตามเรื่อง อันนี้คือเรื่องที่เราจะเห็นอยู่บ่อยๆ ก็เลยกลายเป็นว่าบางทีทำบุญมากแต่ได้บุญน้อย มาเดินจงกลมมาปฏิบัติธรรมที่วัดนี้อยู่นะ ถ่ายรูปโชว์ในเฟสฯ ประกาศบอกให้โลกรู้ว่าฉันนี่เป็นคนดีคนหนึ่ง บางทีเป็นอย่างนั้น หรือวันๆ วุ่นวายแต่ไอ้การที่จะต้องถ่ายรูปโพสต์อยู่นั่นเอง บางทีทำมากแต่ได้น้อยก็มี ฉะนั้นก็ต้องไปสำรวจตรวจสอบดูตัวเอง ทีนี้พอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแก้ทุกข์ตัวเองไม่ได้ จมอยู่กับความทุกข์
และก็เริ่มหมดศรัทธากับบุญแล้ว
ฉันก็ทำบุญมาตั้งเยอะ ไม่เห็นช่วยอะไรฉันได้เลย อันนี้เรียกว่าไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่าชีวิตจริงๆ มันก็แค่นี้แหละ ชั่วขนาดไหนก็ป่วย ก็แก่ ก็ตาย ดีขนาดไหนก็ป่วย ก็แก่ ก็ตาย แค่นั้นเอง แต่มันต่างกันตรงที่ว่า แม้จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย จะต้องแก่ชราเสื่อมไปตามสภาพของมัน หรือจะต้องตายไปในวันหนึ่ง ทำอย่างไรเราถึงจะรู้เท่าทัน ยอมรับมันได้ วางใจให้เป็นปกติกับมันได้ แล้วก็เอาความแก่ ความเจ็บ ความตาย
มาเป็นเครื่องมือในการฝึกพัฒนาตัวเอง ฝึกพัฒนาจิตไม่ให้มันจมกับความทุกข์ทั้งหลาย อันนี้คือคนที่ทำครบสูตร”
พระอาจารย์มหาวิเชียร ชินวํโส
เจ้าอาวาสวัดวังหิน จ.พิษณุโลก
โฆษณา