6 ก.ค. 2023 เวลา 10:18 • การเมือง

ไม่ต้องกังวล !!

“บิ๊กไก่” แม่ทัพตึกแดง ออกโรงเคียงข้างรัฐบาลใหม่ ยกผลประโยชน์ชาติ ประชาชนเป็นที่ตั้ง
.
ประเทศไม่เป็นหนึ่ง เดินหน้ายาก !! ไม่ว่ารัฐบาลไหน ทุกหน่วยความมั่นคงชาติ ต้องทำตามบทบาทหน้าที่ ภูมิรัฐศาสตร์แปรปรวน ท้าทายรัฐบาลใหม่ เน้นสมดุลขั้วมหาอำนาจ – สร้างเอกภาพอาเซียน เวลานี้ ไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง
“หลังเลือกตั้ง ต้องฟังเสียงประชาชน ขอให้ผู้ชุมนุมแสดงออกอย่างสงบ และไม่อยากให้รัฐบาลใหม่...กังวล !! สมช. ทำงานเหมือนเดิม ให้คำแนะนำ เสนอนโยบายด้านความมั่นคงให้นายกฯ สิ่งที่กังวลมาก ๆ ตอนนี้ คือความแตกแยกทางความคิดที่นำไปสู่ความเกลียดชังในสังคมไทย และปัญหาชายแดนจากความไม่สงบในเมียนมาร์ ที่ต้องใช้ความระมัดระวัง”
คีย์แมสเสจ แม่ทัพตึกแดง “บิ๊กไก่” พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยิ้มกริ่มอารมณ์ดีดี๊...เราติดตามนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของทุกพรรคการเมือง
ทางทีมสมช. ได้นำมาทบทวน วิเคราะห์ พบว่าข้อมูล – แนวทางการพัฒนาความมั่นคงของประเทศสอดคล้องกับที่ทำมาตลอด ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง และใครมาเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ
อยากย้อนไปว่า สมช. ร่วม 300 คน รับงานเกี่ยวกับมิติความมั่นคงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 – 30 มิติ – การสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศ – หน้าที่แก้ไขปัญหาความมั่นคงเฉพาะหน้า
ฉะนั้นผู้บริหาร - นักวิเคราะห์ - เจ้าหน้าที่ - ส่วนราชการต่าง ๆ ต้องทำตามพื้นฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง พื้นฐานการวิเคราะห์ และพื้นฐานความมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย เป็นกุญแจสำคัญ...ที่สมช.ใช้เป็นธงนำ
ก่อนเสนอเป็นนโยบาย - นโยบายเร่งด่วน – ข้อเสนอแนะ - ข้อพิจารณาด้านความมั่นคงของชาติ ทั้งมิติป้องกัน มิติแก้ปัญหาอย่างราบรื่น ต่อนายกฯ ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ – กระทรวง - กรม - หน่วยงานเกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด !?
สิ่งสำคัญ สมช. ต้องทำตามบทบาทหน้าที่เหล่านี้ และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายไม่ได้กังวลว่า...จะเป็นรัฐบาลไหน เรื่องนี้ได้สื่อสารไปยังหน่วยความมั่นคงอื่น ๆ ให้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน
ส่วนรัฐบาล...จะนำไปทำเป็นนโยบาย - เลือกใช้เป็นแนวทางใด - การแสดงจุดยืนของประเทศ...เป็นหน้าที่ของรัฐบาลตัดสินใจ
บางเรื่องสำคัญ ถึงสำคัญมาก ๆ เพื่อความรอบคอบ อาจมีรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี องค์กรอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วม สมช. ยืนยันบทบาทหน้าที่ และไม่กังวลอะไร
แต่ถามว่า สมช. หนักไหม...หนักนะ !!
รับแรงกดดันทุกสภาวการณ์ ภายในประเทศ – ประเทศรอบบ้าน – ประเทศมหาอำนาจ ด้วยเหตุนี้อะไรร่วมมือได้...เราทำ ถ้าไม่สบายใจเรื่องอะไร...ก็บอก และสิ่งสำคัญเรื่องที่ส่งผลกระทบ ทำให้คนไทยไม่สบายใจ
สมช. มีหน้าที่ตรงไปตรงมา พร้อมทำทุกอย่างให้ชาติอยู่ได้
ไม่อยากให้รัฐบาลใหม่...ท่านกังวล !!
“-- อยากเห็นประเทศชาติสงบ...ระบบการเมืองต้องเข้าสู่ระบบรัฐสภา ต้องฟังเสียงประชาชน ผ่าน ส.ส. ว่าไปตามกระบวนการ...ให้กำลังใจ อยากให้ประคับประคองทุกอย่างให้เป็นไปราบรื่น เรียบร้อย
หน่วยงานความมั่งคงแต่ละหน่วย มีหน้าที่ดูแล ตระเตรียมแผน ส่วน สมช. กำกับภาพใหญ่ ถ้าเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย ต้องมีแนวทาง หรือใช้กฎหมายก็ว่าไป
เราพยายามติดตาม ประเมินสถานการณ์ และเข้าไปพูดคุย เจรจากับทุกฝ่ายกับแกนนำ หรือคนจัดการเรื่องนี้
ขอให้ทำด้วยความสงบ มาร่วมกันแสดงออกก็จบ...ทุกคนเข้าใจ ส.ส. ก็ทราบแล้วว่า...ท่านต้องการอะไร
ถ้าเกิดการปะทะกัน...มันไม่มีประโยชน์ มีแต่เรื่องเสียหาย !! --”
ไฮไลท์มิติความมั่นคง...ท้าทายรัฐบาลใหม่ !?
1.จุดยืนสำคัญ คือคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ประชาชน และความมั่นคงของประเทศไทย ในระยะสั้น - กลาง - ยาว และหาทางแก้ไข
2. ภูมิรัฐศาสตร์ โลกเชื่อมโยงทุกมิติ ไม่ใช่ความมั่นคงอย่างเดียว - เศรษฐกิจ – การเผยแพร่การปกครองแบบประชาธิปไตย – ภาพรวมความร่วมมืออื่น ๆ ที่เป็นปัญหาของโลก และภูมิภาค ล้วนมีเงื่อนไข ปัญหาแตกต่างกันไป
3. ประเทศมหาอำนาจ มีศักยภาพสูงทุกมิติ และมีบทบาทกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันหลายขั้วอำนาจ (Multipolar World) ต้องรักษาความมั่นคงของตัวเอง ทั้งพลังอำนาจทางการเมือง ทางทหาร สภาวะเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อแสดงความเป็นผู้นำ
4. อาทิ สหรัฐอเมริกา ผลักดันความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด – แปซิฟิก ส่วนจีน เร่งเครื่องข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐาน (Soft Infrastructure) เช่น การให้บริการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น
5. เรียกรวม ๆ ว่า...ผลประโยชน์แห่งชาติ !! ทุกประเทศต้องเดินหน้าสิ่งเหล่านี้ ภายใต้ความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และด้วยปัญหา – เงื่อนไขในภูมิภาค ที่มหาอำนาจเข้ามามีส่วนร่วม อาจมีความแตกต่าง - ขัดแย้ง แต่อีกมุมหนึ่ง มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
6.ฉะนั้นภาพรวมในปัจจุบัน ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคจะได้รับผลกระทบ – ได้รับความช่วยเหลือในหลายมุม - ได้รับแรงกดดันต้องแสดงจุดยืน...ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ตรงนี้
7.สมช. ต้องบอกว่า...เราจำเป็นต้องสัมผัสกับประเทศที่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นเป็นงานยาก !! ในการสร้างความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ - ความมีเอกภาพของอาเซียน – ความเป็นแกนกลางอาเซียนอย่างสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค และบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ
8. ไทยมีจุดยืนสำคัญ คือเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ - ดำเนินการตามพันธกรณีที่เป็นสากล – และมีอาเซียนเป็นองค์กรเชื่อมโยงที่มีบทบาทสำคัญ
9. ถ้าพูดภาษาบ้าน ๆ ประเทศใดที่มาสัมผัส หรือร่วมมือกับเรา เรายินดีช่วยทุกเรื่องในสิ่งที่ช่วยได้ !! แต่ถ้าทำแล้วกระทบกับประเทศชาติ ประชาชน...ต้องมีข้อที่เป็นเงื่อนไข หรือจำเป็นต้องปฏิเสธ หลีกเลี่ยง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย
10. ต้องตระหนักอย่างมากที่จะประกาศจุดยืน และจำเป็นต้องเลือกข้างหรือไม่ !? ซึ่ง ณ เวลานี้...ยังไม่มีความจำเป็น !!
11. ถ้าเราไปยืนอยู่จุดใด จุดหนึ่ง...จะเป็นจุดบอดในการสนับสนุน – การแก้ปัญหาในหลายมิติที่เกิดขึ้น ต้องดูว่ามันเป็นอุปสรรค หรือเป็นผลดี ในสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ผันผวน มีพลวัตสูง
12.ไทยมีความผูกพันกับจีนแทบทุกมติ แต่เรื่องมิติความมั่นคงมีความร่วมมือในระดับปานกลาง ส่วนสหรัฐ เป็นพันธมิตรที่ยาวนาน มีความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพด้านความมั่นคงมายาวนาน ดังนั้นต้องขยายความร่วมมือกับทั้ง 2 ฝ่าย ยึดหลักผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง
13.ไทยต้องเพิ่มบทบาทการเมืองผ่าน อาทิ ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาร์ - ปัญหาแม่น้ำโขง – ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ผ่านกรอบความร่วมมือในอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ ที่อาจเข้ามาแสวงประโยชน์จากเรา
14.ไทยต้องดำรงสภาพการบริหารจัดการชายแดน - ลักษณะการวางตัว - การกำหนดท่าที และบทบาทเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างระมัดระวัง
15.ที่สำคัญ กรณีเมียนมาร์ เราผลักดันให้จัดการด้วยสันติวิธี ไม่ฆ่าฟัน ป้องกันไม่ให้เกิดสงครามภายในประเทศ และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเต็มที่ ตามกรอบของสหประชาชาติ – กรอบของพหุภาคี และทวิภาคีระหว่างไทย เมียนมาร์
16. ฉะนั้นการกำหนดนโยบาย จุดยืนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิด - ปัญหาความมั่นคงที่แท้จริง - ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ - การกดดันจากต่างประเทศที่ต่างฝ่ายต่างกดดัน - แนวทางสนับสนุนการแก้ปัญหาในเมียนมาร์แตกต่างกันออกไป...เรื่องนี้เป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนอย่างระมัดระวัง
17. สำหรับความมั่นคงภายในประเทศ กังวลมากที่สุด คือความคิดต่างทางสังคมที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ความรุนแรงผ่านสื่อโซเชียล ทุกวันนี้อ่านแล้วไม่มั่นใจเลยว่าจริงหรือเปล่า ตรงนี้เราพยายามแก้ไข
18. ย้อนกลับไปที่แนวทางของสมช. 2 เรื่อง คือการทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ต่างเชื้อชาติ ศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น
19. และการเคารพกฎหมาย กฎระเบียบสังคม ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญของระบอบประชาธิปไตย สิทธิ กฎหมาย ระเบียบสังคม
20. ถ้าเราค่อย ๆ ปรับเรื่องนี้ได้ สังคมไทยจะกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิม คงไม่มีใครคิดอยากแยกประเทศ
“-- เราอยากเป็นเหมือนบางประเทศ ที่มีชนกลุ่มน้อยคุยกันไม่รู้เรื่องกว่า 20 กลุ่ม ขัดแย้งกันถึงปัจจุบัน จนทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา ประชาชนอยู่กันอย่างยากลำบาก
เรื่องนี้น่าคิด !! ว่าทำแล้วเกิดประโยชน์อะไร วัตถุประสงค์เพื่ออะไร !?
ถ้ามองถึงความเป็นชาติพันธุ์ เชื้อชาติ - คุณปู่ คุณพ่อผมเอง มีเชื้อสายจีน แต่ผมมีความรู้สึกเป็นไทย 100 % ตั้งแต่เกิด ชื่นชมในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย - ภาษา การพูดจาเพราะ ๆ - ศิลปวัฒนธรรม
ถ้าเราย้อนมาดูว่า...เพื่อทำให้มันเกิดปัญหา ความคิดแตกแยกขึ้นมา...ก็ไม่จำเป็น
แต่ถ้ามองว่า...มันมีปัญหา !? เอ๊ะ..เราให้เกียรติกันน้อยไปไหม - เอ๊ะ..เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อชาติไทยมีปัญหา
ก็แก้ไปเป็นจุด ๆ ให้เกียรติ ให้สิทธิ์...แก้ได้ !!
ถ้าประเทศไม่เป็นหนึ่ง เดินหน้ายาก !! --- ”
.
#WhoChillDay
6 ก.ค. 2566
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
#พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม #ความมั่นคงชาติ
#รัฐบาล #โหวตนายก #ชุมนุม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา