8 ก.ค. 2023 เวลา 16:17 • ท่องเที่ยว
อำเภอสังขละบุรี

สังขละบุรี Unseen เมืองกาญที่คุณต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต!!

หากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี หลายๆ คนจะนึกถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว ช่องเขาขาด ทางรถไฟสายมรณะ หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอย่างอุทยานแห่งชาติเอราวัณ น้ำตกไทรโยค แต่จริงๆ แล้วเมืองกาญยังมี unseen เมืองกาญที่คุณอาจจะยังไม่รู้มาก่อน
สังขละบุรีเป็นอำเภอที่อยู่ทางเหนือสุดของกาญจนบุรี พื้นที่ตอนเหนือติดกับประเทศเมียนมาร์ และในทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สังขละบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง แต่ส่วนมากแล้วเป็นชาวไทย ชาวมอญ และชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมากจากประเทศเมียนมาร์
การเดินทางจากกรุงเทพมาสังขละบุรีนั้นใช้เวลาเดินทางเกือบ 6 ชั่วโมง และต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 323 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางเข้าตัวเมือง แต่ด้วยความที่สังขละบุรีนั้นโอบล้อมไปด้วยภูเขา ทำให้ทางหลวงหมายเลข 323 เป็นเส้นทางขึ้นเขา ลงเขา และมีโค้งมากถึง 300 โค้ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำเอานักขับหลายคนหัวหมุนกันมาไม่มากก็น้อย
สำหรับไฮไลต์ของสังขละบุรีนั้นมีมากพอๆ กับในตัวเมืองกาญเลยก็ว่าได้ แต่จะยกตัวอย่างไฮไลต์เด่นๆ ให้สมกับความ unseen มา 4 ตัวอย่าง ให้คุณได้ลองอ่านกัน
1. สะพานมอญ หัวใจหลักของชาวสังขละ
สะพานมอญเปรียบได้ว่าเป็นสะพานประสาน 3 วัฒนธรรม ไทย-กะเหรี่ยง-มอญ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของอำเภอสังขละบุรี ตัวสะพานมีโครงสร้างเป็นไม้ยาว 850 เมตร ถือได้ว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2529-2530 เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำซองกาเลียที่ไหลลงสู่เขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม) และให้ชาวไทย ชาวกะเหรี่ยง และชาวมอญไปมาหาสู่กันได้อย่างราบรื่น
เราได้มีโอกาสมาเยือนที่นี่ในช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งทั้ง 2 เวลามีบรรยากาศ และ Mood & Tone ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ในช่วงเช้าจะมีพระสงฆ์เดินบิณฑบาตจากฝั่งหมู่บ้านมอญข้ามมายังฝั่งหมู่บ้านชาวไทย ทั่วทั้งสะพานจะอัดแน่นไปด้วยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่ต่างนุ่งโสร่งแดง ปะแป้งทะนาคา มายืนรอใส่บาตร มีหมอกจางๆ ลงมาปกคลุมตัวสะพาน แทรกด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตของคน 2 ชุมชนได้เป็นอย่างดี
บรรยากาศยามเช้าของสะพานมอญ
ส่วนช่วงเย็น จะได้บรรยากาศพระอาทิตย์ตก ท้องฟ้าสีส้มอำพัน มีเสียงนกกาที่เริ่มบินกลับรัง พ่อค้าแม่ค้าบริเวณเชิงสะพานต่างทยอยกันเก็บร้าน เรือทุกลำแล่นเข้าเทียบฝั่ง เป็นช่วงเวลาก่อนความสงบที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก
บรรยากาศยามเย็นบนสะพานมอญ
2. วัดใต้น้ำของ 3 ชนชาติ
ใต้ผืนน้ำของเขื่อนอันกว้างใหญ่ บริเวณจุดตัดของแม่น้ำ 3 สาย (แม่น้ำบีคี่ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี) หรือที่เรียกว่า ‘สามประสบ’ นั้น เดิมทีเคยเป็นผืนดิน เคยเป็นวัด เคยเป็นชุมชนของคน 3 ชนชาติมาก่อน แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2527 ได้มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม (เขื่อนวชิราลงกรณ์) ในพื้นที่บริเวณเดียวกับชุมชน ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายที่อาศัยไปยังบริเวณที่มีการเวนคืนที่ดิน ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่ก็ได้จมหายไปกับน้ำ ซึ่งวัดวังก์วิเวการาม หรือวัดใต้น้ำ ก็เป็น 1 ในนั้นด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบันวัดใต้น้ำกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบ unseen ที่ใครมาสังขละบุรีต้องมาเยือน โดยสามารถนั่งเรือหางยาวจากบริเวณข้างสะพานมอญไปยังตัววัดได้ ราคาเรือเริ่มต้นที่ 300 บาท/ลำ แต่ถ้าหากต้องการเยี่ยมชมอีก 2 วัด คือ วัดสมเด็จเก่า และวัดศรีสุวรรณเก่า ราคาก็จะอยู่ที่ 500 บาท/ลำ ใช้เวลาในการเยี่ยมชม 1 ชั่วโมงโดยประมาณ หากใครต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายสามารถหานักท่องเที่ยวคนอื่นๆ มาหารค่าเรือได้
ทั้ง 3 วัดที่กล่าวไปข้างต้นล้วนเป็นวัดที่ถูกทิ้งร้างในช่วงการย้ายเมือง และเป็นศาสนสถานของชนชาติที่แตกต่างกันไป วัดวังก์วิเวการามเก่าเป็นวัดของชาวมอญ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2496 โดยหลวงพ่ออุตมะกับชาวบ้านที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ แต่ปัจจุบันเหลือแค่ผนังและหน้าต่างของโบสถ์
วัดวังก์วิเวการาม (เก่า)
วัดสมเด็จเก่าเป็นวัดของชาวไทย เป็นวัดที่ไม่ได้จมน้ำแต่อย่างใด แต่ในช่วงที่มีการย้ายเมืองสังขละทำให้วัดแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปโดยปริยาย วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาริมเขื่อน ซึ่งจะต้องเดินบันใดเป็นระยะประมาณ 90 เมตรเพื่อเข้าชม ภายในวัดมีพระพุทธชินราชองค์ที่ 17 ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ประดิษฐานอยู่
ภายในโบสถ์ของวัดสมเด็จ (เก่า)
ส่วนวัดศรีสุวรรณเก่า เป็นวัดของชาวกะเหรี่ยง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดา 3 วัด และจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาในช่วงเดือน มีนา-พฤษภาคมของทุกปี แต่รอบที่ได้ไปเป็นเดือนธันวา วัดก็จมน้ำสมชื่อเลย แต่อย่างน้อยก็ยังได้บรรยากาศพระอาทิตย์ตกริมน้ำไปแก้เซ็งได้อยู่
วัดศรีสุวรรณ (ที่จมน้ำอยู่จริงๆ) กับพระอาทิตย์ตกแบบฟ้าฝนเป็นใจ (มืดมัวมาก)
3. ถ้าไม่กินก็มาไม่ถึงสังขละ กับ ‘หมูจุ่มพม่า’ และ ‘โจ๊กนั่งยอง’
อาหารท้องถิ่นของที่นี่มีหน้าตาที่พวกเราอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก แต่ถ้าไปถามชาวมอญหรือชาวพม่า จะรู้จักกันดี หมูจุ่มพม่า มีอีกชื่อว่า "อ๊ต โท โด๊ต โด (Oat Thar Doat Doo)" เป็นจิ้มจุ่มหม้อไฟชนิดหนึ่งที่ใช้หมูเกือบทุกส่วน ทั้งเครื่องใน ตับ หัวใจ สันนอก สามชั้น มาหั่นเต๋าและเสียบไม้ จากนั้นนำไปแช่ในน้ำซุปสีแดงสด (ซึ่งน่าจะประกอบด้วยเครื่องเทศหลายชนิด)
พอใครจะกินก็หยิบไม้ขึ้นมาจุ่มน้ำจิ้ม แนมเครื่องเคียงพริกกระเทียมเล็กน้อยก่อนเอาเข้าปาก รสชาติทานง่าย แต่สำหรับเราที่เป็นคนไม่ชอบเครื่องในก็จะทำใจยากนิดนึง น้ำซุปรสออกหวาน มีเผ็ดนิดๆ โดยรวมแล้วถือว่ากลมกล่อม ส่วนราคานั้นบอกเลยว่าเบาๆ ตกไม้ละบาท สามารถหาทานได้ตามตลาด/ถนนคนเดินเมืองสังขละได้เลย
หมูจุ่มพม่า อร่อยจนลืมถ่ายรูป (ที่มาภาพ: K-Photon)
อีกร้านนึงที่มาสังขละบุรีแล้วไม่กินไม่ได้เลยก็คือ ‘โจ๊กนั่งยอง’ ร้านอาหารเช้าริมสะพานมอญที่ ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและชาวบ้านเป็นอย่างมาก และมากเป็นพิเศษในช่วงเช้าของทุกวัน จุดเด่นของร้านนี้คือเก้าอี้ที่นั่งจะเตี้ยเป็นพิเศษ เวลานั่งกินเลยเหมือนนั่งยองๆ ซึ่งกลายเป็น signature ของร้านไปโดยปริยาย โดยรวมร้านนี้อาหารอร่อย ราคาย่อมเยา (โจ๊กหมูใส่ไข่ชามละ 35 บาท)
นอกจากนั้นก็ยังมีปาท่องโก๋ โรตีโอ่ง เครื่องดื่มต่างๆ เช่น โอวัลติน กาแฟ รวมถึง ชาพม่า ให้ได้ลิ้มลองกัน ส่วนตัวชอบโจ๊กหมูพิเศษใส่ไข่ ปาท่องโก๋ และชาพม่าสุดละ โดยเฉพาะชาพม่านี่แหละที่หาทานยาก รสชาติจะเหมือนชานมทั่วไป แต่จะมีกลิ่นคล้ายๆ เครื่องเทศเบาๆ ทำให้มีความหอมแบบเฉพาะตัว
นี่ก็อร่อยจนลืมถ่ายรูปเหมือนกัน (ที่มาภาพ: ryoiireview และ Facebook โจ๊กนั่งยอง, สะพานมอญ,สังขละบุรี)
4. ด่านเจดีย์ 3 องค์
เราเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่าด่านเจดีย์อยู่ในอ.สังขละบุรี แต่ถ้าคุณลองขับรถตามทางหลวงหมายเลข 323 มาเรื่อยๆ คุณจะพบกับปลายทางที่มีเจดีย์เล็กๆ สีขาว 3 องค์ ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า ซึ่งที่นี่คือด่านเจดีย์ 3 องค์ ที่เรารู้จักกันดี
ด่านเจดีย์ 3 องค์ มาถ่ายรูป ช็อปปิ้ง แก้เซ็ง
มีตำนานเล่าว่า สถานที่แห่งนี้เคยมีพระสงฆ์ชาวอินเดียได้ผ่านแดนมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในไทย และเป็นบริเวณที่กองทัพพม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองไทยเป็นครั้งแรก ก่อนจะเคลื่อนทัพไปยังอยุธยา ส่วนเจดีย์เดิมทีเป็นเพียงแค่ก้อนหินเล็กๆ 3 ก้อนที่ชาวบ้านใช้สักการะก่อนข้ามพรมแดนไปยังพม่า ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2472 มีการสร้างเป็นเจดีย์สีขาวขึ้นมาแทน และกลายเป็น 1 ในจุดผ่านชายแดนสำคัญของไทย-พม่า และเป็นจุดที่มีการค้าขายสิ่งของต่างๆ ในราคาย่อมเยา
หากข้ามไปในฝั่งพม่าจะเป็นเมืองพะย่าโต้นซู ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ เช่น ตลาดพญาตองซู วัดเสาร้อยต้น และวัดเจดีย์ทอง การข้ามแดนไปยังประเทศพม่านั้นใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็เพียงพอ แต่ไม่สามารถอยู่ค้างคืนได้ และต้องกลับมาไทยภายใน 18:00 น. ก่อนด่านปิดทำการ
ตอนแรกที่ไปถึงมีแพลนว่าจะข้ามชายแดนไปพม่า แต่ด้วยสถานการณ์ในประเทศเค้ายังไม่สงบ ทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปิดชายแดนชั่วคราว และทำให้เราต้องเดินซื้อของที่ด่านแทน อดเที่ยวแต่ได้ของราคาถูกติดมือกลับบ้าน ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรกลับไปเลย ส่วนใครที่เคยข้ามไปเที่ยวมาแล้วก็มารีวิวให้เราฟังได้นะ :)
ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยของสังขละบุรีเท่านั้น และเป็นตัวอย่างของความ unseen ในเมืองกาญ หากเราพิจารณาดูแล้วจะพบว่า อำเภอสังขละบุรีเป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นศูนย์รวมวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของคน 3 ชนชาติ ซึ่งนี่คือ 1 ในเสน่ห์ของกาญจนบุรี เป็นเสน่ห์ของความสโลว์ไลฟ์ เสน่ห์ของความหลากหลายของวัฒนธรรม และเสน่ห์ของคำว่า unseen ที่ต้องมาสัมผัสด้วยตัวของคุณเองสักครั้งในชีวิต
ผู้เขียน: MP.K. (เจ้าเก่าเจ้าเดิมกับที่ขายชาในเพจนี้แหละ)
โฆษณา