10 ก.ค. 2023 เวลา 06:59 • การศึกษา

การสะท้อนอารมณ์เป็นเรื่องจำเป็น

กุญแจในการดูแลเด็กปฐมวัยให้บรรลุ EF ได้ สิ่งสำคัญลำดับต้นๆในใจครูคือการ #สะท้อนอารมณ์ ที่หลายคนอาจมองว่าหยุมหยิม ไร้สาระ เว่อวัง แต่สำหรับโรงเรียนเรา(และอีกหลายโรง)นับเป็นเรื่องสำคัญ สำคัญจนอยากชวนผู้ปกครองฝึกทำ แรกๆอาจจะตะขิดตะขวงใจบ้างแต่พอทำซ้ำๆจนชำนาญเราจะทำได้เป็นธรรมชาติมากค่ะ
1. ทำไมต้องสะท้อนอารมณ์?
การสะท้อนอารมณ์เปรียบเสมือนการชวนตั้งสติ ให้เด็กได้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน และค่อยๆเรียนรู้ที่จะจัดการมัน เช่น เด็กจะเห็นว่าเวลาที่โกรธ ตัวโกรธจะค่อยๆลดลงตามเวลาและหายไปในที่สุด แต่หากไม่มีคนสะท้อน เด็กจะสะสมความคับข้องใจไว้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมแปลกๆที่เราอาจหนักอกหนักใจกัน
2. แล้วถ้าไม่สะท้อนอารมณ์?
ผู้ปกครองเคยเห็นคนที่โกรธรุนแรง หรือเพื่อนที่ขี้งอน หึงหวง ขี้น้อยใจ อิจฉาให้ร้ายคนอื่นจนกระทบกับการเข้าสังคมไหมคะ นั่นเพราะเขาไม่เคยมองเห็นอารมณ์ตนเอง จึงไม่รู้ว่าที่เขาแสดงออกมามันรุนแรงแค่ไหน น่ารังเกียจเพียงใด สำคัญที่สุดเลยคือเขาจะหาความร่มเย็นภายในใจไม่พบเลยหรืออาจจะไปพบเมื่ออายุล่วงเลยเข้าบั้นปลายเสียแล้ว มีผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่มีความสุข เครียดไม่รู้ตัว เรียนคอร์ส self awareness แค่ไหนก็ยังไม่พอ ต้องไปพบจิตแพทย์
หรือผู้ใหญ่ที่อยากพัฒนายกระดับจิตใจตนเอง อยากมีความสุขขึ้น ไม่ว่าทางใดเราก็ต้องกลับมาเริ่มที่การสะท้อนอารมณ์อยู่ดี
💁🏻‍♀️ ครูเชื่อว่าหลายคนลืมตระหนักไปว่า "อารมณ์คือความรับผิดชอบส่วนบุคคล" เมื่อเด็กรู้สึกงอน เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการความรู้สึกตัวเอง อาจจะเดินไปถามเพื่อนเลยว่า "เมื่อกี้ที่พูดว่าจะเล่นกับน้องเอคนเดียว เราเสียใจนะ"
แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการฝึกฝนแล้วแสดงออกด้วยวิธีไม่เหมาะสม รอคอยให้คนอื่นมาง้อและเข้าใจตนเองเพราะเราสำคัญสุด ทำไมถึงไม่รู้ล่ะว่าเราเสียใจ (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) หรืออาจไปจัดการคนอื่น จัดการเพื่อนว่าอย่าไปเล่นกับคนนี้นะ การเข้าสังคมก็จะถดถอย ซับซ้อน กลายเป็นคนเรื่องมาก ดราม่า น่ารำคาญในสายตาเพื่อนๆ ไม่มีเด็กคนไหนชอบเพื่อนที่ขี้ฟ้อง จุ้นจ้าน หรือดราม่าหรอกค่ะ
ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่ทันอารมณ์เด็ก พอรู้ตัวอีกทีเด็กน้อยในวันวานที่น่ารักของเราได้กลายร่างเป็นเด็กดื้อ งอแง ไม่น่ารักไปเสียแล้ว แต่ครูอยากบอกว่าไม่มีพฤติกรรมใดไร้ที่มา การสังเกตและสะท้อนอารมณ์ให้ทันท่วงทีจึงสำคัญมาก อย่าปล่อยไว้จนเด็กเสีย self
3. วิธีสะท้อนอารมณ์
• เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้แสดงความเข้าใจและบอกชื่ออารมณ์ออกมาชัดเจน เช่น
"แม่เข้าใจว่าหนูกำลังโกรธ หนูก็เลยตะโกน"
"แม่เข้าใจว่าหนูกำลังอิจฉาที่แม่อุ้มน้องแต่ให้หนูเดินเอง"
"หนูลงไปนอนกลางห้างแบบนี้ แม่รู้ว่าหนูอยากให้แม่สนใจหนูบ้าง"(อ่อนโยนแต่ไม่ใจอ่อน ถ้าแม่จะไม่ซื้อของให้ก็คือไม่ซื้อ รอให้ลุกขึ้นมาเองก็ไม่ขัดหลัก)
รวมไปถึงอารมณ์ตื่นเต้นเกินไป ดีใจเกินไป มีความสุขมากไปจนล้น อารมณ์ที่"เกินพอดี" นั้น สามารถสะท้อนได้หมดเลย
• เมื่อเด็กสงบและพร้อมจะพูดคุย ลองชวนเขาคิดวิธีแสดงออกอย่างเหมาะสม แต่จะไม่ห้ามความรู้สึกของเขา เช่น
"ครั้งหน้าถ้าอิจฉาน้อง คิดว่าแม่รักน้องมากกว่า รู้สึกเมื่อไหร่ให้มาบอกแม่เลยนะแล้วแม่จะกอด เพราะแม่รักหนูจริงๆ"
"ครั้งหน้าถ้าเพื่อนบอกไม่รักแล้วน้อยใจ ให้มาหาครูเลยนะแล้วครูจะบอกว่ามีอีกกี่คนที่รักหนู"
"ครั้งหน้าถ้าอยากให้แม่สนใจหนู ถามแม่เลยว่ารักหนูไหม แม่จะบอกชัดๆว่ารักแค่ไหน"
เน่ามาก แต่เด็กชอบมาก
• เราสามารถสะท้อนอารมณ์เมื่อไปพบเจอเหตุการณ์ในชีวิตได้ด้วย เช่น ออกไปนอกบ้านแล้วเจอคนทะเลาะกัน หรือมีคนทำผิดต่อลูกเรา เช่น โดนแซงคิว ฯลฯ เราสามารถชวนคุยได้ว่า "เมื่อกี้ที่เห็นคนทะเลาะกัน หนูคงตกใจใช่ไหม หนูเห็นแล้วรู้สึกยังไงบ้าง" "ที่คุณลุงเขาแซงคิวหนู หนูรู้สึกยังไง" หากลูกไม่เล่า เราสามารถบอกความเห็นของเราได้ "ถ้าเป็นแม่คงไม่พอใจมาก" เป็นต้น แบบนี้เรียก dialogue เราไม่ตัดสินใครแต่ชวนลูกคุยกัน ลูกจะได้เรียนรู้ความคิดของผู้คนที่แตกต่างอย่างเข้าใจไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ขุ่นเคืองด้วย
ผู้ปกครองไม่ควรนำเอาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาล้อเล่น แหย่ให้เด็กกระฟัดกระเฟียด หรือแหย่ให้เขาเสียความมั่นใจมากขึ้น รวมไปถึงไม่เอามาล้อเป็นเรื่องขบขัน ครูเคยเจอคนแซวเด็กว่า "แม่ลืมมารับแล้วม้าง ป่านนี้ไม่ได้กลับบ้านหรอก" พอเด็กทำหน้าเบ้ก็ยิ่งล้อ แบบนี้ไม่เอานะคะ
หากเราสะท้อนอารมณ์กับเขาสม่ำเสมอ เขาจะเริ่มจำเป็นแนวคิด สะสมประสบการณ์แล้วต่อไปไม่มีเรา เขาก็จะบอกตัวเองว่า "ตอนนี้หนูโกรธมาก แต่หนูจะไม่ตีหรอกนะ หนูโกรธมาก แต่หนูตีคนอื่นไม่ได้ หนูจะหาทางอื่น" "ตอนนี้เรากำลังน้อยใจแม่ แม่รักเรามั้ยนะ งั้นถามแม่เลยดีกว่าจะได้หาย"
ฝรั่งไม่มีคำว่าเกรงใจ ขี้งอน ขี้น้อยใจ ขี้หึง เพราะเขาอนุญาตให้เด็กรู้สึกเชิงลบได้และให้โอกาสฝึกจัดการมันได้ ชาวตะวันตกมีคำพูดเชิงบวกให้กำลังใจกันมากกว่าเรา ไม่มีใครทัก "อ้วนจังไปทำอะไรมา" และเขาไวกับความรู้สึกเด็กมากๆ
แต่ไม่ได้แปลว่าเราฝึกไม่ได้!! เริ่มเลยค่ะ เพื่อสุขภาพจิตที่ดีตั้งแต่ปฐมวัย
#บันทึกครูมอนเตสซอรี
#montessoriguidesdiary
โฆษณา