4 ส.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

สองคนใจใหญ่

สองสามวันนี้ เขียนเรื่องการทำดีอันยิ่งใหญ่ที่คนหลายคนไม่เชื่อว่าเป็นจริง เห็นว่าเป็นการสร้างภาพ ประมาณว่า "It is too good to be true."
วันนี้ขอเล่าเรื่องสองเรื่องที่เข้าข่ายเดียวกัน เป็นเรื่องของคนสองคนที่ชาวโลกอาจไม่รู้จัก เพราะเป็นสองคนที่ปิดทองหลังพระโดยไม่หวังผลตอบแทน
โปลิโอเป็นโรคร้ายเกิดจากไวรัส ในอดีตโรคนี้คร่าชีวิตมนุษย์มากมายไม่ต่างจากโรคระบาด เฉพาะปี 1952 ปีเดียว ชาวอเมริกันตายไปสามพันกว่าคน อีกสองหมื่นกว่าคนพิการตลอดชีวิต
1
นักไวรัสวิทยาชาวอเมริกัน โจนาส ซอล์ค (Jonas Salk 1914–1995) พยายามคิดค้นวัคซีน เขาเป็นหัวหอกโครงการคิดค้นวัคซีน มันเป็นโครงการยักษ์ในยุคนั้น ใช้หมอและบุคลากรทางการแพทย์สองหมื่นคน เจ้าหน้าที่ 64,000 คน อาสาสมัคร 220,000 คน
มันเป็นโครงการใหญ่ประหนึ่งโครงการแมนฮัตตันทางการแพทย์ (โครงการแมนฮัตตันคือการระดมคนมาสร้างระเบิดปรมาณู)
โครงการประสบผลสำเร็จในวันที่ 12 เมษายน 1955 วันนั้นแทบถือว่าเป็นวันชาติของสหรัฐฯ
ทำวัคซีนโปลิโอสำเร็จ ก็ต้องจำหน่าย คำถามคือจะตั้งราคาวัคซีนโปลิโอเท่าไร?
ตามหลักการก็ต้องตั้งราคายาวิเศษให้สูงที่สุด เพื่อกำไรสูงสุด และถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
แต่ผู้ประดิษฐ์ยาให้ฟรี
มีคนถาม โจนาส ซอล์ค ว่า “ตกลงใครเป็นเจ้าของสิทธิบัตรวัคซีน?”
ซอล์คตอบว่า “ประชาชน”
เขาบอกว่า “มันไม่มีสิทธิบัตรครับ คุณสามารถมีสิทธิบัตรดวงอาทิตย์หรือ?” (There is no patent. Could you patent the sun?)
เบาหวานเป็นอีกโรคหนึ่งที่รังควานมนุษย์มาหลายพันปี และจะคงอยู่กับโลกอีกนาน
เซอร์ เฟรเดอริค แกรนท์ แบนติง (Sir Frederick Grant Banting 1891–1941) เป็นแพทย์ชาวแคนาดา มองเห็นปัญหาของโรคนี้และคิดหายารักษามาตลอด
เวลานั้นในวงการแพทย์มีข้อสมมุติฐานว่า ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งเรียกว่า อินซูลิน คุมการเผาผลาญน้ำตาล มันน่าจะเป็นคำตอบ ทว่าการสกัดอินซูลินจากตับอ่อนล้มเหลวไม่เป็นท่า
จนกระทั่งในปี 1920 แบนติงเกิดไอเดียใหม่ในการสกัดอินซูลินก่อนที่มันจะถูกทำลาย มันเป็นนวัตกรรมที่ซับซ้อน แบนติงร่วมมือกับ ชาร์ลส์ เบสต์ และนักเคมี ทดลอง ทดลอง และทดลอง จนในที่สุดโครงการก็ประสบความสำเร็จ
แบนติงกับเบสต์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ แบนติงเป็นนักวิทยาศาสตร์อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบล คือแค่ 32 ปี
เช่นกัน เมื่อผลิตอินซูลินสำเร็จ ก็ต้องจำหน่าย คำถามคือจะตั้งราคาเท่าไร? และใครเป็นเจ้าของสิทธิบัตร?
โดยหลักการก็ย่อมเป็นแบนติง แต่แบนติงขายสิทธิบัตรอินซูลินให้มหาวิทยาลัยโทรอนโตเป็นเงินแค่ 1 เหรียญ แล้วบอกว่า “อินซูลินไม่ใช่ของผม มันเป็นของโลก” (Insulin does not belong to me, it belongs to the world.) เพื่อให้ยาเข้าถึงคนทั้งโลกอย่างง่ายและถูก ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน
1
โลกงดงามเพราะยังมีคนใจใหญ่ที่คิดดีและทำดีเพื่อคนอื่น
และการทำดีแบบนี้ คนใจเล็กและมองโลกในแง่ร้ายไม่มีทางเข้าใจ
1
โฆษณา