14 ก.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ไหวไหม ? หนี้ครัวเรือนไทยสูงกว่า 90%

ค่าใช้จ่ายของคนไทยในแต่ละครัวเรือน เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน หมายความว่า หากครอบครัวหาเงินเข้าบ้านได้น้อยกว่านั้น ก็อาจจะใช้ชีวิตได้อย่างลำบาก หรือหากมีเหตุจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิต เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์
แต่รายได้ไม่เพียงพอ ก็เป็นเหตุให้หลายคนเลือกช่องทางอื่นเพื่อให้ได้เงินมาก่อน โดยวิธีที่เป็นที่นิยม จะประกอบด้วยการกู้ผ่านสถาบันการเงิน หรือการทำบัตรเครดิต อย่างไรก็ดี หากครบกำหนดแล้วมีเงินจ่ายก็ไม่น่ากังวล แต่หากไม่มีหรือจ่ายได้ช้า ก็จะเกิดเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ซึ่งอาจกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เหล่านี้นับว่าเป็นหนี้ครัวเรือนที่สะท้อนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย
💸 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน
ในช่วงเศรษฐกิจและสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในปริมาณคงที่ ต่อมาช่วง 2562 ไตรมาส 4 ครัวเรือนเริ่มมีการก่อหนี้ใหม่ จนกระทั่งปริมาณหนี้ต่อ GDP ปรับขึ้นสูงอยู่ที่ 94.7% ในช่วงปี 2564 ไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวจากผลกระทบของโควิด จนกระทั่งในปัจจุบัน ปี 2566 ไตรมาส 1
หนี้ครัวเรือนหลังปรับปรุงข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้ 4 กลุ่ม (กยศ. สหกรณ์อื่น ๆ การเคหะแห่งชาติ และ พิโกไฟแนนซ์) อยู่ที่ 90.6% ต่อ GDP อย่างไรก็ดี ตัวเลขล่าสุดพบว่าหนี้ครัวเรือนได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดช่วงปี 2565 ไตรมาส 4 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
💸 สัดส่วนเงินให้กู้ยืมจากสถาบันการเงิน
สัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนมาจากสถาบันรับฝากเงินเป็นหลัก จะเห็นว่าแนวโน้มปริมาณเงินให้กู้เพิ่มขึ้นทุกไตรมาสเฉลี่ย 0.15 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่ปริมาณหนี้เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนเงินให้กู้ยืมทั้งจากสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น ปี 2563 ไตรมาส 4 เพิ่มสัดส่วนเงินขึ้นมา 0.26 ล้านล้านบาท
และในช่วงปี 2565 ไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นเป็น 0.24 ล้านล้านบาท และในช่วงปี 2566 ไตรมาส 1 หลังหนี้ครัวเรือนทยอยปรับลด สัดส่วนเงินให้กู้ยืมจึงลดลงมาเหลือ 0.08 ล้านล้านบาท สะท้อนถึงปริมาณหนี้เสียที่จะลดลงไปด้วย
💸 คนไทยกู้ยืมเงินไปทำอะไร
จำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วไม่ใช่หนี้ที่เกิดใหม่นั้น พบว่าสัดส่วนหนี้ในปี 2566 ไตรมาส 1 ส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มากที่สุด 34% รองลงมา เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เช่น ค่าบัตรเครดิต 27% ถัดมาเป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ 18% ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ 11% และสุดท้ายเป็นหนี้เพื่อการศึกษา 4% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี จำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นหลังปรับปรุงมีโครงสร้างสัดส่วนตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมไม่แตกต่างไปจากข้อมูลก่อนปรังปรุง
💸 สรุปสถานการณ์หนี้ครัวเรือน
กล่าวโดยสรุป ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาส่งผลให้รายได้คนในประเทศลดลงไปมาก แต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งอัตราส่วนเงินกองทุนเพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ในระดับที่สูง และรัฐบาลมีนโยบายในการแจกจ่ายเงินผ่านแอพลิเคชันให้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ดี
หากประเทศไทยยังคงสภาวะหนี้ครัวเรือนในปริมาณที่สูง จากการที่กำลังเผชิญปัญหาหนี้นอกระบบ หรือหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การนำเอาหนี้ของประชาชนมาแบกรับเป็นหนี้ของรัฐบาลอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาคอื่นโดยรวมอย่างหนัก
ดังนั้น หากสามารถทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาได้ ก็จะสามารถช่วยสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้ความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ให้หมดไปได้
ผู้เขียน : ธนัชญา ปิยวรไพบูลย์, Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Source : ธนาคารแห่งประเทศไทย
โฆษณา