15 ก.ค. 2023 เวลา 08:26 • ความคิดเห็น
"สุข" คือภาษาบาลี โดยมาก ภาษาบาลีเมื่อมี "สุ" อยู่ข้างหน้า ก็มักจะดีด้วยกันทั้งนั้นนั่นแหละ ดูอย่างคำว่า "สุรา" ซี ดีมั้ยเหล่า ไม่ดีก็ไม่เมาหรอก ดังนั้น "สุข(ะ)" ก็คงจะคล้ายๆ กะ "สูรา" แหละ เป็นของเหลวๆ เมื่อกรึ๊บเข้าไปแล้ว ก็รู้สึกตัวรอยไปเลย
แต่สุรานั้นถึงจะดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ดีก็ต้องมีแกล้มกับ สุขเองก็ต้องมีกับแกล้มตามไปด้วย "กินลมชมวิว" ก็เป็นกับแกล้มของสุขได้เหมือนกัน หรือจะกินแค่ "อรรถรสวรรณกรรม" ก็เป็นกับแกล้มสุขได้เหมือนกัน แต่ถ้าได้กิน.... ก็อย่างว่า เขาว่านั่นคือสุขที่สุดสำหรับมนุษย์
แต่ใดๆ ก็ตามต้องไม่ลืมว่า จะกินเหล้าทุ้งทีมันต้องมีเพื่อนดื่ม กินคนเดียวกล่อยตายเลย แต่ก็คงจะแล้วแต่รสนิยมทางสุราของใครของมันแหละ ดังนั้นสุขเองโดยมากก็ต้องมี "เพื่อนร่วมสุข" เพื่อที่บางทีเมื่อถึงคราวทุกข์ เพียงมีเพื่อน "ร่วมสุขร่วมทุกข" ก็พอทนทุกข์ผ่านไปได้
แต่! สุรานั้นกินนานๆ ก็มักจะติด ติดแล้วก็ต้องกินเรื่อยๆ กินเรื่อยๆ แล้วก็ต้องกินมากๆ เพราะถ้ากินไม่มากก็จะไม่ถึง (เป็นเหตุให้เปลืองสตังค์ขึ้นไปอีก เว้นซะแต่ "เพื่อนร่วมสุข" จะเป็นคนเลี้ยง) ปรัชญาอย่างหนึ่งของคนที่จะกินเหล้าให้อร่อยคือ "อย่ากินบ่อยนัก" สุขก็เหมือนๆ กัน หากสุขบ่อยๆ สุขนั้นก็จะน้อยลง เมื่อน้อยลงก็อยากให้มันเพิ่มขึ้น ก็ต้องขวนขวายหาสุขให้มากขึ้น จากสุขอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นทุกข์เสียได้! จะไว้ไปแล้วคนเราก็ซื่อบื่ออยู่เหมือนกันในบางที
เมื่อติดสุรามากๆ เข้า จะออกสุราก็ออกยาก เมื่อติดสุขมากๆ เข้า จะออกสุขก็ออกอยากด้วยเหมือนกัน (ไม่เหมือนกันก็ตรงไม่ยักมีใครจะอยากออกสุขนี่แหละ ไม่เชื่อก็ดูเอาสิ จะเก้าปีสิบปีแล้วยังไม่อยากออกเลย) จะหักดิบเสียก็กลัวลงแดงกันจะตาย จะให้ปล่อยทีละน้อยๆ ก็เสียดาย เหมือนพระท่านว่า จะตายแล้วก็ยัง กำๆๆ กำไม่แบ
สุข คืออีกด้านของทุกข์ เมื่อทุกข์ถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุข เมื่อสุขถึงที่สุดแล้วก็เป็นทุกข์ เหมือนกระสวยของช่างทอผ้า ซัดกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ผู้ใดละทั้งสุขและทุกข์อันนี้ได้ ผู้นั้นประเสริฐนัก
เหมือนคนติดสุราแล้วพ้นจากเงื้อมือของสุราเสียได้ ถึงใครๆ ไม่สรรเสริญ เขาก็ยังได้รับสุขภาพดี (หรือต้องเรียกว่า "หนีสุข ปะสุข" ละมั้ง!)
โฆษณา