20 ก.ค. 2023 เวลา 13:52 • ธุรกิจ

ยิ่งเก็บ ยิ่งมีค่า ไม่ต่างจาก "ทองคำสีดำ"

เผยความลับที่มา "แท่งหมึกซูมิ" แท่งหมึกขนาด 2 ขีด แต่ราคาสูงถึง 70,000 บาท
นอกจากกระเพาะปลา นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือรถโบราณ จะเป็นของสะสมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา เพราะความหายากและคนถวิลหา หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า แท่งหมึกสำหรับใช้เขียนภาพพู่กันคุณภาพดีก็มีราคาและเป็นของสะสมล้ำค่าเช่นกัน โดยเฉพาะแท่งหมึกจากประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ‘ซูมิ’
ใครไม่รู้จัก หรือนึกภาพแท่งหมึกไม่ออก ให้ลองนึกถึง ‘ทองคำแท่ง’ แต่เป็นสีดำ โดยความพิเศษของ ‘แท่งหมึกซูมิ’ (Sumi ink) คือ เมื่อนำไปบดและละลายน้ำ จะกลายเป็นน้ำหมึกคุณภาพดี ผลิตตามกรรมวิธีโบราณอายุหลายร้อยปี และมีราคาสูง ขนาด 200 กรัม ราคาแท่งละ 1,000 - 2,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 34,000 - 70,000 บาท) และหากเก็บไปนาน ๆ ราคาจะยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
1
ซูซูมุ ทาเคซุมิ (Susumu Takesumi) หัวหน้าฝ่ายขายของ ‘โคไบเอ็น’ (Kobaien) หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตแท่งหมึกซูมิ กล่าวเปรียบเปรยสินค้าชนิดนี้ว่าเหมือนชีวิตของมนุษย์คนเรา “ยิ่งอายุยืนยาวเท่าไรยิ่งดี”
“ผมเคยเห็นแท่งหมึกของจีน และญี่ปุ่นที่เก่าแก่มาก ๆ วางขายในร้านเฉพาะทางบางร้าน มีราคาสูงถึง 1 - 2 ล้านเยน (250,000 - 500,000 บาท) เลยทีเดียว”
สาเหตุที่ทำให้แท่งหมึกชนิดนี้อาจมีราคาแพงได้ถึงครึ่งล้านบาทมาจากหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน แต่ละแท่งต้องใช้เวลาทำอย่างน้อย 4 ปี นอกจากนี้ยังอาศัยช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและความวิจิตรงดงามเพิ่มมากขึ้น
#สามส่วนประกอบสำคัญของแท่งหมึก
โคไบเอ็น หนึ่งในผู้ผลิตแท่งหมึกซูมิในจังหวัดนาระ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยเคล็ดลับการผลิตแท่งหมึกคุณภาพสูงนี้ ซึ่งใช้กรรมวิธีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 450 ปี ว่ามีส่วนประกอบสำคัญแค่ 3 อย่าง คือ เขม่าน้ำมัน กาวหนังสัตว์ และเครื่องหอม แต่สิ่งที่ทำให้มันแพง คือ คุณภาพของวัตถุดิบ รวมถึงเทคนิคการทำที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความประณีตทุกขั้นตอน
วิธีการผลิตจะเริ่มต้นในห้องสี่เหลี่ยมมืด ๆ ที่มีตะเกียงน้ำมันจุดตั้งเรียงรายรอบห้องเป็นชั้น ๆ รวมกันห้องละ 100 ดวง โคบาเอ็นมีห้องตะเกียงน้ำมันลักษณะนี้ทั้งหมด 4 ห้อง ใช้คนดูแล 2 คน ๆ ละ 2 ห้อง หรือคิดเป็นตะเกียงที่ต้องสอดส่องคนละ 200 ดวง
หน้าที่ของพวกเขา คือ การเฝ้าเติมน้ำมันพืชลงไปในตะเกียงแต่ละดวงไม่ให้แห้ง และค่อย ๆ ทยอยเก็บเขม่าที่เกาะอยู่ตามใต้ฝาของตะเกียง ซึ่งช่างจะนำมาบังไว้ด้านบนเปลวไฟของตะเกียงแต่ละดวง
1
ฟังแค่นี้อาจดูไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความยาก คือ การคอยใส่ใจไม่ปล่อยให้ฝาครอบตะเกียงอยู่ในตำแหน่งเดิมนานเกินไปหลายชั่วโมง เพราะหากปล่อยไว้เช่นนั้น จะทำให้ฝาร้อนเกินไปและไม่มีเขม่าควันมาเกาะ
1
ดังนั้น ผู้ดูแลจึงต้องหมั่นปรับหมุนตำแหน่งฝาทุก ๆ 20 นาที ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมง และอย่าให้เปลวไฟมาอยู่ตรงกึ่งกลางฝา เมื่อครบ 2 ชั่วโมงแล้วจึงนำฝามาขูดเอาเขม่า เปลี่ยนน้ำมัน และเริ่มกระบวนการเดียวกันใหม่วนไปเรื่อย ๆ ภายใน 1 วัน จะทำซ้ำอย่างนี้ตะเกียงละ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้เขม่าที่เพียงพอ
น้ำมันพืชที่ใช้ผลิตเขม่าส่วนใหญ่มาจากผักกาดก้านขาว (rapeseed) หรือน้ำมันคาโนลา (Canola oil) นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันพืชชนิดอื่นที่ทำให้หมึกมีราคาสูงขึ้น เช่น เพาโลเนีย (paulownia) คามิเลีย (camellia) และงา (saseme) หากใช้น้ำมันพืชเหล่านี้อาจทำให้แท่งหมึกมีราคาสูงกว่าเดิมได้ถึง 4 เท่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ให้ต้องคำนึงด้วย เช่น ตัวตะเกียงใส่น้ำมัน และวัสดุที่ใช้ทำไส้ตะเกียง เพื่อให้แน่ใจว่า เขม่าที่ได้มาจะมีคุณภาพ พวกเขาเลือกใช้ตัวตะเกียงที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาไม่มีรูพรุน และถักทอไส้ตะเกียงขึ้นมาเองเพื่อให้ได้ขนาดและความยาวตามต้องการ
ผู้บริหารโคไบเอ็น กล่าวว่า วิธีเก็บเขม่าจากตะเกียงดวงเล็ก ๆ และการใช้ไส้ตะเกียงที่ละเมียดเป็นธรรมชาติ จะทำให้ได้เขม่ามาทำเป็นหมึกที่มีความละเอียด และแทรกซึมลงไปในเนื้อกระดาษได้ดีขึ้นเมื่อนำไปเขียนด้วยพู่กัน
กระบวนการที่พิถีพิถันนี้จะทำให้หมึก ‘ซูมิ’ (Sumi ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘หมึก’ ตรงตัว) มีเนื้อสีละเอียดและคมชัดกว่าหมึกประเภทอื่น และทำให้งานเขียนพู่กันออกมามีความเป็น 3 มิติมากขึ้น
#เพิ่มมูลค่าด้วยกาวหนังสัตว์และกลิ่น
นอกจากความแตกต่างของราคาจะอยู่ที่คุณภาพของเขม่าแล้ว กาวที่ใช้เป็นตัวประสานผงเขม่าเข้าด้วยกันก็มีความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนลงไป
แท่งหมึกซูมิ แตกต่างจากน้ำหมึกยุคใหม่ที่วางขายส่วนใหญ่ในท้องตลาด ซึ่งมักใช้น้ำยาเคลือบเงาธรรมชาติอย่าง ‘เชลแลค’ (shellac) เป็นตัวประสาน แต่หมึกซูมิทั่วไปจะใช้กาวจากหนังวัว หรือถ้ามีราคาแพงขึ้นไป บางครั้งอาจใช้กาวจากสัตว์ชนิดอื่นมาผสมกัน เช่น หนังลา หนังกวาง และหนังแพะ
1
กาวหนังสัตว์จะช่วยเพิ่มความมันวาวและความละเอียดให้เนื้อหมึก โดยบริษัทผู้ผลิตจะสั่งซื้อกาวเหล่านี้มาจากแหล่งผลิตที่ทำขึ้นมาป้อนอุตสาหกรรมหมึกแท่งโดยเฉพาะ และจะรับมาในรูปของแผ่นกาวตากแห้ง เมื่อถึงขั้นตอนการผสมเขม่าเข้ากับกาว พวกเขาจะนำแผ่นกาวไปละลายในน้ำร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมงครึ่ง
การละลายแผ่นกาวอย่างช้า ๆ ในอุณหภูมิไม่สูงเกินไป คือ หัวใจของการผลิตหมึกที่มีคุณภาพ เพราะเมื่อศิลปินนำหมึกอัดแท่งมาบดและละลายน้ำใช้ มันจะเหนียวข้นกำลังดี และให้สีที่สวยงาม
อย่างไรก็ตาม กลิ่นของกาวหนังสัตว์มักไม่ค่อยน่าสูดดม นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ต้องเติมเครื่องหอมลงไปเป็นส่วนประกอบที่สาม เครื่องหอมที่ใช้มักเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น พิมเสน และมัสก์ โดยความหอมของมัน จะช่วยให้ศิลปินนักวาดภาพเขียนพู่กันรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์ และมีอารมณ์สร้างสรรค์งานศิลปะมากยิ่งขึ้น
#นวดและตากใช้เวลารวมกันสี่ปี
หลังนำเขม่า กาวหนังสัตว์ และเครื่องหอมมาผสมกันแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การทำให้วัตถุดิบทั้งสามจับตัวกันเป็นก้อนคล้ายดินเหนียว หรือดินน้ำมัน จากนั้นจึงนำมานวดให้ส่วนผสมทั้งสามประสานเข้าด้วยกันอย่างทั่วถึง กระบวนการนี้คล้ายการ ‘นวดแป้ง’ ทำขนมปัง ซึ่งช่างจะใช้ทั้งมือและเท้าช่วยกันนวดก้อนเขม่าที่ได้มาทุกเช้าในแต่ละวัน
ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะเมื่อนวดเสร็จ ต้องรีบตัดแบ่งเป็นก้อน ๆ นำไปชั่งน้ำหนักให้ได้ขนาดตามต้องการ และนำไปเข้าแม่พิมพ์เพื่อปั๊มออกมาเป็นแท่ง ๆ และนำไปผึ่งลมให้แห้ง
ที่บอกว่าต้องใช้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญ เพราะตั้งแต่การนวดไปจนถึงนำเข้าแม่พิมพ์ ต้องทำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว มิเช่นนั้น แท่งหมึกที่ได้มาอาจมีสีผิดเพี้ยนไม่สม่ำเสมอ หรือก้อนหมึกอาจแห้งเกินไป ทำให้เมื่อขึ้นรูปอัดแท่งออกมาแล้วไม่สวยงาม
ช่างฝีมือ 1 คน สามารถผลิตแท่งหมึกคุณภาพสูงที่มีขนาดเล็กที่สุดออกมาได้เดือนละประมาณ 6,000 แท่ง แต่กว่าจะมาเป็นช่างปั้นแท่งหมึกได้นั้น ต้องใช้เวลาฝึกฝน 5 ปี และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีก 10 ปี จึงจะได้รับอนุญาตให้ทำงานผลิตแท่งหมึกคุณภาพสูงนี้
การผลิตแท่งหมึกแต่ละปี จะใช้เวลาแค่ในช่วงเดือนตุลาคม - เมษายน ซึ่งมีอากาศเย็น ทำให้กาวจับตัวได้ดี ดังนั้น ภายใน 1 ปี โคไบเอ็นจะผลิตแท่งหมึกขนาดเล็กที่สุดออกมาได้แค่เกือบ 40,000 แท่งเท่านั้น
แต่การผลิตแท่งหมึกยังไม่จบแค่การนำเข้าแม่พิมพ์ เพราะหลังจากนั้นยังต้องนำไปทำให้แห้ง หากแห้งเร็วเกินไปจะทำให้เกิดรอยแตกร้าว และไม่สามารถนำไปขายได้ ดังนั้น ขั้นตอนนี้จึงต้องพิถีพิถันไม่แพ้กัน และกินเวลานานที่สุด
วิธีทำให้แห้งจะใช้เทคนิคโบราณ เริ่มจากการนำขี้เถ้าต้นโอ๊คมาช่วยดูดซับความชื้น โดยนำแท่งหมึกที่ได้จากแม่พิมพ์ไปใส่ไว้ในลังไม้ คลุมด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ และนำขี้เถ้าต้นโอ๊คที่มีความชื้นเล็กน้อยมาเทกลบไว้ด้านบน
ขี้เถ้าที่ใช้ต้องเปลี่ยนใหม่ทุกวัน และทำติดต่อกัน 40 วัน จนกระทั่งแท่งหมึกมีความแห้งประมาณ 70% จากนั้นจึงนำไปแขวนด้วยเชือกฟางพึ่งลมทิ้งไว้ในร่มอีก 6 เดือน จึงนำมาตกแต่งเพิ่มรายละเอียดและความสวยงาม
ช่างฝีมือของโคไบเอ็น บอกว่า การทำให้แท่งหมึกมีความสมบูรณ์และแห้งในระดับที่เหมาะสมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ยิ่งแท่งหมึกมีความแห้งและเก็บไว้นานเพียงใด คุณภาพของมันจะยิ่งเพิ่มขึ้น และมีราคาแพงขึ้นด้วย
ปัจจุบัน แท่งหมึกซูมิที่ผลิตในญี่ปุ่นมากถึง 95% มาจาก จ.นาระ โดยนอกจากแท่งหมึกที่นี่จะมีคุณภาพสูง และศิลปินนิยมนำไปใช้สร้างสรรค์งานจากปลายพู่กันอันงดงาม หลายคนยังซื้อไปเก็บสะสมประหนึ่งงานศิลปะชั้นดี เพราะกรรมวิธีการผลิตที่เก่าแก่คลาสสิก และละเมียดละไมดังที่กล่าวมา ช่วยเพิ่มคุณค่าให้น่าเก็บรักษาไม่แพ้กระเพาะปลา นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือของมีค่าอื่น ๆ เช่นกัน
เขียนโดย ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล
#aomMONEY #MoneyStorytelling #Sumi #Ink #ซูมิ #หมึก #ทองคำสีดำ #ญี่ปุ่น
โฆษณา